ภาวะหัวใจวาย
ภาวะหัวใจวาย
หมายถึง
ภาวะ ซึ่งหัวใจไม่สามารถที่จะสูบฉีดเลือด
ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในภาวะนั้นๆ
ความไม่สามารถดังกล่าว ทำให้มีความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือด
ซึ่งทำให้เกิดมีอาการได้หลายประการ ภาวะหัวใจวายแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ
ภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย และภาวะหัวใจซีกขวาวาย
|
การจับชีพจรบริเวณลำคอ เพื่อบอกอัตราการเต้นของชีพจร |
ภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย
มีสาเหตุ ซึ่งพบได้บ่อยๆ ได้แก่ โรคความดันเลือดสูง
โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี เช่น หลอดเลือดแดงโคโรนารีอุดกั้น
โรคของลิ้นเอออร์ติกของหัวใจ เป็นต้น
อาการที่สำคัญของหัวใจซีกซ้ายวาย ได้แก่ อาการหายใจยาก
หรือหายใจลำบาก ซึ่งเริ่มเป็น เมื่อเวลาทำงาน
และต่อมา จะมีอาการหายใจลำบาก เมื่อเวลานอนราบ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการคั่งของหลอดเลือดในปอดมากขึ้น จะปรากฏว่า
ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก จนถึงกับต้องนั่ง
อาการจึงจะทุเลาลงได้ ในรายที่มีอาการมากขึ้น จะปรากฏว่า
ผู้ป่วยมักมีอาการไอในเวลากลางคืนเป็นพักๆ
และอาจจะดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง เช่นเดียวกัน
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากในเวลากลางคืนเป็นพักๆ
หรืออาจเรียกว่า อาการหอบหืดจากหัวใจ
|
แผนภาพแสดงการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ |
ภาวะหัวใจซีกขวาวาย
มักเกิดขึ้นตามหลังหัวใจซีกซ้ายวาย โรคของลิ้นไมทรัลของหัวใจ โรคหัวใจ
ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากโรคของปอด โรคความพิการของหัวใจแต่กำเนิดบางชนิด
และหัวใจซีกขวาวาย ภายหลังเอ็มบอลิซึมของหลอดเลือดแดงพูลโมนารี
(pulmonary) ภาวะที่มีห้องหัวใจส่วนปลายซีกขวาขยายตัวเกินปกติ
เนื่องจากโรคเรื้อรังในปอดที่มีชื่อเรียกว่า คอร์พูลโมนัล (cor pulmonale)
อาการแสดงที่สำคัญของภาวะหัวใจซีกขวาวาย ได้แก่ อาการบวม
อาการที่มีสารน้ำในช่องท้อง สารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาการแสดงตับโต
และกดเจ็บ และอาการความดันเลือดดำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณคอสูงเกินปกติ
เป็นต้น
การรักษาภาวะหัวใจวาย มีหลักการที่สำคัญ คือ
๑. ลดความต้องการของออกซิเจนของร่างกาย
เพื่อให้หัวใจทำงานน้อยลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๒. ช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น
เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากภาวะหัวใจวายโดยเร็ว
ยาที่ใช้ในการกระตุ้นหัวใจให้ทำงานดีขึ้น ได้แก่ ยาประเภทดิจิทาลิส
(digitalis) เช่น ดิจ็อกซิน (digoxin) เป็นต้น
๓. รักษาภาวะเลือด และน้ำคั่ง เพื่อลดอาการเลือดคั่งในปอด
อาการบวม
การลดภาวะเลือดคั่ง และการบวมอาจทำได้ โดยการให้ยาขับปัสสาวะ
และการจำกัดเกลือในอาหารที่กิน ในรายที่จำเป็นอาจต้องจำกัดน้ำที่ดื่มด้วย
การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ
การรักษาสาเหตุของภาวะหัวใจวาย (ถ้าทำได้) การให้ยาประเภท อะมิโนฟิลลีน
(aminofylline) อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายใจดีขึ้น
รวมทั้งอาจช่วยเป็นยาขับปัสสาวะได้ด้วย เป็นต้น
โรครูมาติกเฉียบพลัน
โรครูมาติก (rheumatic)
เฉียบพลันเป็นโรคของเนื้อเยื่อคอนเนกทิฟ
(connective tissue) ของหัวใจ ลิ้นหัวใจ และข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย |
โรคหัวใจรูมาติก
แสดงการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดการตีบของลิ้นหัวใจเอออร์ติก |
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่นอน
แต่เชื่อว่า เป็นโรค
ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อพิษภายนอกของเชื้อบัคเตรีเฮโมไลทิก
สเตร็พโทค็อกคัส (haemolytic streptococcus, Lancefield type A)
โรคนี้มักจะพบในเด็ก หรือในวัยรุ่น และเชื่อว่า ประมาณร้อยละ ๙๐
ของผู้ป่วยทั้งหมด มีอาการเกิดขึ้นระหว่างอายุ ๘-๑๕ ปี
|
โรคหัวใจรูมาติก แสดงปุ่มรูมาติกที่เกาะตามขอบลิ้นหัวใจไมทรัล |
อาการของโรครูมาติกเฉียบพลันมักตามหลังอาการเจ็บคอ
เนื่องจากเชื้อสเตร็พโทค็อกคัสประมาณ
๑-๓ สัปดาห์ โดยจะเริ่มต้นทันทีด้วยอาการไข้และเจ็บปวดตามข้อ
อาการปวดตามข้ออาจเกิดร่วมกับอาการบวมและแดง ทั้งนี้ อาจมีอาการมากกว่า ๑
อาการ และมักจะเป็นข้อใหญ่ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อศอก ข้อมือ ข้อหัวไหล่
ข้อตะโพก ข้อหัวเข่า หรือข้อเท้า
อาการปวดตามข้อดังกล่าวมักจะมีลักษณะพิเศษ
คือ มักจะปวดที่ข้อหนึ่ง แล้วเลื่อนไปยังข้ออื่น
และถือว่า เป็นลักษณะที่สำคัญอันหนึ่ง ของการวินิจฉัยโรค ข้อเล็กๆ เช่น
ข้อนิ้วมือ มักจะไม่มีอาการปวด หรืออาการอักเสบ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแสดงผื่นผิวหนังได้
ผื่นผิวหนังที่มีลักษณะตามแบบฉบับ ได้แก่ อาการผิวหนังร้อนแดง (erythema
marginatum) ซึ่งเป็นผื่นที่มีลักษณะนูน สีแดง และไม่สม่ำเสมอ
ลักษณะทางผิวหนังที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การมีปุ่มรูมาติก
ซึ่งมักจะปรากฏที่บริเวณผิวหนังที่อยู่ชิดกับกระดูก เช่น บริเวณหน้าแข็ง
ต้นแขน ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า หรือที่บริเวณหนังศีรษะ
นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะมีอาการ ซึ่งแสดงว่า
ไข้รูมาติกเฉียบพลันได้ลุกลามไปจนถึงหัวใจ
เช่น อาจจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าธรรมดา มีเสียงฟู่ที่หัวใจ
ตลอดจนหัวใจอาจจะมีขนาดโตกว่าธรรมดา
มีการอักเสบของถุงหุ้มหัวใจ และอาจจะมีอาการรุนแรงจนถึงกับหัวใจวายได้
การวินิจฉัยโรคอาศัยอาการดังกล่าวข้างต้น
แพทย์หลายคนนิยมวินิจฉัยโรค โดยอาศัยหลักเกณฑ์ของโจน (Jone's criterial)
การตรวจเลือดจะปรากฏว่า ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดมากขึ้นกว่าปกติ
เลือดจาง มีอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงเร็วกว่าปกติ
และมีไทเทอร์ต้านสเตร็พ โทไลซิน (antistreptolysin titer) สูงขึ้น
แสดงว่า ผู้ป่วยเคยมีการติดเชื้อสเตร็พโทค็อกคัสมาก่อน
และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจสนับสนุนความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น
การรักษาที่สำคัญ ได้แก่
การให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเต็มที่ร่วมกับการให้ยาประเภทซาลิซิเลต เช่น
แอสไพริน ซึ่งจะทำให้อาการไข้ และปวดตามข้อหายไป หรือดีขึ้นภายใน ๒-๓ วัน
แพทย์บางคนนิยมให้ยาประเภทคอร์ทิโคสตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน
ซึ่งเชื่อว่า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
เช่นเดียวกับการให้ยาซาลิซิเลตการรักษาอื่นๆ ได้แก่
การรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น อาการหัวใจอักเสบ
ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออาการหัวใจวายที่เกิดร่วมด้วย เป็นต้น
|
ส่วนต่างๆ ภายในหัวใจ |
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษา ได้แก่
การรักษาการติดเชื้อสเต็พโทค็อกคัสที่มีอยู่
และการป้องกัน มิให้มีการติดเชื้อสเตร็พโทค็อกคัสซ้ำอีก
โดยการให้ยาประเภทเพนิซิลลิน
การป้องกันมิให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเนื่องจากเชื้อสเตร็พโทค็อกคัส
อาจจะทำได้โดยการให้เพนิซิลเลินชนิดรับประทาน
หรือการให้เพนิซิลลินที่มีฤทธิ์นาน เช่น เบนซาทีนเพนิซิลลิน (bensathine
penicillin) โดยการฉีดเดือนละครั้ง จนกระทั่งผู้ป่วยมีอายุ ๑๘ ปี
หรืออย่างน้อย ๕ ปี ถ้าผู้ป่วยมีอาการของไข้รูมาติกเฉียบพลันภายหลังอายุ
๑๓ ปี
