วิธีบันทึกลายลักษณ์อักษรลงในจารึก
วัตถุที่ใช้ทำจารึกมีหลายชนิด แต่มีลักษณะร่วมกันคือ แข็งแรง คงทนถาวร
ฉะนั้นการบันทึกลายลักษณ์อักษรลงบนจารึก
จึงต้องใช้เครื่องมือต่างกันไป ตามชนิดของวัตถุที่นำมาใช้ทำจารึก แต่เครื่องมือนั้นต้องมีส่วนที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ
ความแข็งแรง และแหลมคม ในขณะจารึก การจารึกลายลักษณ์อักษรมีวิธีการดังนี้
 | จารึกที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เกิดจากการถูกทำลาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนสมัยหลัง
หรือเมื่อพ้นสมัยแล้ว นำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำมาทำหินลับมีด
เป็นต้น |
๑. จารึกด้วยเหล็กสกัด
ในสมัยแรกๆ
อุปกรณ์การสร้างงานจารึกทำขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีรูปแบบแน่นอน
แต่วัตถุที่ใช้ทำจารึกส่วนใหญ่ใช้ศิลาเนื้อแข็งมากๆ ได้แก่ หินดินดาน
หินทราย เป็นต้น เมื่อตัดแท่งศิลาให้ได้รูปร่างตามต้องการแล้ว
ต้องขัดพื้นผิวหน้าให้เรียบ แล้วใช้เหล็กสกัด ที่มีปลายแบนและแหลมคม เป็นเครี่องมือตอกสกัดลงไปในเนื้อศิลา ให้เป็นรูปลายลักษณ์อักษร
การจารึกอักษรอย่างนี้ทำได้ ๒ วิธี คือ
ลายลักษณ์อักษรที่สกัดเป็นร่องลึกลงในเนื้อศิลา ในภาพเป็นรูปอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต |  |
๑.๑ จารึกโดยร่างข้อความไว้ก่อน จารึก โดยก่อนจารึกอักษร
ต้องร่างข้อความที่จะจารึกบนแผ่นศิลาไว้ก่อน แล้วจึงสกัดด้วยเหล็ก
ให้เป็นร่องลึกลงไปในเนื้อศิลา ให้เป็นรูปลายลักษณ์อักษร
การจารึกด้วยวิธีนี้มีข้อสังเกตว่า
บางส่วนของเส้นอักษร จะสูงเกินแนวเส้นบรรทัด
ล้ำขึ้นไปถึงบรรทัดที่อยู่ตอนบน ซึ่งได้เว้นที่เป็นช่องว่างไว้
ไม่ให้เส้นอักษรจากบรรทัดล่าง ทับเส้นอักษรบรรทัดบน
|
 การจารึกโดยการร่างข้อความไว้ก่อน ซึ่งได้เว้นที่เป็นช่องว่างไว้ ไม่ให้เส้นอักษรจากบรรทัดล่างทับเส้นอักษรบรรทัดบน |
๑.๒
จารึกโดยไม่ร่างข้อความไว้ก่อน
โดยใช้เหล็กสกัดตอกลงไปในเนื้อศิลาให้เป็นรูป ลายลักษณ์อักษรทันที
การจารึกด้วยวิธีนี้ มีข้อสังเกตได้ว่า
บางส่วนของเส้นอักษรที่ยาวเลยเส้นบรรทัด
ล้ำลงไปถึงบรรทัดที่อยู่ตอนล่างนั้น จะเว้นที่เป็นช่องว่างไว้
และถ้าไม่ยาวลงมามากนัก ก็จะเปลี่ยนตำแหน่งการวางรูปอักษร
หรือลดขนาดตัวอักษรลง ให้อยู่ในระดับที่พอดีกับเส้นบรรทัด
 | การจารึกโดยไม่ได้ร่างข้อความไว้ก่อน บางส่วนเส้นอักษรยาวเลยเส้นบรรทัด ล้ำถึงบรรทัดล่าง |
๒. จารึกด้วยเหล็กจาร
กลุ่มจารึกทำจากวัตถุอื่นๆ
ที่ไม่ใช่ศิลา เช่น จารึกที่ทำจากไม้และโลหะชนิดต่างๆ
เนื้อวัตถุไม่แข็งมาก และบางกว่าศิลา
การบันทึกลายลักษณ์อักษร จึงไม่ใช้วิธีสกัด แต่จะใช้เหล็กที่มีปลายแหลมคม
เรียกว่า เหล็กจาร เขียนลายลักษณ์อักษรลงบนแผ่นวัตถุนั้นทันที เช่น
จารึกลานทอง จารึกพระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น
|
 จารึกบนแผ่นโลหะ เช่น แผ่นเงินและแผ่นทอง จะบันทึกลายลักษณ์อักษรโดยไม่ใช้วิธีสกัด |
๓. จารึกด้วยวิธีอื่นๆ
เป็นการจารึกลายลักษณ์อักษรด้วยวิธีอื่น
โดยไม่ใช้เหล็กสกัด และเหล็กจาร
แต่บันทึกลายลักษณ์อักษร ด้วยวิธีเขียน หรือชุปลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่บนวัตถุ
ได้แก่ ไม้ ดินเผา ฝาผนังพระอุโบสถ เป็นต้น
จารึกเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่กับงานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
ตู้ลายรดน้ำเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ซึ่งอนุโลมเรียกว่า
จารึก หรืออักษรจารึก เช่นเดียวกัน |
 จารึกบนแผ่นดินเผา ไม่ใช้เหล็กสกัด หรือเหล็กจารแต่ใช้วิธีเขียน |
การวางรูปอักษรในจารึก
จะเริ่มต้นจาก
ซ้ายไปขวา และเรียงตามลำดับจากข้างบนลงมา ข้างล่าง นอกจากนั้นยังพบว่า
มีการตีเส้นบรรทัด เป็นแนววางตัวอักษร
สมัยแรกวางตัวอักษรใต้เส้นบรรทัดมาตลอด ตัวอย่างเช่น จารึกเจดีย์
วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ปรากฏเส้นบรรทัด ขีดลึกลงไปในเนื้อศิลา
เป็นแนวทุกบรรทัด ความนิยมในการเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัดมีอยู่ตลอดมา
จนถึง ปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อรูปแบบการเขียนอักษรโรมันของชาวยุโรป ได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศ
การเขียนอักษรบนเส้นบรรทัด ตามแบบอย่างอักษรโรมัน จึงได้เริ่มมีขึ้น
และเป็นที่นิยมเรื่อยมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
การเขียน อักษรใต้เส้นบรรทัดก็หมดไป ปัจจุบัน
คนไทยไม่ใช้วิธีการเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด อย่างเดิมอีกแล้ว |
 การตีเส้นบรรทัดเป็นแนววางตัวอักษร ในสมัยก่อนวางตัวอักษรใต้เส้นบรรทัดตลอดมา จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ จึงเริ่มมีการเขียนบนเส้นบรรทัด |