สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 17
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๗ / เรื่องที่ ๓ ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต / ความสมดุลในระบบนิเวศ
ความสมดุลในระบบนิเวศ
สภาพป่าที่ถูกทำลาย |
ความสมดุลในระบบนิเวศ
ความสมดุลของระบบนิเวศ
หมายถึง
สภาวะความคงที่ในการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในระบบนิเวศนั้น
สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต จะมีการแลกเปลี่ยนพลังงาน และสสารซึ่งกันและกัน
ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันคือ
การถ่ายทอดพลังงานไปตามห่วงโซ่อาหาร
มีองค์ประกอบภายในระบบที่ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย
ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศจะคงอยู่ได้
ตราบเท่าที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตภายในระบบ
ซึ่งความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบ
และสลับซับซ้อน
ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่องค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำให้กระทบกระเทือน
แม้เพียงเล็กน้อย ผลกระทบอันนั้นจะถูกส่งทอดต่อไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ
ทั่วทั้งระบบ แต่ในความซับซ้อนของระบบนิเวศ
มันก็จะสามารถที่จะปรับตัวเข้าสู่สภาวะแห่งความสมดุลได้ใหม่อีกครั้ง
เพื่อให้ระบบคงอยู่ต่อไปได้
แต่หากผลกระทบนั้นรุนแรงเกินกว่าที่ระบบจะปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลได้
ระบบนั้นทั้งระบบก็จะแตกสลายลง
มนุษย์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศในโลก
ที่จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อองค์ประกอบอื่นๆ มีอยู่ด้วยอย่างสมบูรณ์
แต่การทำลายองค์ประกอบในระบบที่มนุษย์อาศัยอยู่เอง เช่น การทำลายป่า
การทำให้คุณภาพของอากาศ น้ำ ดิน เสื่อมโทรมอย่างรุนแรงนั้น
เป็นการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์
ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในโลกนี้ไว้ให้ได้
มนุษย์จึงใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างถนอมรักษา
ฟื้นฟูสภาวะของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม
เพื่อที่จะให้ระบบนิเวศของมนุษย์ได้อยู่ในสภาวะสมดุลได้ตลอดไป
|
|