ไซนัสอักเสบ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 10
เล่มที่ ๑๐
เรื่องที่ ๑ โรคทาง อายุรศาสตร์
เรื่องที่ ๒ โรคติดต่อ และโรคเขตร้อน
เรื่องที่ ๓ โรคภูมิแพ้
เรื่องที่ ๔ โรคผิวหนัง ที่พบบ่อยในประเทศไทย
เรื่องที่ ๕ โรคตา
เรื่องที่ ๖ โรคหู คอ จมูก
เรื่องที่ ๗ จิตเวชศาสตร์ และ สุขภาพจิต
เรื่องที่ ๘ สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ
เรื่องที่ ๙ การออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ
เรื่องที่ ๑๐ การปลูกกระดูกข้ามคน
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๐ / เรื่องที่ ๖ โรคหู คอ จมูก / ไซนัสอักเสบ

 ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบ

ไซนัส หมายถึง โพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกรอบโพรงจมูก ไซนัสมีทั้ง ๒ ข้าง ขวาและซ้าย โดยมีจำนวนไซนัสเท่าๆ กัน ไซนัสมี ๔ ชนิด
ภาพเอกซเรย์แสดงบริเวณไซนัลอักเสบ
ภาพเอกซเรย์แสดงบริเวณไซนัลอักเสบ
๑. ไซนัสในกระดูกโหนกแก้ม มีข้างละ ๑ โพรง ขนาดใหญ่เท่าๆ กันทั้ง ๒ ข้าง

๒. ไซนัสในกระดูกหน้าผาก มีข้างละ ๑ โพรง ส่วนมากขนาดไม่เท่ากัน

๓. ไซนัสในกระดูกเอทมอยด์ (ethmoid) เป็นโพรงอากาศขนาดเล็กอยู่ ๒ ข้าง ของโพรงจมูก และอยู่รอบขอบลูกตาด้านใน แต่ละข้างมีประมาณ ๑๐ โพรงขนาดต่างๆ กัน

๔. ไซนัสในกระดูกสฟีนอยด์ (sphenoid) มีข้างละ ๑ โพรง โดยมีผนังบางๆ กั้นเป็นขวาและซ้าย เป็นไซนัสส่วนลึกสุด ต่อจากโพรงจมูกด้านหลังของบริเวณใต้สมอง

โพรงอากาศไซนัสทุกโพรงติดต่อกับโพรงจมูก โดยมีรูเปิดขนาดเล็กมากเปิดเข้าในโพรงจมูกตรงตำแหน่งต่างๆ กัน เยื่อเมือกบุในจมูก และในไซนัสเป็นชนิดเดียวกัน และติดต่อกัน การอักเสบในจมูกจึงลุกลามเข้าไซนัสได้ง่าย เยื่อเมือกในจมูกบวมหนาจากโรคภูมิแพ้ ทำให้เยื่อเมือกในไซนัสบวมหนาด้วย ถ้าเอกซเรย์ไซนัสจะพบว่า เยื่อบุไซนัสหนากว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งทำให้เข้าใจผิดกันบ่อยว่า เป็นไซนัสอักเสบ แต่ความจริงแล้ว ไซนัสยังไม่อักเสบ และไม่มีหนองในไซนัส

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

เป็นการอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อจากเยื่อบุโพรงอากาศ ไซนัส ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดภายหลังโพรงจมูกอักเสบเฉียบพลัน และเป็นการอักเสบของไซนัสหลายๆ โพรง แต่อาจอักเสบเฉพาะโพรงเดียวก็ได้สาเหตุอื่นๆ คือ ไข้หวัด คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ ฟันผุ หรือรากฟันอักเสบมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก การว่ายน้ำ หรือดำน้ำ ภยันตรายที่ไซนัส หรือจมูกที่เกิดตามหลังโรคไข้หวัดใหญ่ หัด และไอกรน เป็นต้น
ฝีในเบ้าตาข้างซ้าย โรคแทรกซ้อนอันเกิดจากไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน
ฝีในเบ้าตาข้างซ้าย โรคแทรกซ้อนอันเกิดจากไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน
ผู้ป่วยมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก เลือดกำเดาไหล ปวดในจมูก น้ำมูกไหลข้นเป็นหนอง เสมหะมากติดคอ ทำให้รำคาญต้องขากบ่อยๆ ในเด็กจะไอ อาเจียนบ่อยๆ สำหรับอาการปวดบนใบหน้า และปวดศีรษะแตกต่างกัน แล้วแต่ตำแหน่งไซนัสที่อักเสบ คือ

