สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 10
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๐ / เรื่องที่ ๖ โรคหู คอ จมูก / โรคของหูชั้นใน
โรคของหูชั้นใน
โรคของหูชั้นใน
หูชั้นในมีอวัยวะทำหน้าที่รับเสียง
และควบคุมการทรงตัว การที่หูชั้นในไม่ทำหน้าที่ตามปกติ
จึงมักจะมีอาการหูตึง หูหนวก ลมออกหู และเวียนศีรษะควบคู่กันไป
อาการอย่างหนึ่งอาจจะเด่นชัดกว่าอาการอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอวัยวะส่วนที่เสียไป โรคที่พบได้บ่อย คือ
๑. หูตึงในคนสูงอายุหรือหูคนแก่
เกิดเนื่องจากการเสื่อมสภาพของอวัยวะรับเสียง และประสาทหูไปตามอายุ
มีอาการหูตึงทั้งสองข้างเท่าๆ กัน การรับฟังเสียงสูงจะเสียมากกว่าการับฟังเสียงต่ำ
บางรายมีลมออกหู ส่วนมากจะไม่เวียนศีรษะ โรคนี้ยังไม่มีทางรักษา ถ้าหูตึงเกิน
๔๐ เดซิเบลจะเริ่มมีปัญหาในการพูดจากัน จึงควรใส่เครื่องช่วยฟัง
๒. หูตึงจากยา
ยาบางชนิดมีพิษต่อเซลล์ขนรับเสียงในอวัยวะรูหอยโข่ง
เดิมที่พบคือ ยาควินินที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย ปัจจุบัน พบจากยาปฏิชีวนะหลายอย่าง
เช่น สเตร็พโทไมซิน ไดไฮโดรสเตร็พโทไมซิน คานาไมซิน นิโอไม่ซิน และเจนทาไมวิน
ฯลฯ การได้รับยาจำนวนน้อย และในระยะเวลาสั้นไม่ทำให้หูตึง จะเกิดหูตึง เมื่อได้ยามาก และในเวลานาน
ในคนสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคไต หากหูตึงแล้ว ไม่มีทางรักษา แต่ถ้าอยู่ในระยะหูตึงน้อย
หากหยุดยา หูจะตึงอยู่ในระดับนั้นไม่เสียมากขึ้น การป้องกันไม่ให้หูตึง จึงสำคัญที่สุด
โดยไม่ใช้ยาประเภทนี้ หรือใช้ยาด้วยความระมัดระวัง และตรวจสอบการได้ยินระหว่างการให้ยาด้วย
| ยาบางชนิดที่ใช้ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการหูตึงได้ | ๓. หูตึงจากเสียง
เสียงที่ดังมากเกินไป
และดังอยู่เป็นเวลานานจะทำลายเซลล์ขนในอวัยวะรูปหอยโข่ง ทำให้หูตึง
หูตึงประเภทนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นหูตึง ณ ความถี่สูงที่ ๔,๐๐๐ เฮิรตซ์
ถ้าได้รับเสียงดังต่อไปนี้นานเป็นปี เช่น เสียงในโรงงาน เสียงเรือหางยาว
เสียงสามล้อเครื่อง และเสียงยิงปืน จะทำให้หูตึงเพิ่มมากขึ้น ณ
ความถี่ต่างๆ เช่น หูตึงที่ความถี่ ๓,๐๐๐ ๒,๐๐๐ หรือ ๖,๐๐๐ เฮิรตซ์
เป็นต้น อาการร่วมที่พบบ่อย คือ ลมออกหู
๔. โรคเมนิแอร์ (meniere's disease)
(ดูหัวข้อโรคหูจากภูมิแพ้)
๕. หูชั้นในอักเสบ
เกิดจากเชื้อบัคเตรี
หรือไวรัส มีการทำลายเซลล์ขนในอวัยวะรูปหอยโข่งอย่างมากมาย เป็นผลให้หูหนวก
ไม่มีการรักษา
๖. เนื้องอกประสาทหู
เส้นประสาทสมองที่
๘ เป็นเส้นประสาทของหูชั้นใน
พบเป็นเนื้องอกบ่อยที่สุดในบรรดาประสาทสมองทั้งหมด อาการสำคัญในระยะแรก
คือ หูตึง ต่อมามีเวียนศีรษะ
เนื้องอกที่โตมากขึ้นจะกดเส้นประสาทสมองเส้นอื่นๆ และเนื้อสมอง
ทำให้เกิดอาการอื่นๆ อีกมาก เครื่องมือพิเศษที่ใช้ตรวจมีหลายชนิด
โดยเฉพาะเครื่องวัดการได้ยินคอมพิวเตอร์จะสามารถวินิจฉัยได้
ในขณะที่ก้อนเนื้องอกยังมีขนาดเล็ก สามารถผ่าตัดเอาออกได้โดยมีอันตรายน้อย
๗. อุบัติเหตุต่อหูชั้นใน
เกิดจากการถูกตี
รถชน หรือถูกยิง ทำให้กะโหลกศีรษะแตก ซึ่งถ้าแตกร้าว ไปที่หูชั้นใน จะทำลายหูชั้นในทำให้หูหนวก และเวียนศีรษะได้
๘. หูหนวกจากกรรมพันธุ์
ถ่ายทอดมาทาง
สายเลือด ทำให้เด็กเกิดมาหูหนวก บางครอบครัว ที่มีพ่อแม่หูหนวก บุตรทุกๆ คนอาจหูหนวกทั้งหมดก็ได้ |
|