สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 15
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๕ / เรื่องที่ ๔ ไม้สัก / กิจการป่าไม้สักในอดีต
กิจการป่าไม้สักในอดีต
ซุงไม้สักมาติดขัดและทับถมที่สะพานรัชฎาภิเษก จ.ลำปางในปีพ.ศ. ๒๔๖๔
ไม้สักที่ชักลากออกจากป่าและบรรทุกโดยรถไฟ |
กิจการป่าไม้สักในอดีต
กิจการป่าไม้ หรือวิชาการด้านป่าไม้ในประเทศไทย
อาจกล่าวได้ว่า ได้เริ่มต้น และพัฒนามาจากการทำไม้ หรือการตัดฟันชักลากไม้สัก
ในทางภาคเหนือของประเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๘๓ โดยมีชาวจีน พม่า
และเงี้ยว (ไทยใหญ่) ขออนุญาตจากเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในหัวเมืองทางเหนือ
ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ให้เข้าไปตัดฟันไม้สักออกจากป่า
โดยเสียเงินค่า "ตอไม้" ให้แก่เจ้าผู้ครองนคร ที่เป็นเจ้าของป่า
หลักจากที่รัฐบาลไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty)
เพื่อการติดต่อค้าขายกับอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ชาวอังกฤษ และคนในบังคับ
ได้แก่ พม่า เงี้ยว และมอญ ได้เข้ามาร่วมดำเนินกิจการทำไม้สักมากขึ้น
บริษัทบริติช บอร์เนียว (British Borneo Company,Ltd.)
เข้ามาเริ่มดำเนินกิจการป่าไม้ในประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๐๗
โดยรับซื้อไม้จากพวกที่ทำไม้อยู่ก่อนแล้ว ในพ.ศ. ๒๔๒๕ กับตันแอช เอ็น แอน
เดอร์เซน (Captain H.N. Andersen)
กัปตันเรือชาวเดนมาร์ก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกัปตันเรือสำเภา
บรรทุกสินค้าระหว่างประเทศของไทยในรัชกาลที่ ๔ ชื่อเรือ "ทูลกระหม่อม"
ได้บรรทุกไม้สักจากไทยไปขายยังเมืองลิเวิอร์พูล (Liverpool)
ประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรก
ปรากฏว่า ไม้สักที่บรรทุกไปขายได้ราคาดีมาก และหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว
ได้กำไรมากกว่าร้อยละ ๑๐๐
ทำให้เป็นที่เลื่องลือกันในตลาดยุโรป ถึงความงดงามของไม้สักชั้นดีจากเมืองไทย จึงได้มีบริษัทต่างๆ
ในยุโรปสั่งจองซื้อไม้สักจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ใน พ.ศ. ๒๔๒๖
รัฐบาลไทยได้เริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทยได้
และในช่วงเวลาเดียวกันคือ หลังจาก พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา พม่าก็ได้ปิดป่าสัก
ไม่ให้มีการทำไม้
เนื่องจากสภาพป่าสักเสื่อมโทรมลงมากจากการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ
ความต้องการไม้สักในหมู่ประเทศยุโรปจึงมีมากขึ้น
ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มเข้ามาลงทุนทำไม้สักเพิ่มขึ้น
บริษัทบริดิซบอร์เนียว ได้รับสัมปทานทำไม้สักใน พ.ศ. ๒๔๓๒
บริษัทบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burma Trading Corporation,Ltd.)
ของอังกฤษ ซึ่งเป็นใหญ่และมีอิทธิพลมากในประเทศพม่า เข้ามาใน พ.ศ. ๒๔๓๒
ต่อจากนั้นก็มีบริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest Company,Ltd.)
หรือบริษัทแองโกลไทย จำกัด ในปัจจุบัน บริษัทอีสต์เอเชียติค (East Asiatic
Co.) ของเดนมาร์ก ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ บริษัทหลุยส์ตีเลียงโนเวนส์ (Louis
t.Leonowens Ltd.) ซึ่งแยกมาจากบริษัทบริดิซบอร์เนียวใน พ.ศ. ๒๔๓๙
ต่อมามีบริษัทของคนไทย คือ บริษัทล่ำซำ และบริษัทกิมเซ่งหลี
ได้รับสัมปทานทำไม้สักจากป่าต่างๆ จากเจ้าเมืองเพิ่มขึ้น
การทำไม้สักจึงได้ขยายออกไปถึงจังหวัดอื่นๆ ที่มีไม้สักอยู่
การได้สัมปทานทำไม้สักเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแก่งแย่งการทำไม้
ในแต่ละแปลงสัมปทานมีการขัดผลประโยชน์ระหว่างบริษัทต่อบริษัท
และบริษัทต่อเจ้าเมืองต่างๆ จึงเกิดเรื่องร้องทุกข์
และฟ้องร้องไปยังรัฐบาลอยู่บ่อยๆ ใน พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๓๙
รัฐบาลจึงได้จ้างผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ชาวอังกฤษ ซึ่งมาสำรวจ
และวางโครงการการจัดการป่าไม้ในประเทศพม่าให้แก่รัฐบาลอังกฤษ ชื่อ มร.เอช
สเลด (H.Slade) มาสำรวจการทำไม้ และปัญหาต่างๆ
ในการให้สัมปทานทำไม้แก่บริษัทต่างๆ ในภาคเหนือของประเทศ ในวันที่ ๑๘
กันยายน ๒๔๓๙ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น
มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่
(ตัวอาคารที่ทำการสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ปัจจุบัน) ในขั้นแรกกรมป่าไม้
ขึ้นกันกระทรวงมหาดไทย มร.เอช สเลด เป็นเจ้ากรม
หรืออธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของประเทศไทย
มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองป่าไม้บำรุงส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของป่า
และจัดวางโครงการการจัดการป่าไม้ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ใน พ.ศ.
๒๔๔๐-๒๔๔๓ รัฐบาลได้ดำเนินการเจรจา และได้รับโอนกรรมสิทธิ์พื้นที่
และการอนุญาตให้สัมปทานทำไม้จากเจ้าเมืองต่างๆ ให้มาเป็นสมบัติของแผ่นดิน
เพื่อที่รัฐบาลจะได้ดำเนินกิจการป่าไม้สักเอง
รัฐบาลได้ยินยอมจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าตอไม้
กึ่งหนึ่งของที่เก็บได้ทุกปีให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เคยได้รับอยู่
จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ และกฎหมายป่าไม้ต่างๆ
เกี่ยวกับระเบียบการทำไม้ การป้องกันรักษาป่าไม้ การตั้งด่านภาษีเป็นต้น
ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาอนุญาตทำป่าไม้สักกับบริษัทต่างๆ ให้รัดกุม
เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และถูกต้องตามหลักวิชาการมากยิ่งขึ้น
ทั้งให้ทำสัญญาอนุญาตทำไม้สัญญาละ ๖-๑๒ ปี
ต่อมาได้ขยายเวลาสัญญาออกเป็นสัญญาละ ๑๕ ปี
ตามหลักการจัดการป่าสักโดยวางโครงการตัดฟัน ๓๐ ปี เริ่มต้นใน พ.ศ. ๒๔๕๑
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ย้ายที่ทำการกรมป่าไม้
จากจังหวัดเชียงใหม่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ และได้ย้ายสังกัดจากกระทรวงมหาดไทย
ไปขึ้นกับกระทรวงเกษตรธิการ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๖๔
ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔
รัฐบาลไทยได้เพิกถอนสัมปทานการทำไม้สักจากบริษัทอังกฤษทั้ง ๔ บริษัท
ด้วยเหตุผลทางการเมือง และเพื่อพยุงฐานะทางการเงินของรัฐบาล
รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทไม้ไทยจำกัดขึ้น รับช่วงการทำไม้แทน
หลังสงครามโลกใน พ.ศ. ๒๔๘๙
รัฐบาลจำเป็นต้องคืนสัมปทานป่าสักให้แก่บริษัททำไม้ต่างๆ ที่ยึดคืนมา
และได้จัดตั้งองค์การอุตาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ขึ้น แทนบริษัทไม้ไทยจำกัดใน
พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อดำเนินกิจการด้านป่าไม้ให้แก่รัฐบาล จนกระทั่ง พ.ศ.
๒๔๙๗-๒๔๙๘ สัมปทานป่าสักของบริษัทต่างๆ ได้สิ้นสุดลง และไม่ได้รับต่อสัญญา
รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทป่าไม้ร่วมทุนขึ้น
โดยรวมทุนจากบริษัททำไม้ที่หมดสัมปทานทั้ง ๕
บริษัทเข้าด้วยกัน โดยรัฐบาลไทยถือหุ้นร้อยละ ๒๐
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งบริษัทป่าไม้จังหวัดขึ้น
เพื่อรับทำไม้ในท้องที่จังหวัดนั้นๆ ป่าสักได้ถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ
ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ทำหนึ่งส่วน บริษัทป่าไม้ร่วมทุนหนึ่งส่วน
และบริษัทป่าไม้จังหวัดอีกหนึ่งส่วน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อหมดสัมปทาน
รัฐบาลจึงได้มอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
เป็นผู้ดำเนินกิจการทำไม้สักทั้งหมด
ยกเว้นสัมปทานป่าสักของเอชนที่อายุสัญญายังเหลืออยู่ บริษัททำไม้ต่างชาติ
ทั้ง ๕ บริษัทก็ได้ปิดกิจการลง
|
|