
ลักษณะแก้วหูทะลุ |
นอกจากอาการหนองไหล ยังมีแก้วหูทะลุ
ซึ่งพบได้ทุกรายโดยมีขนาดรูทะลุต่างๆ กัน และพบตรงส่วนไหนของแก้วหูก็ได้
เยื่อบุในหูชั้นกลางหนามาก อาจะมีลักษณะเป็นก้อนยื่นออกมาในหูชั้นนอก
นอกจากนี้ อาจจะพบก้อนผิวหนัง ที่งอกเข้าไปอัดแน่นในหูชั้นกลาง ซึ่งเรียกว่า
คอเลสตีอะโทมา (cholesteatoma)
การพบก้อนประเภทนี้นับว่า เป็นหูน้ำหนวกที่มีอันตรายมาก
เพราะนอกจากจะรักษาหนองไม่หายแล้ว ยังงอกเข้าไปในทุกส่วนของหูชั้นกลาง
ทำลายกระดูกนำเสียงลุกลามเข้าโพรงอากาศมาสทอยด์หลังหู
ทำลายกระดูกที่กั้นระหว่างหูกับสมอง และฝีในสมอง
ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงตายได้
คอเลสตีอะโทมาอาจทำลายกระดูกหลังหู ทำให้เป็นฝีหรือเป็นรูหลังหู
เส้นประสาทสมองที่ ๗ ซึ่งผ่านบริเวณหู อาจจะถูกกดหรือทำลาย
ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตเป็นโรคปากเบี้ยว
และถ้ามีการทำลายหูชั้นใน จะทำให้หูหนวก และเวียนศีรษะ
|
โรคหูน้ำหนวกแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ
ก. โรคหูน้ำหนวกชนิดไม่เป็นอันตราย เกิดจากแก้วหูทะลุอย่างเดียว
มีหนองไหลเป็นๆ หายๆ หูตึงไม่มาก
การรักษาทางยา จะช่วยให้หูแห้งอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
โรคนี้รักษาโดยการหยอดยา เมื่อมีหนองไหล ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู
ไม่แคะหู และล้างหู
ผู้ป่วยที่ระมัดระวังดีอาจไม่ต้องผ่าตัดปิดรูทะลุ
และไม่เกิดอันตรายตลอดชีวิต
|

อาการปากเบี้ยวจากโรคหูน้ำหนวกชนิดอันตราย |
ข. โรคหูน้ำหนวกชนิดเป็นอันตราย เกิดจากแก้วหูทะลุ
มีคอเลสตีทะโทมา และมีการอักเสบ เรื้อรังในโพรงอากาศมาทอยด์
มีน้ำหนวกไหลไม่หยุดไหลทุกวัน และมีกลิ่นเหม็นมาก ฉีดยา กินยา
หรือหยอดยาแล้วหนองก็ไม่หยุดไหล หูตึงมากน้อยแตกต่างกัน
ส่วนมากจะตึงมาก หรือหูหนวก มีอาการเวียนศีรษะ เป็นฝีหรือรูทะลุหลังหู
และปากเบี้ยว หากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามเข้าสมอง เป็นอันตรายถึงตายได้
ควรรักษาโดยการผ่าตัดทุกราย
|
๒.
หูชั้นกลางอักเสบแบบไม่เป็นหนอง
หูชั้นกลางอักเสบชนิดน้ำใส (ดูหัวข้อโรคจากภูมิแพ้)
๓.
หูตึงจากกระดูกงอกที่กระดูกโกลน
เกิดเนื่องจากมีกระดอกงอกที่บริเวณช่องรูปรี
แล้วยึดฐานของกระดูกโกลนให้ติดแน่น
และสั่นสะเทือนได้ยาก เสียงจึงผ่านเข้าหูชั้นในได้น้อย
ทำให้หูตึงแบบการนำเสียงเสีย ยังไม่ทราบสาเหตุของโรค พบในหญิงมากกว่าชาย
โดยเริ่มมีอาการหูตึงตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว
จากการตรวจรักษาผู้ป่วยหูตึงอายุ ๒๐-๕๐ ปี พบว่า
อาการหูตึงจะเป็นทีละน้อยๆ ทั้ง ๒ ข้าง โดยจะตึงมากข้างใดข้างหนึ่ง
บางรายมีอาการลมออกหู หรือเวียนศีรษะ เมื่อตรวจหู จะไม่พบสิ่งผิดปกติ
แต่เมื่อตรวจการได้ยินจะพบว่า เป็นหูตึงชนิดแบบนำเสียงเสีย
ถ้าตรวจวัดการทำงานในช่องหูชั้นกลางจะพบว่า กระดูกนำเสียงถูกยึดแน่น
และรีเฟล็กซ์ของกระดูกโกลนให้ผลลบ
อาการหูตึงจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำโดยตัดกระดูกโกลนทิ้ง แล้วใส่ของเทียม เช่น
ลวดท่อเหล็ก ท่อพลาสติก
ให้ทำหน้าที่แทนกระดูกโกลน ผู้ป่วยจะหายหูตึง และได้ยินเป็นปกติได้
ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการรักษาทางยา โดยไม่ยอมผ่าตัดจะไม่หายเป็นปกติ
แต่ถ้าใช้เครื่องช่วยฟังจะช่วยได้มาก |