สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 15
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๕ / เรื่องที่ ๖ ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ / ขนาดพื้นที่บริเวณชุมชนโบราณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ
ขนาดพื้นที่บริเวณชุมชนโบราณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ
ขนาดพื้นที่บริเวณชุมชนโบราณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ
เมื่อกล่าวถึงชุมชน
หรือบ้านเมืองใด นอกจากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมา และความสำคัญแล้ว
ข้อมูลที่น่าสนใจศึกษาคือ ขนาดของชุมชน
โดยทั่วไปเราใช้จำนวนประชากรเป็นการบอกขนาด ความเล็กใหญ่ของชุมชน
ขนาดของพื้นที่จะเป็นสัดส่วนตามกันไปกับจำนวนประชากร
ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก ก็จะมีพื้นที่กว้างใหญ่
ในทำนองเดียวกัน ชุมชนขนาดเล็กก็มีพื้นที่ขนาดเล็ก
สำหรับชุมชนโบราณที่มีคูคันดินล้อมรอบนั้น
เป็นการยากลำบากที่จะทราบถึงจำนวนประชากรที่แน่นอน
อย่างไรก็ตามการศึกษาสำรวจรังวัดให้ทราบขนาดของพื้นที่
ก็อาจจะสะท้อนให้ทราบถึงขนาดของชุมชนได้
เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดขนาดของชุมชน
โดยขนาดของพื้นที่เป็นมาตรฐานมาก่อน
นักโบราณคดีจึงได้ศึกษาขนาดพื้นที่บริเวณที่มีคูคันดินล้อมรอบทั่วทั้งประเทศ
จำนวน ๘๙๖ แห่ง โดยใช้ภาพถ่ายทาง อากาศ
 จำนวนแหล่งชุมชนโบราณทุกช่วงขนาด ๕๐ ไร่
เราพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนพื้นที่
และจำนวนแหล่งชุมชนโบราณนั้น
จำนวนแหล่งชุมชนโบราณเป็นปฏิภาคกลับกันกับขนาดของพื้นที่
ชุมชนโบราณที่มีขนาดพื้นที่เล็ก จะมีจำนวนมาก
และชุมชนโบราณที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ จะมีจำนวนน้อย
ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของชุมชนทั่วไป
และจากลักษณะการกระจายตัวตามความสัมพันธ์ดังกล่าว
ช่วยให้กำหนดขนาดของชุมชนตามขนาดของพื้นที่ได้ ดังนี้
๑) ชุมชนขนาดเล็กมาก มีขนาดพื้นที่เล็กกว่า ๘๐ ไร่
สำรวจพบจำนวน ๒๘๒ แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ ๓๒.๔ ของจำนวนทั้งหมด
๒) ชุมชนขนาดเล็ก มีขนาดพื้นที่ระหว่าง ๘๐-๒๐๐ ไร่
สำรวจพบจำนวน ๒๗๙ แห่งหรือประมาณร้อยละ ๓๒.๑ ของจำนวนทั้งหมด
๓) ชุมชนขนาดกลาง มีขนาดพื้นที่ระหว่าง ๒๐๐-๔๐๐ ไร่
สำรวจพบจำนวน ๑๖๔ แห่งหรือประมาณร้อยละ ๑๘.๙ ของจำนวนทั้งหมด
๔) ชุมชนขนาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่มากกว่า ๔๐๐ ไร่
สำรวจพบจำนวน ๑๔๔ แห่ง หรือประมาณร้อยละ๑๖.๖ ของจำนวนทั้งหมด
 แผนที่แสดงแนวคูคันดินจากกำแพงเพชรถึงสวรรคโลก
(ศรีสัชนาลัย) ซึ่งเชื่อกันมาก่อนว่า เป็นถนน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ
เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช
ได้เสด็จพระราชดำเนินสำรวจด้วยพระองค์เอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ การกำหนดขนาดพื้นที่ชุมชนโบราณดังกล่าว
เป็นการกำหนดขนาดในขั้นต้นสำหรับใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน
เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนโบราณในภาพรวม
การนำขนาดพื้นที่ไปศึกษาร่วมกับข้อมูลประวัติศาสตร์โบราณคดีด้านอื่นๆ
จะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ของขนาดพื้นที่ชุมชนโบราณมากขึ้น
ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียดให้เข้าใจ
ถึงความสำคัญของขนาดพื้นที่บริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ
แต่จากหลักฐานในเบื้องต้น ก็พอจะทำให้เราเข้าใจว่า
แหล่งชุมชนโบราณที่มีขนาดพื้นที่จัดอยู่ในประเภทชุมชนโบราณขนาดใหญ่
มักพบว่า เป็นเมืองที่มีความสำคัญ
ซึ่งได้กล่าวถึง และรู้จักกันดีในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
ทั้งได้มีการสำรวจพบโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่แสดงว่า เคยเป็นเมืองสำคัญมาก่อน
|
|