สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู เล่ม 1
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑ / เรื่องที่ ๓ ท้องฟ้ากลางคืน / ทรงกลมท้องฟ้า
ทรงกลมท้องฟ้า
ทรงกลมท้องฟ้า
ปรากฏการณ์ของท้องฟ้าเช่นที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ มนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ
ของโลกได้เคย สังเกตมาก่อนแล้วหลายสมัย แม้คนในสมัยโบราณจะไม่มีอุปกรณ์
เช่น กล้องถ่ายรูป แต่เขาก็มักมีเวลาว่าง และความอดทน พอที่จะเฝ้าสังเกต
และจดจำการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยของท้องฟ้าไว้ เป็นระยะเวลายาวนาน
และในที่สุดก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกับเรา
กล่าวคือ ท้องฟ้าปรากฏเสมือนทรงกลมมหึมา
ซึ่งครอบพื้นดินไว้โดยมีครึ่งซีกหนึ่งอยู่เหนือขอบฟ้า
และอีกครึ่งซีกอยู่ใต้ขอบฟ้า
ผู้สังเกตการณ์จะอยู่ที่จุดศูนย์กลางของทรงกลมนี้
ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ในที่ใดบนพื้นโลก
ในกรณีที่ผู้สังเกตการณ์เป็นเช่นนักบินอวกาศ
ที่ออกไปลอยอยู่นอกยานอวกาศห่างจากโลกออกไปไกล
เขาจะเห็นท้องฟ้ารอบตัวเขา เป็นทรงกลมใหญ่ที่ห่อหุ้มเขาอยู่โดยรอบ
และดาวต่างๆ จะปรากฏเป็นจุดสว่างติดอยู่กับผิวภายในของทรงกลมนั้น
|
 |
ในปัจจุบัน เราทราบว่า ดาวฤกษ์ต่างๆ
เป็นก้อนก๊าซทรงกลมมหึมา ซึ่งร้อนจัด กระจายกันอยู่ในเวหาอันกว้างใหญ่
บ้างก็ลอยอยู่โดดเดี่ยว
บ้างก็จับกลุ่มกัน ตั้งแต่สองดวงขึ้นไป จนถึงขึ้นเป็นกระจุก
มีสมาชิกนับหมื่นแสนอยู่ร่วมกันเป็นระบบใหญ่
โดยแรงดึงดูดต่อกันตามธรรมชาติ
ดังนั้น แนวคิดที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ท้องฟ้าเป็นทรงกลมใหญ่
และดาวฤกษ์เป็นจุดสว่างติดอยู่คงที่กับผิวภายในของทรงกลมนี้
จึงเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม
แนวคิดนี้ซึ่งได้อุบัติขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ
ก็มีประโยชน์มากมายในการศึกษาวิชาดาราศาสตร์ เพราะเป็นรากฐานของการกำหนดตำแหน่งดวงดาว ที่เราสังเกตเห็นได้บนท้องฟ้า
ในปัจจุบันแนวคิดนี้จึงยังคงใช้กันอยู่ ทรงกลมใหญ่นี้มีชื่อเรียกว่า
ทรงกลมท้องฟ้า (celestial sphere) และมีสมบัติ ดังที่เรากำหนดให้ต่อไปนี้
|
๑.
ทรงกลมท้องฟ้ามีเส้นรัศมียาวมาก ประมาณตามแบบคณิตศาสตร์ ได้ว่า รัศมีของ
ทรงกลมท้องฟ้าเป็นอินฟินิตี (infinity)
๒. ไม่ว่าผู้สังเกตการณ์จะไปอยู่ ณ ตำแหน่งใด จะเป็นที่พื้นโลก
ที่ใจกลางของโลกหรือ ในอวกาศภายนอกโลก
เขาจะรู้สึกเสมือนว่าเขายังคงอยู่ที่จุดศูนย์กลางของทรงกลม ท้องฟ้าเสมอ
๓. ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และดวงอาทิตย์ ถือว่าอยู่ที่ผิวภายในของทรงกลมนี้
สำหรับดาว เคราะห์ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์นั้น มีการเคลื่อนที่ไปบนทรงกลม
ดาวฤกษ์อาจ นับได้ว่าติดอยู่คงที่
และเคลื่อนที่ไปพร้อมกับการหมุนของทรงกลมท้องฟ้า
๔. ทรงกลมท้องฟ้าหมุนรอบตัวเองวันละรอบ ดังได้กล่าวมาแล้ว
๕. ผู้สังเกตการณ์ซึ่งอยู่คนละตำบล
ถ้าชี้หรือตั้งกล้องเล็งไปยังดาวดวงเดียวกัน แนวที่
ชี้หรือเล็งนั้นเป็นเส้นตรงที่ขนานกัน
|
๖. ระยะทางระหว่างวัตถุสองชิ้น (เช่น ดาวสองดวง) บนพื้นผิวทรงกลมท้องฟ้า
วัดโดย การวัดมุมซึ่งเส้นรัศมีจากจุดศูนย์กลาง (ตำแหน่งของผู้สังเกตการณ์)
ไปยังจุดทั้งสอง กระทำต่อกัน ตัวอย่าง เช่น ระยะระหว่างดาวดูพี (Dubhe)
กับดาวเมรัค (Merak) เท่ากับ ๕°
หรือเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ตามที่ปรากฏบนทรงกลมท้องฟ้า เท่ากับ ๑/๒ ° เป็นต้น (ดูภาพ) |
 |
|