บทนำ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 11
เล่มที่ ๑๑
เรื่องที่ ๑ วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์
เรื่องที่ ๒ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์
เรื่องที่ ๓ ระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์
เรื่องที่ ๔ การประยุกต์คอมพิวเตอร์
เรื่องที่ ๕ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ
เรื่องที่ ๖ สิ่งประดิษฐ์จากพัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์
เรื่องที่ ๗ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม
เรื่องที่ ๘ ผลของการใช้คอมพิวเตอร์
เรื่องที่ ๙ การพัฒนาอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๑ / เรื่องที่ ๒ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ / บทนำ

 บทนำ
คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือประมวลผล ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ตามคำสั่งที่ป้อนให้เครื่องไว้ตั้งแต่เริ่มทำงาน เครื่องจะทำงานอย่างอัตโนมัติจนสำเร็จลุล่วงไปตามต้องการ เครื่องสามารถคำนวณได้ทั้งบวก ลบ คูณ หาร ไปจนถึงการคำนวณที่ยุ่งยาก นอกจากนี้เครื่องสามารถเก็บข้อมูล คำสั่ง และผลลัพธ์ไว้ได้ สามารถเปรียบเทียบตัวเลขว่า เท่ากันหรือไม่ ตรวจสอบเครื่องหมายว่า เป็นบวกหรือลบ สามารถย้ายข้อมูลไปได้ทั่วส่วนความจำ สามารถป้อนข้อมูลใหม่ ชุดคำสั่งใหม่ สามารถนำเอาข้อมูลออกมา จากส่วนความจำ เพื่อทำการคำนวณตามขั้นตอนต่างๆ แล้วนำผลลัพธ์เข้าเก็บในส่วนความจำ และสามารถนำเอาผลลัพธ์ออกจากส่วนความจำ ไปแสดงที่ส่วนแสดงผล

ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ หมายถึงวัตถุสิ่งของ ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น ทรานซิสเตอร์ วงจรเบ็ดเสร็จหรือไอซี สายไฟฟ้า ตัวเก็บประจุ ตัวความต้านทาน ฯลฯ

ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕ ส่วน
ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ ๕ ส่วน

เครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ยุคแรกๆ ใช้วงจร อิเล็กทรอนิกส์ที่มีหลอดสุญญากาศจำนวนหมื่นๆ หลอด เป็น ส่วนสำคัญ มีขนาดใหญ่โต ใช้กำลังไฟฟ้าจำนวนมาก ความร้อนที่เกิดจากการเผาไส้หลอดก็มีจำนวนมาก อายุการใช้งานของหลอดไม่ยืนยาว ต้องระมัดระวังรักษา และซ่อมบำรุงเป็นอย่างดี ในสมัยต่อมา ได้มีการนำเอาทรานซิสเตอร์เข้ามาใช้แทนหลอดสุญญากาศ ทำให้สามารถสร้างเครื่องที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ใช้กำลังไฟฟ้าน้อยมาก และทำงานได้ดี ต่อมา ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่รวมวงจรทรานซิสเตอร์หลายๆ ตัว ลงบนแผ่นเดียวกันเรียกว่า วงจรเบ็ดเสร็จ เข้ามาใช้เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ทำให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงไปอีก และทำงานได้เร็วขึ้น การสร้างคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะสร้างเป็น ๒ แนวทาง แนวทางแรกจะหนักไปในการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ชนิดที่ทำงานได้รวดเร็วมาก มีอัตราปริมาณ ๑,๐๐๐ ล้านคำสั่งต่อวินาที อีกแนวทางหนึ่ง จะหนักไปในทางสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เล็กลง ประหยัด และทำงานได้รวดเร็ว พอสมควร เรียกว่า คอมพิวเตอร์

โดยทั่วๆ ไป เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๕ ส่วน คือ

๑. ส่วนรับข้อมูล (input) คือเครื่องมือที่ใช้เปลี่ยนข้อมูล และหรือคำสั่งที่เป็นรหัส ซึ่งมนุษย์เข้าใจได้ให้เป็นรหัส ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจได้ แล้วส่งเข้าส่วนความจำในรูปของสัญญาณไฟฟ้า

๒. ส่วนความจำ (storage หรือ memory) เป็นที่เก็บคำสั่ง และข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผล

๓. ส่วนคำนวณ (arithmetic) จะทำการคำนวณข้อมูลจากส่วนความจำ และตัดสินใจตามสัญญาณที่ส่วนควบคุมส่งมาบังคับ แล้วส่งผลลัพธ์กลับไปเก็บไว้ที่ส่วนความจำ

๔. ส่วนควบคุม (control) จะทำหน้าที่สร้างสัญญาณ เข้าควบคุม และตรวจสอบการทำงานตามส่วนต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ตามคำสั่งที่เก็บไว้ในส่วนความจำ

๕. ส่วนแสดงผล (output) คือ เครื่องมือที่ใช้เปลี่ยนผลลัพธ์ที่ได้มาจากส่วนความจำ จากรหัสเครื่องมาเป็นรหัสที่มนุษย์เข้าใจได้
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป