การละเล่นในเทศกาลต่างๆ
การละเล่นรื่นเริงในเทศกาลต่างๆ
ที่เล่นกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตั้งแต่โบราณมา
เทศกาลที่มีการละเล่นมากที่สุด น่าจะได้แก่ เทศกาลสงกรานต์
เพราะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ และมีเวลาว่างจากการงาน
ประกอบกับเป็นช่วงหน้าแล้ง ฝนไม่ตก หลังจากทำบุญสุนทานกันในวันนี้แล้ว
ก็มีการละเล่นรื่นเริงสนุกสนาน เด็กๆ มักจะชอบการเล่นกลางแจ้ง
ในเทศกาลนี้เด็กๆ ชอบเล่น การละเล่นที่ออกกำลัง และมีบทร้องประกอบ
ในภาคกลางตามจังหวัดต่างๆ ถึงกับกล่าวกันว่า ถ้าอยากดูการเล่นต่างๆ
ของเด็ก ต้องมาดูในวันสงกรานต์ และที่เห็นเล่นกันมาก
ทั้งเด็กและหนุ่มสาวก็คือ งูกินหาง รีรีข้าวสาร
เพราะมีโอกาสได้แตะต้องเนื้อตัวกัน และมีบทร้องประกอบสนุกสนานอย่างสุภาพ
มีการเล่นแม่ศรี และการละเล่น ประเภทความเชื่อเรื่องเข้าทรงอื่นๆ
นอกจากนั้น ก็มี โค้งตีนเกวียน จ้ำแจ่ว หรือปลาหมอตกกระทะ คล้องช้าง
ไม้หึ่ง จ้องเต (ต้องเต) ฯลฯ ซึ่งเป็นการเล่นกลางแจ้ง
เพราะต้องการที่กว้างจุคนได้มาก
๑. การละเล่นประเภทแข่งขัน แยกออก
เป็นสองฝ่าย ให้ฝ่ายหนึ่งเป็นชายล้วน ฝ่ายหนึ่งเป็นหญิงล้วน เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดแล้ว
ผู้ชนะจะปรับให้ผู้แพ้ร้องรำ จึงเพิ่มความสนุกสนานสมานสามัคคีมากขึ้น เช่น การละเล่นชักชา
ช่วงรำ และสะบ้ารำ เป็นต้น
๒. การละเล่นที่มีบทร้องประกอบ เช่น
การเล่นโยนชิงช้า หรือช้านางหงส์ รำโทน
เป็นต้น
๓. การละเล่นประเภทเพลงพื้นเมือง ได้แก่
เพลงที่เกี่ยวกับงานสงกรานต์
๔.
การเล่นสาดน้ำ การเล่นสาดน้ำมีที่มาจากการนำน้ำไปสรงพระพุทธรูปที่วัด
โดยใช้รางรองรับน้ำ น้ำที่เหลือในขัน ก็นำมาประพรมกันสนุกสนาน
เพราะเป็นหน้าร้อน ที่ภาคอีสานเด็กๆ จะไปรอรับน้ำสรงพระที่ไหลลงมา
เพราะถือว่าเป็นมงคล ต่อมามีการนำน้ำมาประพรมกันเอง จนถึงสาดกัน
การละเล่นประเภทแข่งขัน
ชักชา
วิธีเล่น เหมือนชักเย่อของภาคกลาง หรือยู้สาวของภาคเหนือ แยกเป็นชายฝ่ายหนึ่ง หญิงฝ่ายหนึ่ง ถ้าฝ่ายไหนแพ้ จะต้องถูกปรับให้เป็นฝ่ายรำ
ช่วงรำ
วิธีเล่น เช่นเดียวกับลูกช่วง หญิงฝ่ายหนึ่ง ชายฝ่ายหนึ่ง ผู้แพ้ถูกปรับให้รำ
เพลงรำประกอบการเล่นชักชา หรือช่วงรำ
