สำหรับเด็กระดับกลาง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 16
เล่มที่ ๑๖
เรื่องที่ ๑ การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เรื่องที่ ๒ พระไตรปิฎก และการชำระพระไตรปิฎก
เรื่องที่ ๓ การอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
เรื่องที่ ๔ ศิลาจารึก และอ่านจารึก
เรื่องที่ ๕ สังคม และวัฒนธรรมไทย
เรื่องที่ ๖ การผลิตหนังสือ
เรื่องที่ ๗ การดนตรีสำหรับเยาวชน
เรื่องที่ ๘ การช่าง และหมู่บ้านช่าง
เรื่องที่ ๙ ดาวเทียมเพื่อการเกษตร
เรื่องที่ ๑๐ การฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการด้านการศึกษา
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๖ / เรื่องที่ ๗ ดนตรีสำหรับเยาวชน / สำหรับเด็กระดับกลาง

 สำหรับเด็กระดับกลาง
จะเข้
จะเข้
เครื่องดนตรีมีมากมายหลายอย่าง มีทั้งเครื่องสาย เครื่องเป่า และเครื่องตี ให้เกิดเป็นเสียง ไทยเราแบ่งเครื่องดนตรีออกเป็นสี่กลุ่มเรียกชื่อคล้องจองกันว่า ดีด สี ตี เป่า
  • เครื่องดีด เช่น จะเข้ พิณ
  • เครื่องสี เช่น ซอด้วง สะล้อ ซอสามสาย
  • เครื่องตี เช่น กลอง ระนาด และฆ้อง
  • เครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย และปี่ต่างๆ
เครื่องดนตรีบางชนิดเล่นง่ายเหมาะกับเด็ก เช่น กลอง ระนาด ฆ้อง เครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย เป็นต้น บางชนิดต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนนานมาก กว่าจะเล่นได้ดี ผู้ที่อายุน้อย จึงควรหัดดนตรีที่เหมาะสมกับอายุ และความสามารถส่วนตัว ที่สำคัญคือ ต้องมีครูที่รู้จริง เป็นผู้เริ่มต้น วางหลักการ ให้เป็นรากฐานที่ดีไว้ จึงจะเรียนรู้ได้ง่าย และถูกต้องตามแบบแผน สามารถเล่นได้ดีจริงต่อไปในภายหน้า
ซอ
ซอ
ระนาด
ระนาด
การหัดดนตรีที่ดีที่สุดคือ การหัดกับครูตัวต่อตัวโดยตรง เมื่อบรรเลงคนเดียวได้พอเป็นเพลงแล้ว ควรร่วมบรรเลงเป็นกลุ่ม จะได้รู้จักฝึกบรรเลงในหน้าที่ของตนได้ดีขึ้น การเล่นดนตรีเพียงลำพังคนเดียวตลอดเวลา ไม่ดีเท่ากับการเล่นดนตรีร่วมกันเป็นหมู่ เยาวชนควรหัดเข้ากลุ่มด้วย จึงจะเกิดความพร้อมในการบรรเลง ความพร้อมในการเข้ากับเพื่อนฝูง ดนตรีจะได้ช่วยปลูกฝังความเป็นเพื่อน ความรักสามัคคีในหมู่คณะ การให้อภัย และรู้จักการรอคอยซึ่งกันและกัน การเสียสละร่วมกัน
ขลุ่ย
ขลุ่ย
ในปัจจุบันนี้การเรียนดนตรีสำหรับเยาวชน เป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ จัดไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่มิได้จัดไว้เป็นวิชาบังคับ ให้ทุกคนต้องเรียน คนที่ชอบจะเลือกเรียนได้ ทั้งประเภทดนตรีไทย และดนตรีสากล นอกจากนี้ผู้ปกครองบางคน ยังส่งเสริมลูกหลานให้เรียนดนตรีพิเศษ ตามสถาบันต่างๆ นอกเวลาเรียน เช่น เรียนดนตรีสากล ในสถาบันดนตรีเอกชน หรือส่งไปเรียนกับครูที่บ้าน เป็นรายชั่วโมง เป็นต้น อาจจะเรียนในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันอื่นๆ ในตอนเย็น หลังจากเลิกเรียนวิชาสามัญแล้ว การเรียนดนตรีสากล มักจะเริ่มจากเครื่องดนตรีหลัก ประเภทกดลิ่มให้เกิดเสียง (KEY BOARD) เช่น เปียโน อิเล็กโทน โดยเรียนโน๊ตสากลไปพร้อมกัน แล้วจึงค่อยพัฒนาขึ้นไปหาเครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่น เครื่องสี และเครื่องเป่า โรงเรียนบางแห่ง ส่งเสริมให้นักเรียนหัดเครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น แตรฝรั่ง และปี่ฝรั่ง ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด เมื่อเรียนได้พอสมควรแล้ว ก็จะเข้าร่วมวงบรรเลง เป็นแตรวงขนาดใหญ่คือ วงโยธวาทิต สามารถบรรเลงเพลงเดินในการแปรขบวนแถว หรือเป็นแตรวงนำหน้าในการเดินแถว ซึ่งทุกปี จะมีการประกวดความสามารถกัน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เยาวชนไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายแห่ง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา และสุพรรณบุรี เคยแสดงความสามารถอันสูงส่ง และเคยไปประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศจากต่างประเทศมาแล้ว
การบรรเลงเพลงของวงโยธวาทิต โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับชัยชนะในต่างประเทศ
การบรรเลงเพลงของวงโยธวาทิต โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับชัยชนะในต่างประเทศ
การเรียนเครื่องดนตรีประเภทเป่า ทำให้มีสุขภาพของปอดและหัวใจดี และเมื่อโตขึ้น อาจจะเรียนเป็นวิชาชีพเฉพาะดนตรีสากลได้ไม่ยากนัก การเรียนดนตรีสากลประเภทเครื่องสาย พอมีเรียนอยู่บ้างในวิทยาลัยการดนตรีหลายแห่ง เช่น วิทยาลัยนาฎศิลป์ ทั้งในส่วนกลาง และต่างจังหวัด วิทยาลัยครูบางแห่ง ในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนก็มี เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ จัดว่ายังไม่สู้แพร่หลายนัก แต่ก็อาจจะเรียนได้จนจบเป็นวิชาชีพ ทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในมหาวิทยาลัยดังกล่าว
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีประเภทสี ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนมากจึงจะบรรเลงได้ดี
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีประเภทสี ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนมากจึงจะบรรเลงได้ดี
เครื่องดนตรีสากลประเภทดีด เช่น กีตาร์ เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมกันมากในกลุ่มวัยรุ่น กีตาร์มีหลายประเภท ทั้งชนิดที่เกิดเสียงโดยธรรมชาติ และเกิดเสียงจากไฟฟ้า ผู้ที่จะเรียนควรเติบโตพอสมควร เพราะจะต้องใช้นิ้วมือที่ค่อนข้างยาว ในการกดสายให้เกิดเสียง และควรจะต้องมีครูสอนให้ด้วย จึงจะเป็นเร็วขึ้น รวมทั้งใช้นิ้วบังคับให้เกิดเสียงได้อย่างถูกต้อง ส่วนไวโอลินนั้น ต้องมีครูสอนโดยเฉพาะ เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นให้ไพเราะได้ยาก และมีราคาค่อนข้างแพงสำหรับคนไทย

เยาวชนกับดนตรีไทย


ดนตรีไทยในเยาวชน เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนับสนุนปลูกฝังให้แก่ เยาวชนทุกวัย เปิดให้มีการสอนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญา แต่ก่อนใช้วิธีเรียนโดยฝากให้เรียนอยู่ในบ้านของครู หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๗๘ แล้ว มีเปิดสอนที่โรงเรียนนาฎศิลป์ และฝึกกันเองตามบ้านนักดนตรี โดยมากมักเรียนกันในกลุ่มลูกหลานของนักดนตรีด้วยกันเอง สมัยก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ยังไม่มีผู้นิยมเล่นดนตรีไทยในโรงเรียนต่างๆ เท่าใดนัก ถ้าจะมีอยู่บ้างก็เป็นโรงเรียนรัฐบาล ในกรุงเทพมหานครบางโรงเรียนเท่านั้น ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มหัดดนตรีไทย และทรงดนตรีไทยให้เยาวชนได้เห็น ได้ฟัง อยู่เป็นประจำ โดยทรงแสดงให้เยาวชนเห็นว่า ดนตรีไทยนั้น ไม่ใช่ของล้าสมัย จึงมีผู้หัดดนตรีตามเสด็จมากขึ้นทุกที สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมดนตรีไทยในเยาวชน อย่างตั้งพระทัยแน่วแน่ และไม่ทรงละโอกาส ที่จะช่วยให้เยาวชนไทยทุกแห่งในประเทศ ให้หันมาสนใจดนตรีไทย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีร่วมกับนักศึกษาและครูดนตรีไทย มหาวิทยาลัยมหิดล  จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับชัยชนะในต่างประเทศ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีร่วมกับนักศึกษาและครูดนตรีไทย มหาวิทยาลัยมหิดล
การบรรเลงดนตรีไทยมีการจัดวงดนตรีได้หลายแบบ เช่น วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ วงมโหรี เป็นต้น เยาวชนไทยอาจจะร่วมวงบรรเลงเพลงไทยได้ไม่ยากนัก เพียงใช้เวลาหัดอย่างจริงจังสักระยะหนึ่ง กำลังใจในการสนับสนุนเยาวชนให้เรียนดนตรีไทยนั้น สำคัญมาก จึงต้องมีครูที่รู้วิธีสอนเด็กอย่างถูกต้อง มาทำหน้าที่สอน สอนไปพร้อมๆ กับให้กำลังใจ และหากมีตัวอย่างให้เด็กเห็น ให้เด็กเกิดความประทับใจ ก็จะเป็นเครื่องชักจูงให้เด็กอยากเรียนดนตรีไทยยิ่งขึ้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมให้มีการประกวดดนตรีไทยใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้เป็นประจำ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมให้มีการประกวดดนตรีไทย
ใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้เป็นประจำ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นตัวอย่างที่ประทับใจเยาวชน ทำให้ทั้งผู้ปกครอง ครู ของเยาวชนเกิดความสนใจ และอยากเล่นดนตรีไทยโดยเสด็จบ้าง ทรงสนพระราชหฤทัยร่วมแสดงดนตรี พร้อมกับเยาวชนในงานต่างๆ เช่น งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ดนตรีไทยมัธยมศึกษา และดนตรีไทยประถมศึกษา เป็นประจำทุกปี ทรงสามารถในการขับร้อง สีซอ ตีระนาด พระราชนิพนธ์บทร้องเพลงให้ร้องกันในโอกาสต่างๆ เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ "ชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี" ซึ่งขับร้องบรรเลงประจำในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาทุกปี เพลงพระราชนิพนธ์ "เต่าเห่" ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ด้วยท่วงทำนองก็ไพเราะ อีกทั้งบทร้องพระราชนิพนธ์นี้ ยังมีความหมายสูงส่ง ในการสอนเด็กไทยให้เป็นคนดี เป็นเด็กที่รักชาติบ้านเมืองอีกด้วย วงการดนตรีไทยได้มีบทเพลงพระราชนิพนธ์ไว้ใช้ขับร้องเพิ่มขึ้นในสมัยนี้มากมาย ทั้งบทเพลงตับ เพลงเถา ตกเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไทยมาจนทุกวันนี้
วงมโหรีโรงเรียนจิตรลดาชนะที่ ๑ ในการประกวดดนตรีไทย"ประลองเพลงประเลงมโหรี" ระดับมัธยมศึกษา
วงมโหรีโรงเรียนจิตรลดาชนะที่ ๑ ในการประกวดดนตรีไทย "ประลองเพลงประเลงมโหรี" ระดับมัธยมศึกษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานกำลังใจ ให้แก่เยาวชนในเรื่องของดนตรีไทยอย่างมากมาย เกินที่จะบรรยายได้หมดสิ้น ทรงส่งเสริมการประกวดดนตรีไทยใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ โดยมีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ดำเนินการประกวดเป็นเวลาต่อเนื่องกันนับสิบปี จนนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในภาคใต้ทุกจังหวัด สามารถเล่นดนตรีไทยได้ดีขึ้นเป็นอันมาก หลายโรงเรียนได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน นักเรียนที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมถึงสามปีติดต่อกัน จะได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษ รวมทั้งสามารถเข้าเรียนดนตรีต่อในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการสอบคัดเลือก นับเป็นสิทธิพิเศษ ทุกวันนี้การดนตรีไทยในภาคใต้เจริญรุดหน้าขึ้นเป็นอันมาก จนถึงสามารถบรรเลงมหาดุริยางค์ รวมนักเรียนเล่นดนตรีเป็นวงใหญ่กว่าหนึ่งร้อยคนได้

