ละคร - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 13
เล่มที่ ๑๓
เรื่องที่ ๑ เรือนไทย
เรื่องที่ ๒ ชีวิตชนบทไทย
เรื่องที่ ๓ หัตถกรรมพื้นบ้าน
เรื่องที่ ๔ จิตรกรรมไทย
เรื่องที่ ๕ นาฏศิลป์ไทย
เรื่องที่ ๖ ตุ๊กตาไทย
เรื่องที่ ๗ การละเล่นของไทย
เรื่องที่ ๘ อาหารไทย
เรื่องที่ ๙ การประดิษฐ์ผักและผลไม้
เรื่องที่ ๑๐ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
เรื่องที่ ๑๑ ธนาคาร
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๓ / เรื่องที่ ๕ นาฎศิลป์ไทย / ละคร

 ละคร
ละคร

ละคร หมายถึง การแสดงรำที่เป็นเรื่องเป็นราว ดำเนินเรื่องไปโดยลำดับ มีตัวเอกของเรื่อง ฝ่ายชายเรียกว่า ตัวพระ เพราะสมัยโบราณแสดงแต่เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เป็นเรื่องของกษัตริย์ มีชื่อว่า พระต่างๆ เช่น พระอนิรุทธิ์ พระไชยเชษฐ์ พระอภัยมณี ฝ่ายหญิงเรียกว่า ตัวนาง เพราะในเรื่องที่แสดงมักชื่อว่า นางต่างๆ เช่น นางสีดา นางบุษบา นางทิพเกสร ยังไม่มีการแบ่งเป็นนางสาว และนางที่มีสามีแล้ว และตัวประกอบอื่นๆ แล้วแต่ในเรื่องจะมี

ละครมีหลายแบบ แต่ละแบบมีการแสดงและความมุ่งหมายแตกต่างกัน เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง และละครดึกดำบรรพ์

ละครโนรา

ละครโนราเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด เป็นละครของชาวภาคใต้ ในสมัยโบราณผู้แสดงมีเพียง ๓ คนเป็นผู้ชายล้วน แต่งตัวงามพิเศษอยู่แต่ตัวเอก ซึ่งเป็นตัวพระ เรียกว่า ตัวยืนเครื่องเพียงคนเดียว ตัวนางก็ใช้ผ้าขาวม้าห่ม โดยวิธีต่างๆ เช่น สไบเฉียง คาดอก และตะเบ็งมาน ตามฐานะ อีกคนหนึ่ง เป็นตัวตลก ต้องแสดงเป็นตัวประกอบทุกๆ อย่าง เป็นฤาษี เป็นพราน เป็นม้า เป็นสัตว์ต่างๆ ตามเรื่อง ทุกคนไม่สวมเสื้อ แม้ตัวยืนเครื่องก็แต่งอาภรณ์กับตัวเปล่า เป็นละครที่มุ่งหมายตลกขบขัน และการดำเนินเรื่องรวดเร็ว

ในสมัยปัจจุบันมีผู้หญิงแสดงร่วมด้วย และจำนวนผู้แสดงก็เพิ่มขึ้นไม่จำกัด การแต่งกาย มีการสวมเสื้อ ซึ่งประดับประดาด้วยลูกปัด เป็นอันมาก
ชฎาตัวพระ
ชฎาตัวพระ
เครื่องดนตรี มี ปี่ใน (ภาคใต้เรียกปี่ต้น) กลองขนาดย่อมลูกเดียว โทน (ภาคใต้เรียกทับ) ๒ ลูก ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกโหม่ง) ฉิ่ง และกรับ (ภาคใต้เรียกแกระ)
โรงสมัยโบราณปลูกอย่างง่ายๆ มีเสา ๔ ต้นเป็น ๔ มุม กับเสากลางสำหรับผูกซองใส่เครื่องอุปกรณ์การแสดง เช่น ธง อาวุธต่างๆ เรียกว่า ซองคลี สมัยปัจจุบันมีตัวละครมากขึ้น ต้องใช้โรงอย่างโรงละครนอก (ดูที่ละครนอก)

การแสดงเริ่มด้วยไหว้ครู แล้วรำซัด แล้วจึงจับเรื่อง ผู้แสดงร้องเองบ้าง มีต้นเสียงร้องไห้บ้าง นักดนตรีก็ร้องเป็นลูกคู่ด้วย

ละครแบบนี้ ชาวภาคกลางเรียกว่า ละครชาตรี การที่เรียกว่า โนรา ก็เพราะตามประวัติว่า ครั้งแรกการแสดงแต่เรื่องนางมโนห์รา จึงเรียกว่า มโนห์รา แต่สำเนียงพูดของชาวใต้นั้น คำที่เป็นลหุอยู่ข้างหน้าจะตัดทิ้งไม่ต้องพูด เช่น ไปเล (ไปทะเล) ไปหลาด (ไปตลาด) มโนห์ราจึงเรียกเป็นโนรา

