ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 12
เล่มที่ ๑๒
เรื่องที่ ๑ การแพทย์
เรื่องที่ ๒ การศึกษา
เรื่องที่ ๓ การสังคมสงเคราะห์
เรื่องที่ ๔ การพัฒนาชาวเขา และการเกษตรที่สูง
เรื่องที่ ๕ การพัฒนาการเกษตรในชนบท
เรื่องที่ ๖ การศึกษาการพัฒนา
เรื่องที่ ๗ การสหกรณ์
เรื่องที่ ๘ การพัฒนาแหล่งน้ำ
เรื่องที่ ๙ การพัฒนาปัจจัยการผลิต
เรื่องที่ ๑๐ แผนที่
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๒ / เรื่องที่ ๙ การพัฒนาปัจจัยการผลิต / ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

ความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารของชาวไร่ชาวนา หรือธนาคารเกษตร ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของชาวนา ทั้งนี้ก็เพราะว่า เกษตรกรในระยะนั้น มีฐานะยากจนมาก ไม่มีเงินทุนเพียงพอ สำหรับใช้สอยระหว่างฤดูเพาะปลูก จึงต้องกู้ยืมเงินจากเอกชน ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก บางครั้งต้องขายผลิตผลให้แก่ผู้ให้กู้เงิน โดยผู้ให้กู้เงินเป็นผู้กำหนดราคาซื้อตามใจชอบ เกษตรกรจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก และมีหนี้สินพอกพูนตลอดเวลา

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งในการจัดตั้งธนาคารเกษตรขึ้นในสมัยนั้น ก็เพื่อที่จะประคองฐานะของชาวนา ไม่ให้ทรุดโทรมลง เมื่อประสบภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเกษตรกรมักจะประสบ ภัยทางธรรมชาติติดต่อกันจนยากที่จะฟื้นตัว ดัง เช่นใน พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ แต่ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ เกษตรกรกลับต้องผจญกับ ภาวะฝนแล้ง เป็นต้น

แต่ในที่สุด ธนาคารเกษตรในระยะนั้นก็ ไม่อาจตั้งขึ้นได้ เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับหลักประกันเงินกู้ และปัญหาในการควบคุม มิให้ราษฎรละทิ้งนา และหลบหนีหนี้สิน ซึ่งเป็นการยากที่จะควบคุม และระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายได้ ความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารเกษตร โดยมุ่งหมายให้ชาวนาได้กู้ยืมเงินในครั้งนั้น จึงต้องเลิกล้มไป

ต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙ คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก มีการให้กู้เงินแก่สมาชิกโดยทั่วไป

เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิก ก็ได้อาศัยเงินทุนจากสหกรณ์ เพื่อนำไปใช้ลงทุนประกอบอาชีพทางการเกษตรของตน แต่ก็เป็นที่พึ่งได้ไม่มากนัก เพราะตัวสหกรณ์เองก็มีปัญหาในด้านการเงิน ต้องขอกู้จากที่อื่นๆ มาดำเนินงานเช่นกัน โดยในระยะเริ่มแรก ขอกู้เงินจากธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาก รัฐบาลต้องขออนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินประจำปี ให้เป็นทุนของสหกรณ์ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลต้องใช้วิธีอนุมัติให้ธนาคารชาติไทย จัดการจำหน่ายพันธบัตรเงินกู้ เพื่อหาทุนให้กับสหกรณ์

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)สาขาเชียงใหม่ หน่วยอำเภอหางดงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)สาขาเชียงใหม่ หน่วยอำเภอหางดง

ในที่สุดจึงได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้น ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อ การสหกรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยเริ่มดำเนินงาน ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางทางการเงิน และอำนวยสินเชื่อแก่สหกรณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ใน ประเทศไทยในขณะนั้น

หลังจากที่ได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ขึ้นแล้ว ธนาคารแห่งนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพ ต่อการที่จะเอื้ออำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการพิจารณาจัดตั้งธนาคารขึ้นใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารเพื่อการสหกรณ์ สรุปเหตุผลที่จำเป็นจะต้องกระทำเช่นนั้นได้ดังนี้

๑. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์เท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรที่มิใช่สมาชิกสหกรณ์อีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความต้องการเงินกู้ ซึ่งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ไม่มีอำนาจ หรือหน้าที่จะให้กู้ได้

๒. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้เงินกู้ส่วน ใหญ่เพื่อระยะยาวและปานกลาง แต่เกษตรกร มีความต้องการเงินกู้ เพื่อผลิตผลในระยะสั้น เป็นอันมาก

๓. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์มิได้ทำหน้าที่ ในการพิจารณาคำขอกู้เงิน งานส่วนใหญ่ของ ธนาคารนี้ก็คือ เก็บรักษาเงิน ให้ความสะดวก ในการเบิกจ่ายเงิน และเก็บรักษาสมุดบัญชีอัน เป็นงานประจำเท่านั้น ธนาคารนี้มิได้ทำหน้าที่ เป็นผู้ให้กู้ยืมเงินอย่างแท้จริง

๔. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์มิได้ทำหน้าที่ ให้คำแนะนำและกำกับดูแลการให้สินเชื่อ (Supervised credit) และยังไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้ได้

๕. การดำเนินงานและองค์การของธนาคาร เพื่อการสหกรณ์ ยังไม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ จึงเป็นเหตุให้กำลังเงินของธนาคาร ไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยให้เป็นสถาบันระดับชาติ ทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกร อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านของเกษตรกรโดยตรงและสถาบันเกษตรกร
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่
วัตถุประสงค์ของธนาคาร

ธกส. มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อส่งเสริมอาชีพหรือการดำเนินงานของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ธกส. ได้ดำเนินการให้กู้เงินแก่เกษตรกรเป็น ๓ ทาง ด้วยกัน คือ

๑. ให้กู้เงินแก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าของ ธนาคารโดยตรง
๒. ให้กู้เงินแก่สหกรณ์การเกษตร
๓. ให้กู้เงินแก่กลุ่มเกษตรกร

ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ส่งผลให้ ธกส. สามารถดำเนินงานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น กล่าวคือ สามารถให้ กู้เงินแก่นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบ กิจการทางการเกษตร ให้กู้เงินแก่ผู้ฝากเงินภาย ในวงเงินที่ฝากไว้กับธนาคารโดยใช้เงินฝากเป็น ประกัน และให้กู้เงินแก่ผู้ที่ประกอบอาชีพการเกษตรอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด นอกเหนือไปจากเกษตรกร ตามความหมายที่พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตรกำหนดไว้

สถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขา หรือตัวแทนของธนาคาร

ธกส. มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๔๖๙ ถนนนครสวรรค์ แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานสาขาหรือตัวแทน ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดต่างๆ หรือบางอำเภอที่สำคัญๆ ภายในราชอาณาจักรไทย

นอกจากสำนักงานสาขาแล้ว ธนาคาร ได้จัดตั้งหน่วยอำเภอประจำอำเภอต่างๆ ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและบริการแก่เกษตรกร ผู้มีถิ่นที่อยู่และประกอบอาชีพการเกษตรในอำเภอ นั้นๆ ด้วย ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ธกส. มีสาขาระดับ จังหวัด ๖๘ แห่ง ระดับอำเภอและกิ่งอำเภอ ๕๘๐ แห่ง

ฐานะและคณะกรรมการของธนาคาร

ธกส. จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนา- คารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ เป็นต้นมา โดยรับโอนบรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ หนี้สิน ความรับผิดชอบ ธุรกิจ พนักงาน และลูกจ้าง มาจากธนาคารเพื่อการสหกรณ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาประจวบคีรีขันธ์หน่วยอำเภอหัวหิน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาประจวบคีรีขันธ์หน่วยอำเภอหัวหิน 
ธกส. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวง การคลัง มีคณะกรรมการ ธกส. เป็นผู้วางนโยบาย และควบคุมดูแลกิจการทั่วไป ของธนาคาร

คณะกรรมการ ธกส. ดังกล่าวประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ และมีรองประธานกรรมการ และกรรมการอื่น ไม่เกิน ๘ คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ

การดำเนินงานของธนาคาร

ธกส. แบ่งการดำเนินงานออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. การดำเนินงานสินเชื่อด้านเกษตรกร โดยให้กู้เงินแก่เกษตรกรรายคน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

๒. บริการเงินฝาก โดยรับฝากเงินจาก ประชาชนทั่วไป

๑. การดำเนินงานสินเชื่อด้านเกษตรกร

๑.๑ การให้กู้เงินแก่เกษตรกรรายคน

เกษตรกรรายคน คือ เกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สหกรณ์การเกษตร หรือสมาชิกกลุ่มเกษตรกร เกษตรกรรายคนนี้นิยมเรียกว่า เกษตรกรลูกค้า ธกส. วิธีการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรประเภทนี้แบ่ง เป็น ๒ ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก ให้กู้แก่เกษตรกรรายคน ซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มลูกค้าของธนาคาร เกษตรกรที่กู้ยืมโดยวิธีนี้ ส่วนมากเป็นกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็ก และขาดหลักทรัพย์เป็นประกันเงินกู้ ดังนั้น จึงใช้บุคคลในกลุ่มร่วมค้ำประกันแทน เกษตรกรที่กู้เงินจาก ธกส. ส่วนใหญ่จะขอกู้เงินในลักษณะนี้

ลักษณะที่สอง เป็นการให้กู้แก่เกษตรกรรายคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสังกัดกลุ่มลูกค้าของ ธกส. ที่กู้ยืมโดยวิธีนี้ ส่วนมากเป็นผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดี และมีหลักทรัพย์เป็นประกัน เงินกู้

๑.๒ การสนับสนุนเงินทุนแก่สหกรณ์การเกษตร

พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้บัญญัติความหมายของคำว่า สหกรณ์การเกษตร ไว้ดังนี้
แผนกบริการรับฝากเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
แผนกบริการรับฝากเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
"สหกรณ์การเกษตร" หมายความว่า สหกรณ์ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด เป็นเกษตรกร และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กับให้หมายความรวมถึงสหกรณ์ดังกล่าว ที่ได้รวมกันเป็นชุมชนสหกรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ธกส. ให้การสนับสนุนในด้าน เงินทุนการดำเนินงานแก่สหกรณ์การเกษตร ตลอดจน ให้คำปรึกษาและแนะนำ เกี่ยวกับการดำเนินงานสินเชื่อและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สหกรณ์การเกษตรมีประสิทธิภาพในการบริหารเงินกู้ และอำนวยผลประโยชน์อย่างแท้จริงแก่เกษตรกรสมาชิก ซึ่งแบ่งออกได้ตามลักษณะดังต่อไปนี้

๑) เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับให้สมาชิกกู้ต่อตามข้อบังคับของสหกรณ์การเกษตร
๒) เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ในการดำเนินงานจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตร ตลอดจนสิ่งจำเป็นอื่นๆ มาจำหน่ายแก่สมาชิก และเกษตรกร
๓) เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ในการดำเนินการขายผลิตผลการเกษตร
๔) เงินกู้ระยะยาวเพื่อการเกษตร

๑.๓ บริการเงินกู้แก่กลุ่มเกษตรกร

พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้บัญญัติความหมายของคำ กลุ่มเกษตรกร ไว้ดังนี้

"กลุ่มเกษตรกร" หมายความว่า เกษตรกรซึ่งรวมเป็นกลุ่มโดยมีกฎหมายรับรอง ให้เป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร

กลุ่มเกษตรกร เป็นสถาบันเกษตรกรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับบริการสินเชื่อจาก ธกส. บริการนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

๑) เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนให้กู้แก่สมาชิก
๒) เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ในการดำเนินการเพิ่มผลิตผลการเกษตร
๓) เงินกู้เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตร
๔) เงินกู้ระยะยาวเพื่อการเกษตร

ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ธกส. ได้ปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเกษตรกรรมทั้งสิ้น ๒๕,๑๒๖.๑ ล้านบาท มีอัตราการชำระคืนร้อยละ ๗๒.๕ ของยอดเงินกู้ ที่ถึงกำหนดชำระ

๒. บริการเงินฝากของธนาคาร

หน้าที่โดยตรงของ ธกส. นอกเหนือไปจากการให้กู้เงินแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร แล้ว ธกส. มีบริการรับฝากเงิน เช่นเดียวกับธนาคารแห่งอื่นๆ อีกด้วย
เกษตรกรกำลังติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
เกษตรกรกำลังติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
บริการเงินฝากของ ธกส. มีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. เงินฝากออมทรัพย์
๒. เงินฝากประจำ

บริการเงินฝากของ ธกส. ทั้ง ๒ ประเภทนี้ ผู้ที่ฝากเงินไว้ จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนในอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จากธนาคารแห่งอื่นๆ

และที่สำคัญก็คือ ผู้ที่นำเงินมาฝากไว้กับ ธกส. จะเป็นผู้ที่มีส่วนให้ความช่วยเหลือเกษตรกร หรือประชาชนส่วนใหญ่ ที่ทุกข์ยากแสนเข็ญของแผ่นดิน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ฝากไว้กับ ธกส. จะหลั่งไหลไปสู่เกษตรกร เพื่อใช้เป็นทุน ในการประกอบอาชีพ โดยการกำกับ และแนะนำอย่างใกล้ชิดของ ธกส. เพื่อให้เงินฝากทุกบาททุกสตางค์ ของผู้ที่มีจิตใจช่วยเหลือเกษตรกร สัมฤทธิ์ผลสูงสุด คือ ความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป