ความสำคัญของเสียง
การฝึกพูด
และเครื่องช่วยฟัง
เสียงมีความสำคัญมากอย่างหนึ่งในการกระตุ้นให้คนเรามีการเจริญเติบโตตามปกติ
นับตั้งแต่แรกเกิด
เด็กที่หูหนวกแต่กำเนิด จะมีความพิการทั้งทางร่างกายและสมอง
จนไม่สามารถอยู่ในสังคมปกติได้ คนที่เกิดมาตาบอดทั้ง ๒ ข้อง
แต่หูได้ยินปกติ จะมีความเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง และอยู่ในสังคมได้
บางคนมีความสามารถเป็นพิเศษมากกว่าคนสายตาปกติ
เราคงเคยได้เห็น และได้ฟังวงดนตรีคนตาบอด
ซึ่งสามารถเล่นได้ทั้งดนตรีไทยและสากลได้ไพเราะมาก
คนตาบอดอ่านหนังสือได้ โดยใช้นิ้วมือสัมผัสอักษรพิเศษคือ อักษรเบรลล์
(Braille) คนที่หูหนวกแต่กำเนิดจะไม่สามารถปฏิบัติในสิ่งที่กล่าวได้
โดยเฉพาะคนหูหนวก และเป็นใบ้ บางครั้งแม้แต่ช่วยตัวเองก็ยังไม่ได้ |

อวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง |
ได้มีการศึกษา
และเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การได้ยินเสียงของเด็ก
เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญอย่างมาก ต่อการเจริญเติบโตทางสมองของเด็ก
รวมทั้งพฤติกรรมทุกๆ ชนิดที่จะพัฒนาตามมา เช่น การนั่ง การเดิน
การกินอาหาร รวมทั้งอารมณ์ และความเฉลียวฉลาด
การพูดของเด็กจะพัฒนาขึ้นมาได้ต่อเมื่อเด็กจะต้องได้ยินเสียงพูดก่อนเท่านั้น
เด็กหูหนวกจึงไม่สามารถพูดได้ และเป็นใบ้
ไม่สามารถติดต่อสื่อความหมายกับคนอื่น โดยการพูดได้
มนุษย์เราจัดอยู่ในสัตว์ชั้นสูงสุดแยกจากสัตว์ชั้นอื่นๆ
ได้ เนื่องจาก การที่สามารถพูดติดต่อกันได้นี้เอง
จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องวินิจฉัยให้ได้โดยเร็วที่สุดนับแต่เด็กแรกเกิดว่า
มีความพิการทางการได้ยินหรือไม่ คือ หูตึง หรือหูหนวกหรือไม่
ถ้ามีเป็นประเภทไหน และมากน้อยเพียงใด
เพื่อจะได้เริ่มให้การช่วยเหลือตามขั้นตอน โดยวิธีการต่างๆ
ตามความเหมาะสมเท่าที่ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้จะช่วยเหลือได้
โดยมุ่งช่วยเหลือให้เด็กมีการได้ยินและฝึกพูดโดยเร็ว |

กลไกในการออกเสียง |
การพูดของเด็ก
เด็กที่เกิดมามีการได้ยินปกติ
มีอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดครบถ้วน และทำงานโดยปกติ ได้แก่
กล่องเสียง และสายเสียง ช่องคอ ลิ้นไก่ เพดานลิ้น ฟัน ริมฝีปาก
และช่องจมูก
จะมีการพัฒนาการพูด โดยย่อดังนี้ คือ อายุ ๑ เดือน
จะส่งเสียงร้องไห้เป็นการแสดงถึงความรู้สึกบางอย่าง เช่น เปียก หิว
และเจ็บ เป็นต้น อายุประมาณ ๒-๓ เดือน เริ่มส่งเสียงอืออา
เมื่อเด็กได้ยินเสียงตัวเอง
เด็กจะยิ่งส่งเสียงอืออาเลียนเสียงตัวเองมากขึ้น ในช่วงอายุ ๔-๖ เดือน
เมื่ออายุ ๖-๙ เดือน จะหัดออกเสียงเลียนแบบคำพูดของผู้ใกล้เคียง
ถ้ามีผู้มาพูดกับเด็กโดยตรง โดยเด็กเห็นหน้าตา
และท่าทางระหว่างพูดด้วยแล้ว
เด็กจะพยายามพูดเลียนแบบ หัดออกเสียงเลียนแบบคำสุดท้ายของประโยค คำว่า
"แม่"
เป็นคำที่เด็กได้ยินบ่อยที่สุด แม่เองใช้คำแทนชื่อตัวเองว่า "แม่"
ทุกครั้งที่พูดหรือมีคนอื่นมาสอนให้พูดก็มักจะสอนให้เรียก "แม่"