มักจะใช้เพลง "ระบำ" เพลงระบำนี้ไม่ใช่
"เพลงระบำบ้านไร่" หรือ "เพลงชาวไร่" ซึ่งเป็นเพลงที่แพร่หลายในภาคกลาง
เพลงระบำ
ชาย ๑
ระบำไหนเอย ระบำดอนเตย
อกของพี่จะช้ำ เสียด้วยคำเขาเย้ย
ระบำดอนเตย เขาก็รำงามเอย
ชาย ๒
ระบำไหนเอย ระบำวัดหลวง
เห็นสาวๆ เขาเดินมา ใส่ระย้าตุ้มหูควง
ระบำวัดหลวง เขาก็รำงามเอย
ชาย ๓
ระบำไหนเอย ระบำฟากข้างโน้น
ถ้าน้องมาอยู่เสียกับพี่ ฉันจะให้ขี่เรือโขน
ระบำฟากข้างโน้น เขาก็รำงามเอย
หญิง ๑
ระบำไหนเอย ระบำบ้านกล้วย
รูปร่างอย่างนี้ เผยอจะมีเมียสวย
ระบำบ้านกล้วย เขาก็รำงามเอย
หญิง ๒
ระบำไหนเอย ระบำโพธิ์หัก
ดูยกแขนขึ้นรำ เหมือนหนึ่งด้ามจวัก
ระบำโพธิ์หัก เขาก็รำงามเอย
หญิง ๓
ระบำไหนเอย ระบำวัดโคก
เจ้านุ่งแต่ผ้ายั่นตะนี เจ้าห่มแต่สีดอกโศก
ระบำวัดโคก เขาก็รำงามเอย
สะบ้ารำ
วิธีเล่น เหมือนการเล่นสะบ้า แบ่งเป็นสองฝ่าย ชายฝ่ายหนึ่ง หญิงฝ่ายหนึ่ง การตัดสิน ผู้ชนะปรับให้ผู้แพ้รำตามต้องการ
การเล่นของผู้ใหญ่เพิ่มความสนุกสนานที่การปรับให้รำ
บางคนรำไม่เป็นก็ต้องทำตามกติกา ก่อให้เกิดความขบขัน
โดยเฉพาะสะบ้ารำยังนิยมเล่นกันในวันสงกรานต์ ตามจังหวัดต่างๆ
ที่มีผู้มีเชื้อสายมอญอยู่เป็นส่วนมาก แต่ในกรุงเทพฯ หรือบางจังหวัด
ก็มีการนำสะบ้ารำมาให้ชม เป็นการแสดงอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การละเล่น
ดังแต่ก่อน
เพลงที่ฝ่ายชนะปรับให้รำนั้นบางทีก็ใช้เพลงพื้นเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ไม่จำกัดว่าเป็นเพลงใด
การละเล่นที่มีบทร้องประกอบ
โยนชิงช้าหรือช้านางหงส์
เป็นการละเล่นของภาคกลาง ผู้เล่นหญิงเป็นผู้นั่ง
ชายเป็นผู้แกว่ง ชายเป็นเป็นผู้นั่ง หญิงเป็นผู้แกว่ง จำนวนไม่จำกัด
ให้ชายหญิงมีจำนวนเท่ากับชิงช้า อุปกรณ์การเล่น ได้แก่ เชือกหรือเถาวัลย์
ไม้หรือไม้ไผ่ ขนาดพอนั่งได้ ๑ คน
วิธีเล่น เจาะกระดาน หรือไม้ไผ่สองรู
เอาเชือกร้อยให้ได้ความยาวตามต้องการ ที่จะให้ไกวได้ไกลหรือสูงเท่าใด
แล้วแขวนกับต้นไม้ หรือใต้ถุนเรือน
บทร้องประกอบมีว่า
ต้นบทหญิงร้อง
ช้าเจ้าพระยาหงส์เอย ปีกหงส์หักลง ใครเขาผลักหงส์ลงเข้าในดงเตย ไม่ทันมีทุกข์มียาก
พี่มาจากน้องไปเฉยๆ
รับ
เอ๊ยช้าเจ้าเอย กินนะรินกินนะร่อย เจ้าสร้อยสนเอย เจ้าสร้อยสังวาลมณฑล เจ้างามเฉิดฉินเอย
รับ
ระเนระนาดเอย เอาผ้าไปพาดที่ต้นมะขามโพรง พี่ไปไหนมาดูผ้าตาโถง
รับ
สูงเอย รำระเนระนาดเอย น่ารัก น่าชม น่าสมคะเน เพสลาดพาดอ่อนเอย
ต้นบทชายร้อง
ช้าเจ้าหงส์เอย ปีกพี่ไม่หัก ใครเขาไม่ผลักพี่ลง พี่อยู่ในดงนางแย้ม พี่ขอฝากจมูกของพี่ด้วยเหนอ จะได้ไปเป็นเกลอกับแก้ม
รับ
เอ๊ยช้าเจ้าเอย กินนะรินกินนะร่อย เจ้าสร้อยสนเอย เจ้าสร้อยสังวาลมณฑล เจ้างามเฉิดฉินเอย
หญิง
ระเนระนาดเอย เอาผ้าไปพาดที่ต้นพิกุลพี่ไปไหนมา หรือมาหาหมาที่ใต้ถุน
รับ
สูงเอย รำระเนระนาดเอย น่ารัก น่าชม น่าสมคะเน เพสลาดพาดอ่อนเอย
คัดจากบทโทรทัศน์ "อยู่อย่างไทย" ๒๕๒๐ ของ ดร.บุษกร กาญจนจารี
บทร้องนี้เป็นเพียงตัวอย่างตอนหนึ่งตามเพลงช้านางหงส์
ทำนองเพลงหาผู้ร้องตามแบบโบราณได้ยากแล้ว มีผู้ทราบในขณะนี้คือ นายธนิต
อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
สิกจุ่งจา หรือเล่นชิงช้า
สิกจุ่งจาเป็นการละเล่นของภาคเหนือ ผู้เล่นมีกี่คนก็ได้ ตามจำนวนชิงช้าที่มี หากผู้เล่นมากกว่าชิงช้าที่มี ก็อาจจะเปลี่ยนกันเล่น
อุปกรณ์การเล่น ชิงช้าทำด้วยเชือกเส้นเดียว
สอดเข้าไปในรูกระบอกไม้ซาง แล้วผูกปลายเชือกทั้งสองไว้กับต้นไม้ หรือพื้นเรือน
วิธีเล่น แกว่งชิงช้าไปมาให้สูงมากๆ
บทร้องประกอบ ผู้เล่นจะร้องตามจังหวะที่ชิงช้าแกว่งไกวไปมา ดังนี้
"สิกจุ่งจา อีหล้าจุ่งจ๊อย ขึ้นดอยน้อย
ขึ้นดอยหลวง เก็บผักขี้ขวง ใส่ซ้าทังลุ่ม เก็บ
ฝักกุ่ม ใส่ซ้าทั้งสน เจ้านายตน มาปะคนหนึ่ง
ตีตึ่งตึง หื้ออย่าสาวฟังควักขี้ดัง หื้ออย่าสาวจูบ
แปงตูบน้อย หื้ออย่าสาวนอน ขี้ผองขอน หื้อ
อย่าสาวไหว้ ร้อยดอกไม้ หื้ออย่าสาวเหน็บ
จักเข็บขบหู ปูหนีบข้าง ช้างไล่แทง แมงแกง
ขบเขี้ยว เงี้ยวไล่แทง ตกขุมแมงดิน ตีฆ้องโม่งๆ"
บทร้องมีความหมายว่า
ในการเล่นชิงช้า ลูกสาวน้อยควรจะร้องเพลง ไม่ว่าลูกจะไปที่ใดก็ตาม
สิ่งที่อยู่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินควรเก็บไว้ข้างล่าง
สิ่งที่อยู่สูงควรวางไว้ข้างบน มีเจ้านายคนหนึ่งมาพบคนธรรมดาคนหนึ่ง
เขาเล้าโลมให้หญิงสาวคนธรรมดานั้นหลงใหล
แล้วยื่นความรักที่เป็นกากเดนแก่สาวนั้น สร้างกระท่อมหลังเล็กๆ ให้อยู่
ให้สาวเคารพบูชาความเลวของเขา
ให้สาวแต่สิ่งที่เหลือเศษเหลือเดน มันเจ็บปวดยิ่งนัก
มันน่ากลัว และน่าหนีให้พ้น อยู่ไปก็เหมือนกับตกขุมแมงมัน คนทั่วๆ ไป
สมน้ำหน้า และเยาะเย้ย
ข้อสังเกต การเล่นชนิดนี้ให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลิน
และฝึกทักษะในการร้องเพลง ลีลาการร้อง และเนื้อหาตอนต้น เหมาะกับจังหวะไกวขึ้นลงของชิงช้า
ทำให้เกิดความสนุกสนานในการร้องเข้าจังหวะ
เนื้อหาของเพลงให้คติในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักประมาณตน
แล้วโยงมาเป็นการเล่าเรื่องทำนองสอนใจผู้หญิง ให้รู้จักรักนวลสงวนตัว
อย่าหลงคนง่าย โดยดูแต่ลักษณะภายนอกของเขา
เพราะจะได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจ และอับอายในภายหลัง
ในบทเพลงมีการเปรียบเทียบ ยกตัวอย่าง ทำให้เข้าใจแง่คิดที่แทรกไว้ดีขึ้น
การละเล่นประเภทเพลงพื้นเมือง
เพลงแห่ดอกไม้
หลังจากทำบุญที่วัด หนุ่มสาวจะพากันไปเก็บดอกไม้ป่ามาบูชาพระ
ในระหว่างทางที่เดินจะร้องเพลงโต้ตอบกัน เรียกว่า "เพลงแห่ดอกไม้"
ในปัจจุบันนี้ ไม่พบว่ามีที่ไหนแล้ว มีกล่าวไว้ในเรื่อง
"ประเพณีเนื่องในเทศกาล" ของเสฐียรโกเศศ
เพลงพิษฐาน
หลังจากเก็บดอกไม้แล้ว จะนำดอกไม้ไปบูชาพระพุทธรูปในโบสถ์ หรือที่เจดีย์ แล้วอธิษฐาน โดยฝ่ายชายจะขึ้นก่อนดังตัวอย่างต่อไปนี้
๑) พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน ถือพานดอกชะบา (ลูกคู่รับ)
เกิดชาติใดแสนใด ขอให้ได้กับพวกทำนา (ลูกคู่รับ) พิษฐานวานไหว้
ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย
๒) พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน ถือพานนมแมว (ลูกคู่รับ)
เกิดชาติใดแสนใด ขออย่าให้ได้กับพวกบ้านแพ้ว (ลูกคู่รับ) พิษฐานวานไหว้
ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย
การร้องแก้กันนั้นอยู่ที่ความมีไหวพริบในการหาชื่อดอกไม้มาให้ตรงกับชื่อคน
หรือชื่อสถานที่ที่ผู้นั้นอยู่ คำว่า "พิษฐาน" คงกลายมาจาก "อธิษฐาน"
บางจังหวัดก็มีข้องความยาวบ้าง สั้นบ้างแตกต่างกันออกไป เพลงนี้ยังเล่นกันอยู่มาก แม้ไม่ใช่เทศกาลสงกรานต์
เพลงพวงมาลัย
ในเทศกาลสงกรานต์ยังนิยมเล่นกันมากในภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี
เพชรบุรี มีลักษณะแปลกกว่าเพลงโต้ตอบอื่น คือ ต้องขึ้นต้นด้วย "เอ้อระเหยลอยมา หรือ เอ้อระเหย ลอยไป"
ส่วนกลอนก็เป็นกลอนหัวเดียว คือ ลงสัมผัสสระเดียวกันทุกคำกลอน ไม่จำกัดว่า
จะมีกี่คำ มีลูกคู่รับกระทุ้งท้ายคำเป็นที่สนุกสนาน
ไม่เฉพาะแต่สงกรานต์เท่านั้น เนื้อความก็เปลี่ยนไปตามแต่ผู้เล่นต้องการ
เพลงเหย่อยหรือเพลงพาดผ้า
เพลงเหย่อยนี้มีเล่นกันมากที่บ้านพนมทวน
จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เล่นต้องมีผ้าไปคล้องฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายชายจะเชิญฝ่ายหญิงออกมาเล่น
ใช้กลองยาวเป็นเครื่องดนตรีประกอบ
|
การเล่นเพลงเหย่อยหรือเพลงพาดผ้า |
การละเล่นประเภทเพลงพื้นเมืองต่างๆ ที่เล่นกันในเทศกาลต่างๆ นั้น
ความสนุกสนานอยู่ที่ตัวผู้เล่น เกิดความสนุกสนาน จากการประคารมกัน
ทำให้เกิดความคิด ความว่องไวในการนำสภาพความเป็นอยู่มาเป็นเนื้อหา
และใช้ปฏิภาณทางภาษา มาโต้ตอบกัน
จึงเป็นการเล่นที่แสดงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างดี
นักวิชาการจึงได้รวบรวมการเล่นในโอกาสต่างๆ
ของแต่ละท้องถิ่นเป็นการละเล่นพื้นเมือง ซึ่งบางคนเกรงว่า
จะค่อยสูญหายไปตามสภาพของสังคม การละเล่นเหล่านี้ไม่น่าจะสูญไป
ถ้ารู้จักเผยแพร่ให้ถูกวิธี คือ ให้คงอยู่ในรูปลักษณ์ของการละเล่นต่อไป
ไม่ใช่นำมาแสดงให้ผู้อื่นดู ต้องฝึกให้ผู้เล่นสนุกในการเล่น
ด้วยความสมัครใจ และต้องมีความไวทันต่อเหตุการณ์ การละเล่นของไทย
ก็คงจะสืบทอดต่อไปได้ และให้ประโยชน์หลายทาง
การแห่นางสงกรานต์
การละเล่นที่นิยมกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การละเล่นในขบวนแห่นางสงกรานต์
ซึ่งแต่ละปีเชื่อกันว่า มีนางสงกรานต์หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป นางสงกรานต์ทัดดอกไม้
มีภักษาหาร และทรงพาหนะต่างกัน
เป็นความเชื่อของคนโบราณ ในการทำนายเหตุการณ์บ้านเมือง ว่าจะข้าวยากหมากแพง
หรือฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่
|
ขบวนแห่นางสงกรานต์ |
ในขบวนแห่จะมีการเล่นพื้นเมืองที่ไม่มีบทร้องประกอบ เช่น ภาคกลางมีเถิดเทิง ตุ๊กตาหัวโต ฯลฯ ภาคเหนือมีฟ้อน ฯลฯ เป็นต้น
การแห่นางสงกรานต์ค่อยๆ กลายเป็นการประกวดรถต่างๆ
มีนางสงกรานต์ประจำรถ ต่อมา กลายเป็นการประกวดนางสงกรานต์บนเวที เช่นเดียวกับการประกวดนางงาม การละเล่นต่างๆ จึงได้แยกออกไปต่างหาก
ภาคเหนือ
มีการแห่บอกไฟ (กระบอก)
ในบางจังหวัด เช่น จังหวัดน่าน (เซิ้งบ้องไฟ
ภาคอีสานนั้นมีในเดือนหก) ความสนุกสนานอยู่ที่การทำบอกไฟให้ยิงได้สูง ใครสูงที่สุดก็มี
ชื่อเสียง
ภาคใต้
มีการเล่นมโนห์รา เพลงบอก (บอกศักราช)
การละเล่นในเทศกาลอื่นๆ
เทศกาลบวชนาค
ในการบวชนาคในสมัยก่อน มีการแห่นาคจากบ้านไปวัด เวียนรอบโบสถ์ ก่อนเข้าโบสถ์
ในปัจจุบันยังมีอยู่ในชนบทเป็นต้น ส่วนมากในภาคกลาง ภาคเหนือ
ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีขบวนแห่งลูกแก้ว (ส่างลอง) คือ บวชเณรเป็นพิธีใหญ่
ในขบวนแห่งแต่ละภาค จะมีการเล่นพื้นเมือง สุดแต่จะเลือกมา
ในภาคกลางมีเพลงแห่นาคร้องรำกันระหว่างทางที่ขบวนแห่งนาคไปโบสถ์ ตัวอย่าง เพลงแห่นาค |
ขบวนแห่ลูกแก้วหรือส่างลอง | บวชเสียเถิดพ่อกำเอยพร้า
ถ้าพ่อเวียนโบสถ์สามรอบ
แล้วเข้าในขอบเสมา
พ่อนาคตั้งใจวันทาไปเสียเถิดเอย |
เทศกาลเข้าพรรษา สารท ออกพรรษา ทอดกฐิน ลอยกระทง
เทศกาลต่างๆ เหล่านี้ ข้อสำคัญอยู่ที่ การทำบุญ และมีการจัดขบวนแห่ตามเทศกาล
เช่น แห่เทียนพรรษา แห่องค์กฐิน แห่งกระทง (ต่อมามีนางนพมาศด้วย) ฯลฯ
การละเล่นจะมีแทรกอยู่ในขบวน เช่น เล่นเพลงเรือ เถิดเทิง กระตั้วแทงเสือ
ซึ่งเลียนแบบการละเล่น ของหลวง คือ กระอั้วแทงควาย เป็นต้น
ภาคใต้ถืองานเทศกาลที่สำคัญคือ สารท และงานชักพระเดือนสิบสอง
เทศกาลงานไหว้พระ
เดินสิบสองในภาคกลางจะมีงานไหว้พระที่สำคัญ ที่ประชาชนนับถือมาก เช่น
พระปฐมเจดีย์ (นครปฐม) ภูเขาทอง (กรุงเทพฯ) พระเจดีย์กลางน้ำ
(สมุทรปราการ) หลวงพ่อวัดโสธร (ฉะเชิงเทรา) ฯลฯ
ด้วยเหตุที่ภาคกลางมีการคมนาคมทางน้ำสะดวก
เมื่อน้ำเต็มฝั่งเทศกาลนี้ นอกจากมีงานออกร้านแล้ว ยังมีการละเล่นพื้นเมือง
คือ เพลงเรือ ซึ่งเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย บางทีมีการโต้กันระหว่างจังหวัด
เช่น สุพรรณบุรีกับอยุธยา อ่างทองกับสิงห์บุรี ตัวอย่างเพลงเรือ
พอเหลือบชม้ายเห็นสายสมร
อยู่ที่ฝั่งสาครน้ำเชี่ยว
ไม่มีชายใดจะกรายจะกล้ำ
เห็นแม่ลอยลำอยู่ลำเดียว
ขอเชิญแม่พุ่มมาลาหันหน้ามาเหลียว
น้องจะว่าพี่เกี้ยวเลยเอย
(ลูกคู่ร้องซ้ำวรรคท้าย แล้วลงด้วย "ฮ้าไฮ้เชี้ยบ เชี้ยบ เชี้ยบ")
|