สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 15
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๕ / เรื่องที่ ๖ ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ / การสำรวจและจัดทำทะเบียนแหล่งชุมชนโบราณในประเทศไทย
การสำรวจและจัดทำทะเบียนแหล่งชุมชนโบราณในประเทศไทย
 กล้องที่ใช้ศึกษารายละเอียดแหล่งชุมชนจากภาพถ่ายทางอากาศ |
การสำรวจและจัดทำทะเบียนแหล่งชุมชนโบราณในประเทศไทย
ตามที่ได้เคยปฏิบัติกันมา
การสำรวจค้นหาแหล่งโบราณสถาน และโบราณวัตถุ
ต้องอาศัยผู้คนในท้องถิ่นเป็นผู้พบเห็นมาก่อน มาบอกให้ทราบ
นักโบราณคดีจึงทำการสำรวจ และศึกษารายละเอียดในภายหลัง สำหรับประเทศไทย
ซึ่งมีการบินถ่ายภาพทางอากาศไว้แล้วทั่วทั้งประเทศ
โดยอาศัยหลักฐานที่เป็นคูคันดินล้อมรอบ หรือที่เป็นสระน้ำบาราย
ปรากฎให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าว ผู้ศึกษาสามารถนำมาช่วยในการกำหนดบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนโบราณได้
ช่วยประหยัดได้ทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย
และไม่ต้องรอให้มีการค้นพบบนพื้นดินเสียก่อน จากนั้นจึงทำการสำรวจ
และขุดค้นหาโบราณสถาน ที่เป็นอาคาร หรือโบราณวัตถุที่ถูกฝังจมดินในภายหลัง
การใช้ภาพถ่ายทางอากาศในการช่วยสำรวจแหล่งชุมชนโบราณ
ยังช่วยให้ทราบถึงลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมของชุมชน
ตลอดจนร่องรอยแหล่งน้ำ คูคลอง ที่คนในอดีตสร้างขึ้นอีกด้วย ผู้เขียน
และคณะวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในประเทศไทย
โดยอาศัยหลักฐานที่เป็นคูน้ำคันดินล้อมรอบ
หรือหลักฐานที่เป็นสระน้ำบารายขนาดใหญ่ และได้นำมารวบรวมจัดทำ
เป็นทะเบียนแหล่งชุมชนโบราณในประเทศไทย โดยตลอดทั่วทั้งประเทศ มีจำนวน
๑,๒๐๘ แห่ง ทำเป็นแผนที่แสดงแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณทั้งประเทศ
และแผนที่แสดงแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณเป็นรายจังหวัด
แหล่งชุมชนโบราณแต่ละแห่ง ได้รับการจัดทำรายละเอียดของคูคันดิน
และสระน้ำบาราย ด้วยแผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศ
การจัดทำทะเบียนแหล่งชุมชนโบราณนี้ ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการสำรวจ
และเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนดำเนินงาน ในด้านการอนุรักษ์
และพัฒนาแหล่งชุมชนโบราณ ตลอดจนการศึกษาวิจัยในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี
|
|