ละครนอก

ละครนอกเป็นละครภาคกลาง นัยว่าวิวัฒนาการมาจากโนรา เพราะมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันคือ ดำเนินเรื่องรวดเร็ว และตลกขบขัน สมัยโบราณผู้แสดงเป็นชายล้วน เพิ่งมีผู้หญิงแสดงในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการห้ามมิให้บุคคลทั่วไปมีละครหญิง ในตอนหลังผู้แสดงเป็นผู้หญิงโดยมาก ผู้ชายเกือบจะไม่มีเลย
ตัวละคร มีครบทุกตัวตามเนื้อเรื่อง ไม่จำกัดจำนวน

ดนตรี ใช้วงปีพาทย์ จะเป็นเครื่องห้าเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ได้ทั้งนั้น

โรงละคร มีฉากเป็นผ้าม่าน มีประตูเข้าออก ๒ ประตู หลังฉากเป็นที่แต่งตัว และสำหรับให้ตัวละครพัก หน้าฉากเป็นที่แสดงตั้งเตียงกลางหน้าฉาก
มงกุฎกษัตริย์
มงกุฎกษัตริย์
การแต่งกาย เลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ ตัวพระสวมชฎา ตัวนางสวมเครื่องประดับศีรษะตามฐานะ เช่น มงกุฎกษัตรี รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว และกระบังหน้า เสื้อผ้าปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว

การแสดง มีคนบอกบท มีต้นเสียง และลูกคู่สำหรับร้อง บางตอนตัวละครอาจร้องเอง การรำเป็นแบบแคล่วคล่องว่องไวพริ้งเพรา จังหวะของการร้อง และการบรรเลงดนตรี ค่อนข้างเร็ว เวลาเล่นตลกมักเล่นนานๆ ไม่คำนึงถึงการดำเนินเรื่อง และไม่ถือขนบประเพณี เช่น ตัวกษัตริย์หรือมเหสีจะเล่นตลกกับเสนาก็ได้ เริ่มต้นแสดงก็จับเรื่องทีเดียว ไม่มีไหว้ครู
เรื่องที่ละครนอกแสดงได้สนุกสนาน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย บทที่สามัญชนแต่งได้แก่ เรื่องแก้วหน้าม้า ลักษณะวงศ์ และจันทโครพ บทที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย ไชยเชษฐ์ คาวี มณีพิชัย และไกรทอง

ละครใน

ละครใน เป็นละครที่เกิดขึ้นในพระราชฐาน จึงเป็นละครที่มีระเบียบแบบแผน สุภาพ ละครในมีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ รักษาศิลปะของการรำอันสวยงาม รักษาขนบประเพณีเคร่งครัด รักษาความสุภาพทั้งบทร้องและเจรจา เพราะฉะนั้น เพลงร้อง เพลงดนตรี จึงต้องดำเนินจังหวะค่อนข้างช้า เพื่อให้รำได้อ่อนช้อยสวยงาม
รัดเกล้ายอด
รัดเกล้ายอด
ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นวงเครื่องห้าเครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ ก็ได้

โรงมีลักษณะเดียวกับโรงละครนอก แต่มักเรียบร้อยสวยงามกว่าละครนอก เพราะใช้วัสดุที่มีค่ากว่า เนื่องจาก มักจะเป็นละครของเจ้านาย หรือผู้มีฐานะดี

เครื่องแต่งกาย แบบเดียวกับละครนอก แต่ถ้าแสดงเรื่องอิเหนา ตัวพระบางตัวจะสวมศีรษะด้วยปันจุเหร็จในบางตอน (ปันจุเหร็จในสมัยปัจจุบัน มักนำไปใช้ในการแสดงเรื่องอื่นๆ ด้วย)

การแสดง มีคนบอกบท ต้นเสียง ลูกคู่ การร่ายรำสวยงามตามแบบแผน เนื่องจากรักษาขนบประเพณีเคร่งครัด การเล่นตลก จึงเกือบจะไม่มีเลย บทที่แต่งใช้ถ้อยคำสุภาพ คำตลาดจะมีบ้างก็ในตอนที่กล่าวถึงพลเมือง ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ตัวประกอบอาจเป็นผู้ชายบ้าง
รัดเกล้าเปลว
รัดเกล้าเปลว
เรื่องที่ใช้แสดงละครใน แต่ในโบราณมีเพียง ๓ เรื่อง คือ เรื่อง รามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท ภายหลังได้มีเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น เรื่องศกุนตลา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

ละครพันทาง

ละครพันทาง เป็นละครแบบผสม ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงปรับปรุงการแสดงขึ้น มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

ละครพันทางเป็นละครที่แสดงบนเวที เปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง เรื่องตอนนั้นเป็นสถานที่ใด สวน ท้องพระโรง ห้องนอน หรือที่ใด ก็เขียนและจัดให้เป็นสถานที่นั้น
กระบังหน้า
กระบังหน้า
ท่ารำเป็นแบบผสม ละครแบบนี้มักจะแสดงเป็นเรื่องของต่างภาษา เช่น พม่า ลาว แขก จีน ท่ารำก็เป็นท่ารำของชาตินั้นๆ ผสมกับท่ารำไทย เพลงร้อง เพลงดนตรีก็ผสมตามภาษานั้นๆ อาจเป็นเพลงภาษานั้นแท้ๆ หรือที่ไทยแต่งให้เป็นสำเนียงภาษานั้นๆ และอาจมีเพลงไทยแท้ๆ ผสมด้วยก็ได้
เครื่องแต่งตัว เป็นไปตามภาษาของเรื่องที่แสดงนั้น เช่น พม่าก็แต่งเป็นพม่า ลาวก็แต่งเป็นลาว และจีนก็แต่งเป็นจีน

ดนตรีใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม

การแสดง มีทั้งต้นเสียง ลูกคู่ เป็นผู้ร้อง บางตอนตัวละครก็ร้องเอง การรำก็ผสมดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าเรื่องที่แสดงเป็นไทยล้วน ไม่มีภาษาอื่นเลย ก็ใช้ท่ารำไทยผสมกับท่าสามัญชน คือ ท่าทางของคนเรานี้ผสมกับท่ารำ โดยทำให้ท่ารำไม่ถึงขั้นศิลปะของการรำ เมื่อแสดงจบเนื้อเรื่องของฉากหนึ่งแล้ว ก็ปิดม่าน แล้วเปิดม่านแสดงฉากต่อไปทีละฉากจนจบเรื่อง

ผู้แสดง มิได้กำหนดว่า จะเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง แล้วแต่สะดวก เรื่องที่แสดงมักนิยมแสดงเรื่องของต่างภาษา เช่น เรื่องราชาธิราช พระลอ และสามก๊ก เรื่องที่เป็นไทยก็มีเรื่องจำพวกพระราชพงศาวดาร บางตอน เช่น วีรสตรีถลาง คุณหญิงโม
เสื้อผ้าตัวละครปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว
เสื้อผ้าตัวละครปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว
ละครดึกดำบรรพ์

ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครรำที่นำแบบโอเปร่ามาใช้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงปรับปรุงขึ้น เพื่อให้คณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) แสดง ละครดึกดำบรรพ์ มีลักษณะดังต่อไปนี้

การแสดง แสดงบนเวที เปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับละครพันทาง

ท่ารำ ใช้ท่ารำตามแบบแผน แต่ตัดทอนเพิ่มเติม และดัดแปลง ให้พอเหมาะกับเพลงร้อง และเพลงดนตรี
ปันจุเหร็จเพชร ใช้กับตัวเอก
ปันจุเหร็จเพชร ใช้กับตัวเอก
เพลงร้อง และเพลงดนตรี ใช้เพลงไทยของเก่า แต่แก้ไขเปลี่ยนแปลงบางเพลง ให้สั้นยาว พอเหมาะกับการแสดง กับมีเพลงที่พลิกแพลงให้แปลกและไพเราะยิ่งขึ้น รวมทั้ง มีการแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกด้วย
การแสดง ผู้แสดงเป็นผู้ร้องในบทของตนเอง เพราะบทร้องเป็นบทคำพูดของตัวละคร ไม่มีบทบอกชื่อ บอกกิริยา หรือบอกอารมณ์ ของตัวละคร รวมความว่า ตัวละครทุกตัวพูดเป็นเพลง

ดนตรี เป็นวงปี่พาทย์ที่ปรับปรุงขึ้นเป็นพิเศษ มีแต่เครื่องดนตรีที่เสียงทุ้มนุ่มนวล ไม่มีพวกเสียงดัง เสียงสูง เสียงเล็กแหลมเลย คือ ไม่มีกลองทัด ปี่ใน ฆ้องวงเล็ก และระนาดเอกเหล็ก ส่วนระนาดเอกก็ตีด้วยไม้นวม เพื่อให้เสียงนุ่มนวลไม่แกร่งกร้าว มีสิ่งแปลกกว่าวงปี่พาทย์อื่นๆ ก็คือ กลองตะโพน ซึ่งใช้ตะโพน ๒ ลูก เอาเท้าที่ตั้งออกให้เหลือแต่ตัวตะโพน แล้วตั้งหน้าด้านใหญ่ขึ้น ติดข้าวสุกให้เสียงต่ำ ตีแทนกลองทัด ฆ้องชัย (หรือฆ้องหุ่ย) มี ๗ ลูก เทียบเสียงเรียงลำดับกันเป็น ๗ เสียง ตีห่างๆ อนุโลมอย่างเบสส์ของฝรั่ง

ปันจุเหร็จทอง ใช้กับตัวเอกและตัวรอง

ปันจุเหร็จ เครื่องประกอบศรีษะ ใช้ในความหมายแทนผ้าโพก

ปันจุเหร็จเพชรและปันจุเหร็จทอง มิได้แสดงความแตกต่างของฐานะตัวละคร เพียงแต่เลือกใช้ให้เหมาะสม ในแต่ละครั้งเท่านั้น

เรื่องที่แสดง เป็นเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ปรับปรุง จากบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ โดยมาก เช่น คาวี สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย มณีพิชัย และอิเหนา ที่เป็นพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖ ได้แก่ เรื่องศกุนตลา พระเกียรติรถ และท้าวแสนปม และพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณอินทราชัย ก็มีเรื่องพระยศเกตุ จันทกินรี และสองกรวรวิก
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป