|
เด็กๆ ลองนึกถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ว่ามีอะไรบ้าง
บางคนอาจนึกถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดก่อน เช่น เพื่อนสนิท
สัตว์ที่เลี้ยงไว้ หรือต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบ้าน
แต่เด็กบางคนอาจจะนึกไปถึงสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์
ตู้เย็น และบางคนอาจนึกถึง ดิน น้ำ อากาศ หรือโรงงานต่างๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้ทั้งสิ้น
|
|
และถ้าจะถามต่อไปว่า ที่กล่าวกันว่า สิ่งแวดล้อมเสีย หรือเป็นพิษนั้น เด็กๆ เข้าใจกันอย่างไร
เด็กแต่ละคน ก็อาจจะนึกถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป เช่น
บางคนอาจจะนึกถึงน้ำในแม่น้ำลำคลองที่เน่าเสีย น้ำขุ่นข้น ด้วยโคลนตม
และขยะมากมาย จะใช้อาบ หรือใช้ดื่มกินเหมือนแต่ก่อนนั้นไม่ได้
บางคนอาจจะบอกว่า ปัจจุบันดินที่ใช้ปลูกพืชนั้นเสีย
เพาะปลูกพืชก็ไม่เจริญเติบโต เด็กบางคนอาจจะนึกถึงอากาศที่หายใจ
ในชุมชนที่แออัด ไม่สดชื่นเหมือนในชนบทในที่ที่มีทุ่งนา ป่าเขา โล่งกว้าง
ที่มีผู้คนอยู่กันไม่มากนัก เพราะกลิ่นที่ไม่สดชื่นนั้น
มีกลิ่นเหม็นของขยะที่มนุษย์นำมากองสุมกันไว้
และยังมีกลิ่นเหม็นจากควันรถยนต์ และจักรยานยนต์
นอกจากนั้นก็มีเขม่าและควันไฟจากปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมอีกมากมาย
เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา |
|
คงยังจำกันได้ถึงน้ำท่วม และลมพายุในภาคใต้ ซึ่งทำให้ผู้คน
ตลอดจนวัว ควาย สัตว์เลี้ยง ล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยพลิกคว่ำ และเรือกสวนไร่นาล่มเสียหาย
ครั้น พ.ศ. ๒๕๓๓ น้ำไหลบ่ามาท่วมภาคกลางเป็นเวลานาน ทำลายบ้านเรือน ถนนหนทาง สะพาน และพืชผัก ตลอดจนข้าวปลาอาหาร |
|
น้ำมากมายมหาศาลนี้มาจากไหน ทำไมจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
และลมพายุแรงที่ไม่เคยพบเคยเห็นอีกเล่า
หรือเป็นเพราะเราช่วยกันตัดไม้ทำลายป่า
และทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษคนละไม้คนละมือ คำตอบ ก็คือว่า ป่าไม้ที่หายไป
และพิษภัยในสิ่งแวดล้อมเริ่มแสดงผล
เป็นปัญหาในวงกว้างเกินกว่าที่เคยคิดกันไว้ ไกลจากตัวเราออกไป
กระทบต่อเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมโลก และย้อนกลับมากระทบตัวเราด้วยในที่สุด |
|
มนุษย์เรายังช่วยกันสร้างมลพิษขึ้นมา
จนกระทั่งทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติให้เสียไปใช่หรือไม่ ถ้าใช่
แล้วใครจะเป็นผู้แก้ไขสภาพแวดล้อมที่เสียไป ให้กลับคืนสู่สภาพที่ดีขึ้นได้
คำตอบ ที่ทำได้ และทำง่ายที่สุดก็คือ
เด็กทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้
จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษลดลงได้มากในวันข้างหน้า
ถ้าเด็กทุกคนเห็นด้วย พร้อมและเต็มใจที่จะช่วยกันลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม
จงปฏิบัติดังต่อไปนี้ |
|
๑. ช่วยกันปลูกต้นไม้และดูแลรักษาต้นไม้ในบริเวณบ้าน
โรงเรียน สวนสาธารณะ และตามถนนหนทางทั่วไป
๒. ทิ้งขยะให้เป็นที่ คือ ทิ้งลงในถังขยะ ไม่ทิ้งลงในแม่น้ำ
ลำคลอง และจงกำจัดขยะให้ถูกวิธี |
|
๓. ใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด อย่าเปิดไฟฟ้าทิ้งไว้ หรือใช้เกินจำเป็น
เพราะมีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับบางประการมาสู่สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ได้เช่นกัน |
|
๔. เลือกใช้ของอย่างประหยัด เพราะนอกจากต้องซื้อหามาแล้ว
ในการผลิตยังใช้พลังงานอีกไม่น้อย เมื่อทิ้งขว้างก็กลายเป็นของเสีย
เกิดพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นจนจบ
จึงควรคิดให้รอบคอบเสียก่อนทุกคราวไป
ดังนั้นขวดแก้วใส่น้ำหวานได้หลายต่อหลายครั้ง จึงดีกว่ากระป๋อง
เพราะเราทิ้งกระป๋องเป็นขยะทุกครั้ง แต่เราเอาขวดมาล้างแล้วใช้ใหม่ได้ |
|
๕. ชักชวนกันใช้ของธรรมชาติ เช่น ใบตอง
ดีกว่าของทำเทียมขึ้นมา ซึ่งได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องโฟมเก็บความร้อน
หรือความเย็น เพราะช่วยลดสิ่งแวดล้อมในระหว่างการผลิต และเมื่อทิ้งเป็นขยะ
๖. ควบคุมการผลิต และการใช้สารมลพิษ ซึ่งมีผลกว้างไกล
เช่น น้ำยาบางชนิดในเครื่องทำความเย็น น้ำยาดับเพลิงแบบใหม่
(ฮาลอน) เป็นต้น
|
|
นอกจากตัวอย่างต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขอให้เด็กๆ
จงช่วยกันคิดพิจารณาว่า ยังมีอะไรอีกบ้างที่เป็นสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นพิษต่อมวลมนุษยโลก และขอให้คิดก้าวไกลต่อไปอีกว่า เด็กๆ จะช่วยกัน
อย่างไร ที่จะลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
เพื่อประชากรของโลกจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
|