บ่อยๆ
เด็กจะออกเสียงว่า "แม่"
เป็นคำพูดคำแรกของเด็ก
เด็กส่วนมากจะพูดคำแรกได้ เมื่ออายุประมาณ ๑ ปี
บางคนอาจจะช้ากว่านี้ก็ได้ แต่ก็ไม่ควรเกิน ๑ ๑/๒ ปี
หลังจากนี้ก็จะพูดคำเดียวได้มากขึ้น ต่อมาจะพูดเป็นวลีและเป็นประโยค
เด็กอายุครบ ๗ ปี จะมีแบบแผนการพูดชัดเจน คือ การออกเสียงสระ
และพยัญชนะชัดเจน การผันวรรณยุกต์ถูกต้อง
สามารถเรียบเรียงคำ และสร้างประโยคได้ถูกต้อง
รวมทั้งมีลีลาการพูด และจังหวะจะโคนในการพูด เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ |
การผิดปกติของการพูด
เด็กที่พูดช้ากว่าปกติ
พูดไม่ชัด หรือพูดไม่ได้เลยนั้น
คนส่วนมากเข้าใจผิดคิดว่า เกิดจากความพิการ
หรือไม่สมประกอบของอวัยวะ ที่เกี่ยวกับการพูด
ที่จริงแล้วสาเหตุสำคัญนั้นคือ หูตึง หรือหูหนวก (เด็กไม่ได้ยินเสียงเลย)
ในรายที่หูหนวกไม่สามารถพูดได้ หรือเป็นใบ้
ถ้าหูตึงมากจะได้ยินเสียงบ้าง แต่ไม่มากนัก พูดได้ไม่ชัด หรือพูดผิดปกติ
หรือพูดได้ด้วยความยากลำบาก และออกเสียงได้ไม่ชัดเจน
สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า หรือพูดไม่ได้ มีดังนี้
๑. หูตึงหรือหูหนวก
มีประมาณร้อยละ ๔๕ หูตึง หรือหูหนวก
แบ่งเป็นหลายประเภท และมีสาเหตุต่างๆ กันได้มากมาย (ดูในหัวข้อ โรคของหู)
๒.
ความผิดปกติทางสมอง
มีประมาณร้อยละ ๓๐ มีการเจริญเติบโตทางร่างกายช้า และมีความพิการ เช่น
แขนขาลีบ ขาไม่มีแรง หกล้มบ่อยๆ เดินเองได้ยาก ต้องพยุงหรือจูง
๓.
ความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์
มีประมาณร้อยละ ๑๕ การเจริญเติบโตทางร่างกายปกติ
และการพูดอาจพัฒนาเป็นปกติ แต่มีอาการทางโรคจิต เช่น ทำท่าทางแปลกๆ
นั่งเหม่อ หรือจ้องมองสิ่งของบางอย่างนาน ซึม ไม่สนใจเสียงรอบกาย
และแยกตัวอยู่ตามลำพัง เป็นต้น
๔.
เด็กปัญญาอ่อน
มีประมาณร้อยละ ๑๐ การเจริญเติบโตทางร่างกายอาจปกติพอสมควร
แต่การพัฒนาทางจิตใจ และภาษาช้ากว่าอายุจนเห็นได้ชัด ตัวโต
แต่ทำอะไรเป็นเด็กเล็ก ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ ลักษณะรูปร่างหน้าตา
จะเห็นได้ชัดว่า เป็นเด็กปัญญาอ่อน
ความพิการหลายอย่าง ทำให้การพูดผิดปกติ เช่น หูตึง หรือหูหนวก
ความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด และโรคทางสมอง หรือจิตใจ
ทำให้การพูดผิดปกติไปได้หลายแบบ อาจแบ่งตามลักษณะกิริยาอาการที่ผู้พูด
แสดงออกได้ ๕ ประเภท คือ
๑.
พูดไม่ชัด
การออกเสียงสระหรือพยัญชนะไม่ชัด เช่น ไคว แทน ไฟ ฟาม แทนความ เยือ แทน
เรือ หง่า แทน สง่า ช้าแทน ช้าง เป็นต้น
สาเหตุที่พูดไม่ชัดเกิดจากปากแหว่ง เพดานโหว่ หูตึง สอนพูดไม่ถูกต้อง
อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนพูดไม่ชัด เป็นโรคจิต โรคประสาท
หรือมีปัญหาทางอารมณ์
๒.
พูดติดอ่าง
พูดติดตะกุกตะกัด ซ้ำพยางค์ ซ้ำคำ ซ้ำประโยค หรือพูดไม่ออกเลย
บางรายมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ขยิบตา เกร็งริมฝีปาก หน้าบิดเบี้ยว
สะบัดหน้าเวลาพูด สาเหตุเกิดจากทางด้านจิตใจ หรืออารมณ์ ความหวาดกลัวว่า
จะพูดผิด ไม่กล้าพูด
๓.
เสียงพูดผิดปกติ
เสียงที่พูดผิดปกติแตกต่างจากที่ควรจะเป็น เช่น เสียงแหบ เสียงขึ้นจมูก
สูงไป ต่ำไป ทุ้ม แหลม ดัง หรือออกเสียง ค่อยเกินไป
สาเหตุเกิดจากโรคของอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูดเช่น สายเสียเป็นเนื้องอก
กล่องเสียงเป็นมะเร็ง จมูกอักเสบ และโรคหวัด เป็นต้น
๔.
ความผิดปกติแบบผสม
เกิดจากความพิการหลายๆ อย่างรวมกัน เช่น เสียงพูดในคนที่ปากแหว่ง
เพดานโหว่ เสียงภาษาต่างชาติ เสียงพูดของคนสมองพิการ เสียงพูดของคนหูตึง
และหูหนวก เหล่านี้จะมีเสียงพูดไม่ชัด เสียงผิดปกติ จังหวะในการพูดไม่ดี
การสอนพูดและการฝึกฟังเสียง
เด็กที่หูตึงแต่กำเนิดไม่พูด หรือพูดช้า
สามารถจะฝึกให้เด็กรู้จักฟัง และรู้จักพูดได้
ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ต้องได้รับการศึกษาฝึกอบรมมาเป็นพิเศษ คือ
นักฝึกสอนการพูด
การสอนนี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง ในการที่จะให้การฝึกพูดบรรลุเป้าหมาย คือ
นักฝึกสอน ซึ่งอาจจุต้องใช้เวลานับเป็นปีจึงจะสอนให้พูดได้
นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความร่วมมือกับบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
นับตั้งแต่แพทย์ทางหูคอจมูก กุมารแพทย์ นักตรวจการได้ยิน
แพทย์โรคระบบประสาท จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์
ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคตั้งแต่ระยะแรก ในระยะที่ฝึกพูดน้อย บิดามารดา
ต้องช่วยฝึกสอนที่บ้านด้วย ต้องติดต่อกับครู
หาโรงเรียนพิเศษให้ เพราะจะเข้าเรียนในโรงเรียนตามปกติไม่ได้
|

การฝึกพูดแก่เด็กหูตึงแต่กำเนิด ไม่พูดหรือพูดช้า |
การฝึกสอนการพูด และการฟังเสียง
มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
ฝึกเด็กให้รู้จักฟังเสียง
ใส่เครื่องช่วยฟัง
ส่งเสริมการพัฒนาการพูดและภาษา
ฝึกให้รู้จักการอ่านริมฝีปาก
แก้ไขข้อบกพร่องในการพูดให้ออกเสียงได้ชัดเจนใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
และออกเสียงวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง
การฝึกสอนการพูดแก่เด็กหูตึง
มีสิ่งสำคัญสรุปได้ ๕ ประการ
๑.
เด็กจะต้องมีเครื่องช่วยฟัง หรือเครื่องขยายเสียงใส่ติดหูขณะที่เรียน
ไม่กำหนดว่า จะเป็นชนิดใด
ชนิดใส่คนเดียว หรือใส่ร่วมกัน เพื่อฝึกพร้อมกันหลายคนก็ได้
๒. ผู้ฝึกสอนจะต้องมีความมานะอดทนใสการสอนเด็ก
จะต้องพูดซ้ำซากหลายร้อยหลายพันครั้ง ไม่ใจร้อน หรือโมโหง่ายกับเด็ก
๓. ผู้สอนจะต้องมีหลักการที่จะจูงใจเด็กให้สนใจการเรียน
๔. ไม่ทำโทษเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ทำผิดเกี่ยวกับการพูดหรือการฝึกพูด
๕. ฝึกสอนให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งสอนบ่อยมากเด็กจะพูดได้เร็วขึ้น
การสอนพูดและการฝึกฟังเสียง
ทำเป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ ๑ สอนให้เด็กรู้จักเสียงต่างๆ
และสอนให้รู้จักฟัง โดยใช้เสียงดังกระตุ้นหู เช่น เสียงพูด เสียงจากวิทยุ
และเสียงจากเครื่องบันทึกเสียง โดยเปิดเสียงเข้าไปทางหูครอบ
ระยะแรกเด็กอาจจะไม่ยอมทำบ่อยๆ หรือให้ฟังพร้อมกันหลายคน
เด็กจะยอมทำตาม เมื่อเด็กยอมฟังเสียงแล้ว ๒-๔ สัปดาห์ จึงฝึกขั้นที่ ๒
|