โรครูมาติกเรื้อรัง
โรครูมาติกเรื้อรังเป็นโรคหัวใจ
ซึ่งเกิดขึ้นจากผลของการเป็นโรครูมาติกเฉียบพลัน มักเป็นที่ลิ้นของหัวใจ
พบได้บ่อยที่ลิ้นไมทรัล ลิ้นเอออร์ติก ลิ้นไทรคิสพิด (tricuspid valve)
และลิ้นพูลโมนารี (pulmonary valve) ตามลำดับ
โดยที่ส่วนมาก มักจะมีรอยโรคที่ลิ้นของหัวใจมากกว่า ๑ แห่งขึ้นไป
อาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากความพิการของลิ้นหัวใจดังกล่าว
จึงมักจะเกิดขึ้นมา ภายหลังจากการเป็นโรครูมาติกเฉียบพลัน ๑๕-๒๐ ปี
ผู้ป่วยจึงมีอาการเริ่มต้นประมาณ ๓๐ ปี เป็นต้น
ความผิดปกติของหัวใจ ที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดอาการลิ้นหัวใจตีบ
ลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีอาการผิดปกติทั้งตีบและรั่วร่วมกัน
โรคลิ้นไมทรัลรั่ว
โรคลิ้นไมทรัลรั่วอาจเกิดขึ้น
เนื่องจากผลของโรครูมาติกเฉียบพลัน
หรืออาจเป็นผล เนื่องจากการที่มีห้องปลายหัวใจซีกซ้ายใหญ่ขึ้น
โดยสาเหตุต่างๆ เช่น สาเหตุจากโรคความดันเลือดสูง
ทำให้มีการถ่างของลิ้นไมทรัลเกิดขึ้น
ซึ่งจะมีผล ทำให้เกิดอาการรั่วขึ้นได้
โรคลิ้นไมทรัลรั่ว เนื่องจากโรครูมาติกเฉียบพลัน
มักเกิดขึ้นร่วมกับภาวะลิ้นไมทรัลตีบ ผู้ป่วยอาจมีอาการ
และอาการแสดง ของภาวะเลือดคั่งในปอด
และภาวะความดันหลอดเลือดพลูโมนารีสูงขึ้น
และโรคหัวใจวายเลือดคั่งก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
การรักษาที่สำคัญของโรคนี้ ได้แก่ การรักษาภาวะหัวใจวาย
และโรคแทรก
ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นไมทรัลตีบ
การรักษาทางศัลยกรรม ได้แก่ การใส่ลิ้นหัวใจ
โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี
โรคของหลอดเลือดแดงโคโรนารี เป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุดในระบบหัวใจ
ทั้งนี้เพราะโรคของหลอดเลือดแดงนี้ เป็นสาเหตุของการตายที่พบได้บ่อยที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยวัยกลางคน และสูงอายุ
เนื่องจากมีการตีบหรือการอุดกั้น ของหลอดเลือดแดงนี้
สาเหตุของความผิดปกติของหลอดเลือดโคโรนารีดังกล่าวยังไม่ทราบแน่นอน
แต่เชื่อว่า มีปัจจัยที่สำคัญหลายประการ
ที่ทำให้มีการตีบตันของหลอดเลือดดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีสารประเภทไขมันในเลือด เกินปกติ เช่น
ไขมันประเภทคอเลสเทอรอล (cholesterol) และไทรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
โรคความดันเลือดสูง ภาวะอ้วน หรือการไม่ออกกำลังกาย
อาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือดเลี้ยง
อาการสำคัญคือ เจ็บหรือแน่นหน้าอก หรือมีอาการปวดตื้อๆ
ที่บริเวณกลางด้านหน้าและหลังกระดูกสันอก และอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณคอ
แขนด้านซ้าย หรือทั้งสองข้าง และอาจจะปวดร้าวเลยไปจนถึงปลายนิ้วได้
อาการปวดจะมีชัดเจน เมื่อผู้ป่วยออกกำลังกาย และจะหายไปภายในเวลา ๒-๓ นาที
ถ้าผู้ป่วยพัก อาการดังกล่าวอาจจะมีได้มากขึ้น ถ้ามีอากาศเย็น
หลังกินอาหาร หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ร่วมด้วย
ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการปวดอยู่ชั่วระยะเวลาอันสั้น เช่น ๔-๕ นาที
และมักจะไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ไม่มีอาการหายใจลำบาก
หรืออาการเป็นลมร่วมด้วย
การที่เป็นเช่นนี้ เพราะกล้ามเนื้อของหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น
จากการตีบของหลอดเลือดแดงโคโรนารี
หรือเป็นเพราะว่า มีออกซิเจนในเลือดแดงน้อยเกินปกติ เช่น
ในผู้ป่วยที่มีอาการซีด การตรวจร่างกายผู้ป่วยมักไม่พบอาการแสดงผิดปกติ
นอกจากอาจพบสาเหตุของโรคโคโรนารีตีบ หรือความดันเลือดสูงเป็นต้น
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจพบว่า มีความผิดปกติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีอาการ หรือในขณะให้ผู้ป่วยออกกำลัง เป็นต้น
|