ไซนัสในกระดูกโหนกแก้ม ปวดรุนแรงมากบริเวณโหนกแก้ม ปวดร้าว ไปที่เบ้าตาและฟัน
ไซนัสในกระดูกหน้าผาก ปวดรุนแรงบริเวณหน้าผาก และรอบๆ เบ้าตา
ไซนัสในกระดูกสฟีนอยด์ ปวดบริเวณหลังลูกตา ท้ายทอยหรือขมับ

อาการปวดศีรษะอีกอย่างหนึ่งที่เป็นลักษณะของไซนัสอักเสบคือ จะปวดมากในตอนเช้า แต่พอสายๆ ก็หายปวด รายที่อักเสบรุนแรงมากจะปวดตลอดเวลา
ภาพเอกซเรย์ไซนัสอักเสบ
ภาพเอกซเรย์ไซนัสอักเสบ
เมื่อตรวจจมูกจะพบเยื่อบุจมูกบวมแดง มีหนองในโพรงจมูก ตรวจด้านหลังจมูก จะพบมีหนองข้นติดอยู่จำนวนมาก บวมและกดเจ็บบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม หรือรอบลูกตา ตรวจโดยใส่ไฟฉายขนาดเล็กเข้าในปาก แล้วปิดไฟมืด จะเห็นไซนัสในกระดูโหนกแก้มทึบแสงชัดเจน เอกซเรย์ไซนัสจะพบว่า ไซนัสทึบทั้งโพรง หรือเห็นระดับหนองชัดเจน ในปัจจุบันนี้ มีกล้องส่องไซนัสสามารถส่องดูภายในของไซนัส ในกระดูกโหนกแก้มได้ด้วย
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

โดยทั่วไปไซนัสอักเสบเรื้อรังจะไม่ทำให้มีอาการไข้ปวดหรือบวมดังกล่าวมาแล้ว ไม่ปวดศีรษะ อาการสำคัญ คือ คัดจมูก น้ำมูกข้น เหนียว เสมหะมากข้นเหนียว อาจมีสีเขียว และมีกลิ่นเหม็น ในเด็กจะเห็นได้ชัดเจน โดยมีน้ำมูกข้นไหลออกมาที่รูจมูก โดยที่เด็กยังวิ่งเล่นได้ตามปกติ ไม่มีอาการของการเจ็บป่วย เสมหะติดคอมากๆ ทำให้รำคาญต้องขากบ่อยๆ ไอหรืออาเจียนเวลารับประทานอาหาร บางรายมีไอเรื้อรัง เสียงแหบ หูอื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น หากตรวจจะพบน้ำมูกข้นในจมูก และบริเวณหลังจมูก ในรายที่เป็นนานๆ อาจจะพบริดสีดวงจมูกด้วย เอกซเรย์ไซนัสจะพบการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เช่น ไซนัสทึบทั้งโพรงแบบหนองอัดแน่น เยื่อบุหนามาก หรือเห็นเป็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อก็ได้ บางรายเห็นเป็นระดับหนอง การตรวจด้วยกล้องส่อง ไซนัสจะเห็นพยาธิสภาพชัดเจน

ไซนัสอักเสบ สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าผู้ป่วยมารับการตรวจ และร่วมมือในการรักษาอย่างเต็มที่ การที่มีคำพูดอยู่เสมอๆ ว่า "โรคไซนัสรักษาไม่หาย" นั้น ไม่เป็นความจริงเสมอไป ที่ว่า รักษาไม่หายนั้น ส่วนมากเกิดจากการเข้าใจผิดที่เรียกโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ว่า เป็นโรคไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีอาการคล้ายโรคหวัด มักจะคิดว่า เป็นหวัดเรื้อรัง และเป็นโรคไซนัส โรคไซนัสโดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เรื้อรังมึน เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง หรือความจำเสื่อม อาการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่นๆ มากกว่าที่จะเกิดจากโรคไซนัสอักเสบ

อย่างไรก็ตาม โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษา ปล่อยปละละเลย ก็อาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง การอักเสบรุนแรงของกระดูกหน้าผาก หรือโหนกแก้ม เป็นฝีในเบ้าตา หรือรอบลูกตา ประสาทตาอักเสบ ทำให้ตาบอดได้ มีรูทะลุจากโพรงไซนัสเข้าช่องปาก เป็นก้อนเนื้อ หรือถุงหนองในไซนัสที่พบบ่อย และรักษาหายขาดยากคือ โรคริดสีดวงจมูก
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป