
กุฏิสงฆ์ |
กุฏิสงฆ์
(กุฎีสงฆ์)
กุฏิสงฆ์เป็นเรือนพักอาศัยชนิดหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์
ลักษณะคล้ายเรือนทั้งหลายที่กล่าวมา
กุฏิบางหลังเป็นเรือนของชาวบ้านรื้อมาถวาย
เพราะเป็นเรือนของบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้
แต่กุฏิสงฆ์ทั่วไปนั้น มีลักษณะมากมายหลายแบบ เช่น
แบบสร้างขึ้นอยู่เฉพาะรูปเดียว แบบของวัดที่ตั้งอยู่ในเมือง (คามวาสี)
และแบบของวัดที่ตั้งอยู่ในป่า (อรัญวาสี)
แล้วแต่จุดมุ่งหมายของผู้ที่จะสร้างให้ |
สำหรับกุฏิสงฆ์ซึ่งพระภิกษุจะสร้างด้วยตนเองนั้น
จำเป็นจะต้องทำตามพระวินัยในบท สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ๖ กล่าวว่า "ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน
ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน
ต้องทำให้ได้ประมาณโดยยาวเพียง ๑๒ คืบ พระสุคตโดย กว้างเพียง ๗ คืบ
พระสุคตวัดภายใน (ยาวประมาณ ๔.๐๓ เมตร กว้างประมาณ ๒.๓๕ เมตร)
และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี
ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส" |

สภาพน้ำท่วมใต้ถุนเรือนในหน้าน้ำ |
ลักษณะของเรือนไทยภาคกลาง
๑. เป็นเรือนยกใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดิน ประมาณพ้นศีรษะ
รวมทั้งระเบียงและชานก็ยกสูงด้วย การยกใต้ถุนสูงนี้มีระดับลดหลั่นกัน
พื้นระเบียงลดจากพื้นห้องนอน ๔๐ เซนติเมตร พื้นชานลดจากระเบียงอีก ๔๐
เซนติเมตร และปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่องโปร่ง การลดระดับพื้น
ทำให้ได้ประโยชน์ ดังนี้ คือช่วยให้ลมพัดผ่าน จากใต้ถุนขึ้นมาข้างบน
สามารถมองลงมายัง ใต้ถุนชั้นล่างได้ และใช้ระดับลด ๔๐ เซนติเมตร
ไว้เป็นที่นั่งห้อยเท้า |
การยกพื้นเรือนให้สูงขึ้นนั้น มีเหตุผลหลายประการ
คือ
ก. เพื่อให้มีความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย หรือคนร้ายในเวลาค่ำคืน
ภาคกลางของประเทศ อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ฝนตกชุก มีต้นไม้
หนาทึบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น งูพิษ ตะขาบ แมงป่อง
ถ้าบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ป่า ก็ต้องระวังสัตว์ป่าอีกด้วย ฉะนั้น
การยกที่นอนให้สูงจากพื้นดินจึงเป็นการปลอดภัย
ข.
เพื่อป้องกันน้ำท่วมถึง
ในทุกภาคของประเทศจะเกิดน้ำท่วมเป็นบางเดือนเกือบทุกปี ภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเกิดน้ำท่วม เพราะมีพายุฝนตกหนัก
ส่วนภาคกลางนั้น น้ำท่วม เพราะน้ำเหนือไหลบ่าลงมา รวมทั้งน้ำทะเลขึ้นหนุน
ประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมเกือบทุกปี
ถ้าเกิดน้ำท่วมก็จะได้ย้ายสิ่งของ และเครื่องใช้ต่างๆ
จากใต้ถุน ขึ้นไว้บนเรือน
ค. ใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บของ และเครื่องใช้เกี่ยวกับการเกษตร เช่น
เครื่องมือทำนาทำสวน เกวียน ไม้กระดาน เรือบด คันไถ กระทะเคี่ยว น้ำตาล
เป็นต้น
ง. ใช้ใต้ถุนเป็นที่ประกอบอุตสาหกรรม ในครัวเรือน ได้แก่ ทำร่ม ทอผ้า
ทอเสื่อ ปั่นฝ้าย ตำข้าว (ด้วยครกกระเดื่อง) และใช้เป็นที่พักผ่อน
โดยตั้งแคร่นั่งเล่นในเวลากลางวัน ชาวบ้านบางแห่ง
แบ่งส่วนใต้ถุนไว้เลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ฯลฯ
การเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุน จะทำให้สกปรก ส่งกลิ่นเหม็น
และเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก บางท้องที่แยกสัตว์ไว้ในคอกต่างหาก
ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเรือน แต่ไม่ควรอยู่เหนือลม (ทางทิศใต้)
การเลี้ยงสัตว์ไว้ในคอกต่างหากนี้ ดีกว่าการเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุน
นอกจากนี้ ยังใช้ใต้ถุนเป็นที่จัดงานประเพณีต่างๆ เช่น งาน ประเพณีสงกรานต์
ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีการจัดพื้นใต้ถุนตกแต่งอย่างสวยงามไว้เล่นสะบ้า ใต้ถุนยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมาก
แต่ต้องเป็นฤดูที่น้ำไม่ท่วมถึง
 | การใช้ใต้ถุนเรือนเป็นสถานที่ประกอบอุตสาหกรรมในครอบครัว |
๒. หลังคาทรงจั่วสูงชายคายื่นยาว หลังคาของเรือนไทยเป็น แบบทรงมนิลา
ใช้ไม้ทำโครง และใช้จาก แฝก หรือกระเบื้องดินเผา เป็นวัสดุมุงหลังคา
วัสดุเหล่านี้ต้องใช้วิธีมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก
น้ำฝนจึงจะไหลได้เร็ว ไม่รั่ว การทำหลังคาทรงสูงนี้
มีผลช่วยบรรเทาความร้อน ที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ที่พักอาศัย
หลับนอนเย็นสบาย สำหรับเรือนครัวทั่วไป ตรงส่วนบนของหน้าจั่วทั้ง ๒ ด้าน
ทำช่องระบายอากาศ โดยใช้ไม้ตีเว้นช่อง หรือทำเป็นรูปรัศมี พระอาทิตย์
เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากเรือนครัวได้สะดวก ได้กล่าวมาแล้วว่า
ดินฟ้าอากาศของภาคกลาง แดดแรงจัด อุณหภูมิบางเดือนสูงถึง ๓๙.๙
องศาเซลเซียส ฝนชุก จึงจำเป็นต้องต่อเติม กันสาดให้ยื่นออกจากตัวเรือนมาก
เพื่อกันแดดส่อง และฝนสาด
๓. ชานกว้าง เมื่อมองดูแปลนของเรือน ไทยทั่วไป
จะเห็นพื้นที่ของชานกว้างมาก มีปริมาณถึงร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
(ห้อง ระเบียง ชาน) ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึงร้อยละ
๖๐ พื้นที่นี้เป็นส่วนอาศัยภายนอก ส่วนที่อาศัยหลับนอนมีฝากั้น เป็นห้อง
มีเนื้อที่เพียงร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
สาเหตุที่พื้นที่อยู่อาศัยภายนอกมีปริมาณมาก
เพราะดินฟ้าอากาศร้อนอบอ้าวนั่นเอง |