หูพิการแต่กำเนิด - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 10
เล่มที่ ๑๐
เรื่องที่ ๑ โรคทาง อายุรศาสตร์
เรื่องที่ ๒ โรคติดต่อ และโรคเขตร้อน
เรื่องที่ ๓ โรคภูมิแพ้
เรื่องที่ ๔ โรคผิวหนัง ที่พบบ่อยในประเทศไทย
เรื่องที่ ๕ โรคตา
เรื่องที่ ๖ โรคหู คอ จมูก
เรื่องที่ ๗ จิตเวชศาสตร์ และ สุขภาพจิต
เรื่องที่ ๘ สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ
เรื่องที่ ๙ การออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ
เรื่องที่ ๑๐ การปลูกกระดูกข้ามคน
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๐ / เรื่องที่ ๖ โรคหู คอ จมูก / หูพิการแต่กำเนิด

 หูพิการแต่กำเนิด
หูพิการแต่กำเนิด

แบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ

๑. ความพิการของหูชั้นนอก หรือชั้นกลาง

เช่น ใบหูเล็กมากหรือไม่ มีใบหู ใบหูเป็นติ่ง มีรูบริเวณหน้าหู ช่องหูตีบแคบ หรือตีบตันจนไม่มีช่องหู และอาจมีความพิการของกระดูกนำเสียงอันหนึ่งอันใด ผู้ป่วยจะหูตึงแบบการนำเสียงเสีย ในปัจจุบันนี้ สามารถผ่าตัดรักษาหูตึงชนิดนี้ได้เป็นบางรายเท่านั้น ในรายที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือไม่ยอมผ่าตัด ควรใส่เครื่องช่วยฟัง ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีช่องหู หรือหูตีบตันทั้งหมด หูจะไม่หนวก แต่จะมีหูตึงแบบการนำเสียงเสีย ประมาณ ๖๐ เดซิเบล สามารถพูดและเรียนหนังสือได้ ทั้งนี้เพราะเสียงที่ดังเกิน ๖๐ เดซิเบล จะผ่านกะโหลกศีรษะเข้าหูชั้นในโดยตรงได้ โดยไม่ต้องอาศัยช่องหู แก้วหู และกระดูกหู ผู้ป่วยจำนวนมากที่มารักษาต้องการผ่าตัดทำใบหูใหม่ เพื่อความสวยงามเท่านั้น การผ่าตัดทำใบหูใหม่ทำยาก และไม่ค่อยทำกันในบ้านเรา ในต่างประเทศมักทำเป็นใบหูปลอมติดขาแว่นตา เมื่อออกจากบ้านใส่แว่นตาก็มีใบหูเรียบร้อย ดูไม่ออกว่า เป็นใบหูปลอม บางรายผ่าตัดฝังใบหูปลอมติดไว้เลย สำหรับในบ้านเรา ยังไม่มีใบหูปลอมแบบนี้ เพราะคนไทยมีสีผิวหนังแตกต่างกันมาก ไม่มีใบหูปลอมที่ทำสีให้เหมือนผิวหนังคนไทยได้ทุกๆ คน

ลักษณะของหูพิการแต่กำเนิดผู้ป่วยไม่มีใบหูและช่องหูชั้นนอกทำให้หูตึง เพราะการนำเสียงบกพร่อง ลักษณะของหูพิการแต่กำเนิดผู้ป่วยไม่มีใบหูและช่องหูชั้นนอกทำให้หูตึง เพราะการนำเสียงบกพร่อง

๒. ความพิการของหูชั้นใน

จากการตรวจหูจะพบว่า ใบหู ช่องหูชั้นนอก แก้วหู และกระดูกหูทั้ง ๓ ชิ้น เป็นปกติ แต่หูชั้นในไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะอวัยวะรูปหอยโข่งเจริญเติบโตบางส่วน หรือไม่เจริญเลย ทำให้หูตึงมาก หรือหูหนวก สาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ มารดาเป็นโรคบางอย่างระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะโรคหัดเยอรมัน นับว่า เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดต่อหูชั้นใน มารดาจะตั้งครรภ์ระยะไหน กี่เดือนก็ตาม ถ้าเป็นหัดเยอรมัน เชื้อไวรัสเข้าหูชั้นในของเด็กในครรภ์ และทำลายเซลล์ขนโดยตรง ทำให้เกิดมาหูหนวก ซึ่งมีทางแก้ไข นอกจากนี้ ยังมีโรคและเชื้อไวรัสอีกหลายชนิด ที่อาจทำให้เด็กหูพิการได้

เด็กหูตึงประเภทนี้ ต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือในการหัดฟังเสียง และฝึกพูด โดยใส่เครื่องช่วยฟัง และฝึกพูด โดยนักฝึกสอนการพูด (ดูหัวข้อการฝึกพูด) ถ้าหูหนวกสนิทต้องให้ฝึกใช้ภาษาใบ้
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป