สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 10
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๐ / เรื่องที่ ๗ จิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต / ประวัติจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต
ประวัติจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต
ประวัติจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต
มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า ในประเทศอียิปต์ สมัย ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล
คนในยุคนั้นเชื่อถืออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น เชื่อว่า
โรคทั้งหลายรวมทั้งโรคจิตเกิดจากวิญญาณของภูติผีปีศาจเข้ามาสิงสู่
หรือโรคจิตเกิดจากการกระทำในสิ่งที่ต้องห้าม (taboo)
จากการไม่ปฏิบัติตามกฎศาสนา ฯลฯ
การรักษาโรคจิตจึงมักอาศัยพระหรือการเข้าทรงหมอผี |

ฮิปโปคราเตส ผู้ได้รับสมญา บิดาแห่งการแพทย์ |
ฮิปโปคราเตส
(Hippocrates, ๔๖๐-๓๗๗ ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวกรีก
ผู้ริเริ่มการแพทย์) ผู้ได้รับสมญาว่า เป็น "บิดาแห่งการแพทย์"
เป็นคนแรกที่นำความรู้เกี่ยวกับโรคจิต เข้ามาสู่วงการแพทย์
ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ก่อนคริสต์กาล เขากล่าวว่า "สมองเป็นที่ตั้งของจิตใจ"
เขาไม่เชื่อว่า โรคจิตเกิดจากพระเจ้า หรือปีศาจ
|
ต่อมาในยุคกลาง (Middle Ages) ซึ่งเป็นยุคของศาสนา
และภูติผีปีศาจ
นักบวชมีอำนาจทั้งทางศาสนา และมายากล
คนทั้งหลายกลับไปมีความเชื่ออย่างเดิมว่า โรคจิตเกิดจากผีสิง หรือแม่มด
โดยเฉพาะชาวตะวันออกส่วนมากเชื่อเวทมนตร์คาถา ลางสังหรณ์ การบูชาพระเจ้า
ผี ต้นไม้ ไฟ เป็นต้น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๘ เริ่มมีสถานดูแลผู้ป่วยโรคจิต
(asylum) ในกรุงแบกแดด ต่อมามีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตในที่อื่นๆ อีก
โดยเฉพาะในเมืองอะเดรียนาโบลิส (Adrianabolis) สุลต่านที่ ๒
ได้สร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๔๓ (ค.ศ. ๑๕๐๐) มี บรรยากาศสงบ
มีน้ำพุ และสวนดอกไม้ การรักษาใช้ ยา เครื่องหอม อาหารพิเศษ
และการแสดงดนตรี |
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุคเริ่มต้นของการตื่นตัวเรื่องจิตไร้สำนึก
(unconscious) จ็อง มาร์แตง ชาร์โกต์ (Jean Martin Charcot, ค.ศ.
๑๘๒๕-๑๘๙๓) ประสาทแพทย์ชาวฝรั่งเศส
ศึกษาสาเหตุของโรคฮิสทีเรียอย่างลึกซึ้ง ลูกศิษย์ของเขาคนหนึ่ง คือ
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๙๓๙)
ได้เป็นผู้วางรากฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis)
แรกเริ่ม เขาเป็นประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย แต่ภายหลังหันมาสนใจเรื่องจิตใจ
และใช้วิธีสะกดจิตรักษาผู้ป่วยฮิสทีเรีย เขาพบว่า
ผู้ป่วยส่วนมากจะกดเก็บความต้องการอันไม่เป็นที่ยอมรับ (unacceptable
wishes) ไว้ในจิตไร้สำนึก เขาค้นพบทฤษฎีของจิตกลไก หรือกลวิธาน (mental or
defense mechanisms) ซึ่งเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของทฤษฎีจิตวิเคราะห์
ต่อมาเขาเลิกใช้วิธี สะกดจิต
และใช้วิธีปล่อยให้ผู้ป่วยพูดสิ่งที่ผู้ป่วยคิดออกมาได้เองตามใจชอบ
ทำให้เขานึกถึงเรื่องอื่นๆ ได้ติดต่อกันไปอย่างเสรี (free association)
เขาได้ศึกษาค้นคว้าเทคนิคในการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ในทฤษฎี ลิบิโด
(libido) ซึ่งเป็นแก่นของจิตวิเคราะห์ |
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้วางรากฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ |
ในยุคครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก แนวคิดทาง
จิตเวชศาสตร์ได้เบนไปจากเรื่องศาสนาและปรัชญา
และเปลี่ยนไปทางอุดมคตินิยมและวัตถุนิยมมากขึ้น
นักจิตเวชศาสตร์เริ่มเชื่อว่า อาการทางจิตเวชสืบเนื่อง
มาจากสาเหตุทางสรีรวิทยา จนบางคนถึงกับเชื่อว่าโรค
จิตคือโรคของสมอง แนวโน้มในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตในยุคนี้คือ รีบแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว แล้วรีบนำไปไว้ในโรงพยาบาล
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคจิตส่วนมากได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา
ซึ่งมีมากมายหลายชนิด และส่วนมากมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการทางจิต
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาที่ทันสมัย
ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
สามารถอยู่ในชุมชนของเขาได้ |
|