ในภาคเหนือ ทรงเห็นความสำคัญของดนตรีพื้นบ้านพายัพว่า เป็นดนตรีที่ไพเราะเป็นเอกลักษณ์แห่งล้านนาไทย ได้ทรงสนับสนุนให้มีการแสดง "ล้านนามหาดุริยางค์" ขึ้นที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ จังหวัดเชียงใหม่ เสด็จฯ ทรงดนตรีไทยอุดมศึกษาร่วมกับนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต โดยทรงระนาดเอกนำหมู่นิสิตนักศึกษาในงานนั้น

ในภาคกลาง ทรงเห็นว่า ทุกวันนี้คนไทยขาดความรู้เรื่อง "มโหรี" นอกจากจะไม่รู้จักวงมโหรีที่แท้จริง ว่าเป็นอย่างไรแล้ว ยังไม่รู้จักถึงความไพเราะของมโหรี รวมทั้งเทคนิคการบรรเลงด้วย จึงได้ทรงส่งเสริมให้มีการประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา เรียกว่า "ประลองเพลงประเลงมโหรี" เป็นประจำทุกปี โดยพระราชทานถ้วยรางวัล และจัดให้มีรางวัลฝีมือการเดี่ยวเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มาจนทุกวันนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงร่วมงานฉลอง ๑๐๐ ปี สมเด็จพระบรมราชชนกและทรงแสดงดนตรีไทย ณ ห้อง ๑ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงร่วมงานฉลอง ๑๐๐ ปี สมเด็จพระบรมราชชนก
และทรงแสดงดนตรีไทย ณ ห้อง ๑ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาดนตรีไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทรงเรียนระนาดอย่างลึกซึ้ง และทรงปฏิบัติได้อย่างดียิ่ง แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษา ทั้งในด้านทฤษฎี และปฏิบัติ ทรงสนับสนุนให้มีการเรียนปี่พาทย์ในนักเรียนชั้นประถมศึกษา พระราชทานเครื่องดนตรีไทยเป็นชุดๆ แก่โรงเรียนต่างๆ แม้คนพิการตาบอด ก็ทรงส่งเสริมให้มีการเรียนดนตรีไทย พระราชทานครูไปสอน ทรงสนับสนุนให้นักเรียนนายร้อยทหารบกได้เรียนดนตรีไทย และทรงร่วมวงดนตรีไทยกับนักเรียนนายร้อยเหล่านั้นเป็นประจำ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้เยาวชนไทยไปแสดงดนตรีไทยในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศตุรกี และรัสเซีย โดยเดินทางไปกับเยาวชนในสังกัดของสำนักส่งเสริม และประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (ส.ย.ช.) พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ส่งนักศึกษาไปเรียนต่อด้านดนตรีในประเทศอังกฤษ พระราชทานเครื่องดนตรีไทยชุดใหญ่ให้ใช้งานบรรเลง และฝึกซ้อมประจำ ในสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศอังกฤษด้วย

ในการเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ มักจะทรงดนตรีไทยให้ประจักษ์แก่สายตาคนต่างชาติเสมอ ทรงแสดงให้เห็นความสำคัญของดนตรีประจำชาติไทยว่า เป็นวัฒนธรรมอันดี ที่ใช้อวดชาวต่างประเทศได้ เช่น การทรงโปงลางที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และการทรงระนาดเอกที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ทุกวันนี้ การเรียนดนตรีไทยถึงระดับปริญญาตรีและโท สามารถเรียนได้ในประเทศไทย และยังมีชาวต่างชาติมาเรียนดนตรีไทยมากขึ้นอีกด้วย ดนตรีเป็นวิชาชีพได้อย่างดี เป็นประณีตศิลป์ที่หาผู้เรียนรู้จริงได้ยากแขนงหนึ่ง

ดนตรีสามารถหล่อหลอมจิตใจคนเล่นให้เป็นคนมีวัฒนธรรมประจำใจ มีระเบียบรอบรู้ในประเพณี และแบบแผน ที่สำคัญคือ ทำให้เป็นคนสุขุม อดทน มีความ สามัคคี และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ดนตรีจึงมีความสำคัญต่อเยาวชนมาก หากเยาวชนของเราเป็นผู้มีระเบียบ มีความสามัคคี และมีมนุษยสัมพันธ์ดีแล้ว ประเทศชาติของเราก็จะมีประชาชนที่มีคุณภาพดีมากตามไปด้วย
หัวข้อก่อนหน้าหัวข้อถัดไป