ต้นกำเนิดฝนหลวงและมูลเหตุ
ฝนหลวงก่อกำเนิดจากพระราชดำริ
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในรัชกาลปัจจุบัน
ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกร ในท้องถิ่นทุรกันดาร
ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น
ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค สำหรับคน สัตว์เลี้ยง
และเกษตรกร อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง
ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของธรรมชาติ กล่าวคือ
ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนที่ทิ้งช่วงระยะยาว
ในระหว่างฤดูฝน |

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร |
จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ เยี่ยม
พสกนิกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่า
ภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่และมี แนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ
นอกจากภาวะแห้งแล้ง
ที่มักเกิดขึ้นจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว
การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นสาเหตุให้สภาพสิ่งแวดล้อม
ทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทำให้สภาพอากาศจากพื้นดินถึงระดับฐานเมฆ ไม่เอื้ออำนวยต่อการกลั่นรวมตัว
ของก้อนเมฆ และยากต่อการเหนี่ยวนำให้ฝนตกลงสู่พื้นดิน ทำให้ฝนไม่ตก
หรือปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ซึ่งสร้างความเดือดร้อน และเสียหาย
ให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยส่วนรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ทรงเล็งเห็นว่า ก่อนที่จะถึงสภาพที่สุดวิสัย หรือยากเกินกว่าจะแก้ไข
การทำฝนหลวงน่าจะเป็นมาตรการ หนึ่งที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
|
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรภาพย่อทิศทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ |
ทรงเชื่อมั่นว่าด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์
และภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน
และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย คือ มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ซึ่งเป็น ฤดูฝนของประเทศนานถึง ๖ เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม
พัดพามวลอากาศ อุ่นและชื้นจากมหาสุมทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย
และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปี
และมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาวพัดพามวลอากาศเย็นและแห้ง
จากผืนแผ่นดินใหญ่จีนนานเพียง ๓ เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
แต่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวของประเทศ และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งเป็นฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน นานเพียง ๒ เดือน
พัดพามวลอากาศอุ่นและชื้น จากทะเลจีน
เข้าสู่ประเทศไทยแต่ปริมาณฝนไม่สูงนัก อิทธิพลของมรสุมดังกล่าวนี้
จะทำให้สามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้เป็นผลสำเร็จ |