มือ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 13
เล่มที่ ๑๓
เรื่องที่ ๑ เรือนไทย
เรื่องที่ ๒ ชีวิตชนบทไทย
เรื่องที่ ๓ หัตถกรรมพื้นบ้าน
เรื่องที่ ๔ จิตรกรรมไทย
เรื่องที่ ๕ นาฏศิลป์ไทย
เรื่องที่ ๖ ตุ๊กตาไทย
เรื่องที่ ๗ การละเล่นของไทย
เรื่องที่ ๘ อาหารไทย
เรื่องที่ ๙ การประดิษฐ์ผักและผลไม้
เรื่องที่ ๑๐ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
เรื่องที่ ๑๑ ธนาคาร
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๓ / เรื่องที่ ๕ นาฎศิลป์ไทย / มือ

 มือ
มือ

เป็นอวัยวะที่เราใช้ทำอะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เปิปข้าวเข้าปาก ใช้เขียนหนังสือ ใช้หยิบสิ่งโน้นสิ่งนี้ และใช้ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง นอกจากจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราโดยตรงแล้ว มือยังใช้บอกให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ของเราได้ด้วย เช่น เมื่อต้องการจะให้ผู้ใดมาหาเรา ก็ใช้มือกวักให้เขาเข้ามาหาเราได้ หรือต้องการจะให้เขาออกไป ก็ใช้มือโบกสะบัดออกไป ผู้นั้นก็จะรู้ความประสงค์ และออกไปตามความต้องการของเรา ถ้าเขาถือผลไม้หรือขนมอะไรมา หากเราแบมือออกไปที่เขา เขาก็จะรู้ว่า เราขอผลไม้หรือขนมนั้นจากเขา
การแสดงท่าจีบคว่ำ
การแสดงท่าจีบคว่ำ
นอกจากจะมีประโยชน์ในการที่จะบอกความประสงค์ของเราได้มากมายหลายประการแล้ว มือยังใช้ป้องกันตัว ถืออาวุธต่อสู่ศัตรูก็ได้ หรือแสดงความเคารพนบไหว้ผู้มีพระคุณ เช่น ครูบาอาจารย์ บิดามารดา หรือนมัสการพระพุทธรูป พระสงฆ์ก็ได้ เวลามีความรื่นเริง เราก็ตบมือเป็นจังหวะสนุกสนาน หรือตบมือแสดงความยินดีแก่ผู้อื่นก็ได้ ในร่างกายของเรา มือเป็นอวัยวะที่ใช้งานมากที่สุด
ถ้าเราเหยียดนิ้วทุกนิ้วให้ติดกัน เกร็งให้ตึงทั้ง ๕ นิ้ว แล้วหักข้อมือขึ้นทางหลังมือจนสุดที่จะทำได้ ท่านจะเห็นว่า นี่คือต้นทาง ของการรำ การรำ คือ การใช้มือทำท่าทางต่างๆ ดัดแปลงจากท่าที่ใช้กันอยู่เป็นปกติ โดยตบแต่งให้มีส่วนสัด กำหนดให้ยกสูงเพียงนั้น หรือต่ำลงเพียงนี้ เหยียดแขนงอแขนแค่ไหน คว่ำหรือหงายมืออย่างไร รวมความว่า แต่งมือให้รำงดงาม
มีการกระทำอีกอย่างหนึ่ง แทรกอยู่ในการรำ ซึ่งมิใช่แบมือดังกล่าวแล้ว แต่เป็นการใช้ปลายนิ้วชี้กับปลายนิ้วหัวแม่มือเข้ามาติดกัน แล้วเหยียดนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยออกไปให้ห่างกัน และมีระยะห่างเท่าๆ กัน การกระทำเช่นนี้ เรียกว่า "จีบ" การจีบนี้ จะแทรกอยู่ในการรำเสมอๆ มีทั้งจีบคว่ำ และจีบหงาย ท่าของมือในการรำลพบุรี
ท่าของมือในการรำลพบุรี 
มือ เป็นส่วนสำคัญในการรำก็จริง แต่การรำก็ต้องประกอบด้วยอิริยาบถของทุกส่วนของร่างกาย ทั้งใบหน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้า ซึ่งจะต้องมีส่วนสัดให้รับกันกับมือที่ทำท่านั้นๆ จึงจะแลดูงาม
การตั้งวงแขนท่าต่าง ๆ : การตั้งวงล่าง
การตั้งวงแขนท่าต่าง ๆ : การตั้งวงล่าง
ท่ารำที่ตบแต่งจากท่าธรรมดาสามัญที่เรากระทำกันอยู่ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็มีเช่น เวลาร้องไห้น้ำตาไหล เราก็จะเช็ดน้ำตาด้วยมือ จะเป็นมือซ้ายหรือขวา หรือแม้แต่หลังมือ อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเป็นท่ารำ ก็จะบัญญัติบังคับว่า จะต้องใช้มือซ้ายวาดเป็นวงเข้ามา กางหัวแม่มือกับอีก ๔ นิ้วให้ถ่างออกไป แล้วมาแตะไว้ที่หน้าผาก ก้มหน้าพอสมควร สะอึกสะอื้นให้เข้ากับจังหวะดนตรีที่บรรเลงเพลงโอด
การตั้งวงแขนท่าต่าง ๆ : การตั้งวงหน้า
การแสดงท่าตั้งมือและหงายมือ
การเดิน โดยปกติเราจะเดินอย่างไร แกว่งแขนอย่างไรก็ได้ แต่การเดินที่อยู่ในการรำ จะต้องก้าวเท้าให้มีส่วนสัด มือจะต้องกรีดกรายช้าๆ เวลาก้าวเท้าขวามาอยู่ข้างหน้า ก็ต้องกรีดมือซ้ายออกมา เวลาก้าวเท้าซ้ายมาข้างหน้า ก็กรีดมือขวาออกมาทางข้างหน้า ให้แลดูงดงามเป็นสง่า
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป