สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 18
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๘ / เรื่องที่ ๒ ประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ / อิทธิพลของประเพณีหลวงที่มีต่อประเพณีราษฎร์
อิทธิพลของประเพณีหลวงที่มีต่อประเพณีราษฎร์
การเทศน์มหาชาติ
การแห่พระเวสเข้าเมือง ในงานบุญพระเวสของชาวอีสาน
ประเพณีการเผาศพแบบชาวบ้าน
โกศพระราชทานสำหรับบรรจุศพเจ้านาย หรือขุนนางที่เสียชีวิต |
อิทธิพลของประเพณีหลวงที่มีต่อประเพณีราษฎร์
นอกจากประเพณีที่เกี่ยวกับการทำมาหากินที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย
ที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีหลวง
และประเพณีราษฎร์แล้ วยังมีประเพณีสำคัญๆ ที่เป็นประเพณีหลวง
ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตชาวบ้าน และก่อให้เกิดรูปแบบประเพณีราษฎร์
ที่แม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างหลากหลายไปตามท้องถิ่น
แต่ยังคงความหมายเช่นเดียวกับประเพณีหลวง ประเพณีต่างๆ เหล่านี้
มักเป็นประเพณีที่เนื่องในพระพุทธศาสนา
เนื่องจากชนชั้นปกครองเป็นผู้นำในการเลือกรับศาสนาใหม่ที่รับมาจากต่างชาติ
จึงมีความต้องการเผยแพร่ขนบประเพณีของพุทธศาสนาให้แก่ประชาชนที่ต่างเผ่าพันธุ์ในท้องถิ่นต่างๆ
ให้ถือปฏิบัติตาม เพื่อสร้างบูรณาการให้เกิด ทั้งในทางสังคม และวัฒนธรรม
จะเห็นได้ว่า ประเพณีที่เนื่องในพระพุทธศาสนา
จะแตกต่างจากประเพณีที่เกี่ยวกับการทำมาหากินที่ได้กล่าวไว้แต่แรก
ที่มักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อ
ในอำนาจเหนือธรรมชาติ และพิธีกรรมในทางไสยศาสตร์
ซึ่งทางราชสำนักได้ปรับรับประเพณีกรรมของประชาชนมาขัดเกลาให้มีความละเอียดอ่อน
มีความประณีตวิจิตร และซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้ด้วยการยอมรับแบบแผนจากต่างประเทศเข้ามาผสมผสาน เช่น ศาสนาพราหมณ์
เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
หลังจากนั้น ก็จะส่งทอดอิทธิพลไปสู่ประเพณีราษฎร์
ในสังคมแบบชาวนาอีกครั้งหนึ่ง
แต่ในกรณีของประเพณีในพุทธศาสนาแล้ว
เป็นเรื่องของการแพร่กระจายจากเบื้องบนลงสู่ล่าง
โดยผ่านสื่อต่างๆ เช่น วัด วรรณกรรม และศิลปกรรมต่างๆ
ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างประเพณีการเทศน์มหาชาติเป็นสำคัญ
เนื่องจากเป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด
และค่านิยมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุด
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญ
และมีความหมายมากที่สุดในสังคมไทย
เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณ
จนถึงปัจจุบัน เพราะความเชื่อว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้ว
จะได้กุศลแรง และหากใครตั้งใจฟังให้จบในวันเดียว
จะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์
ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดฯ
ให้ประชุมสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลและแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ.
๒๐๒๕ สำหรับสวดในพระราชพิธีเข้าพรรษา
และสวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟัง ระหว่างพรรษา
เรื่องราวของมหาชาติชาดกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน เพราะถือว่า เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
อันเป็นพระชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบ
๑๐ ประการ ก่อนจะทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยทานบารมีชั้นสุดยอดที่ยากยิ่ง
จึงเรียกว่า มหาชาติ
ความนิยม และความสำคัญของเรื่องมหาชาติชาดก
ปรากฏให้เห็นได้จากวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมากมาย ทั้งต่างสำนวน
และต่างยุคสมัย เฉพาะที่เป็นฉบับหลวง ก็มีมากมาย
ในลักษณะของรูปแบบคำประพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีมหาชาติฉบับท้องถิ่นต่างๆ
อีก เช่น ทางภาคเหนือมีมหาชาติภาคพายัพ เขียนเป็นภาษาล้านนา มีหลายฉบับ
และหลายสำนวน ทางภาคอีสานมีมหาชาติคำเฉียง
ส่วนทางภาคใต้มีมหาชาติชาดกฉบับวัดมัชฌิมาวาสสงขลา เป็นต้น
และยังมีมหาชาติสำนวนต่างๆ อีกมากมายที่แต่งกันเองโดยอิสระ
กระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติ
จึงปรากฏในสังคมไทยทุกภูมิภาค ทั้งในราชสำนัก และในหมู่ประชาชนทั่วไป
ในราชสำนัก
ปรากฏเป็นพระราชพิธีในวังหลวงมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยอยุธยา
พระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม
ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ
พระราชพิธีนี้สืบเนื่องมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์
ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง
แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศ
ก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี
จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง
ในท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตภาคอีสาน
ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปี จะจัดขึ้นในราวเดือน ๔ เรียกว่า
บุญพระเวส ทั้งยังมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่น
พิธีแห่พระเวสเข้าเมือง และพิธีแห่ข้าวพันก้อน เพื่อบูชาคาถาพันทาง
ภาคเหนือก็ให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก
เห็นได้จากมีประเพณีสร้างหลาบเงิน หรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตร
ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงานบุญเทศน์มหาชาติ
แผ่นเงินเหล่านี้จะจำหลักเป็นรูปลวดลายต่างๆ ส่วนทางภาคใต้นั้น
ประเพณีเทศน์มหาชาติได้คลี่คลายไปเป็นประเพณีสวด้าน
ซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างกรุงเทพฯ
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จะเห็นว่า
ประเพณีเทศน์มหาชาติที่เป็นประเพณีหลวง
ได้ส่งผลกระทบต่อประเพณีราษฎร์อย่างกว้างขวาง
แต่ท้องถิ่นได้พัฒนารูปแบบการเทศน์ และประเพณีต่างๆ ให้แตกต่างไป
เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป ในแต่ละภาค
ในภาคกลางจะคงลักษณะสำคัญของประเพณีหลวงไว้มาก เช่น ในการเทศน์
มักจะมีปี่พาทย์ประโคม ขณะดำเนินพิธีตามแบบของหลวงด้วย เชื่อว่า
เป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญ
กับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ ได้ทราบว่า
กำลังมีพิธีเทศน์มหาชาติอยู่ ผู้ใดรับกัณฑ์เทศน์ใดไว้
จะได้ตระเตรียมตัวได้ทัน ปี่พาทย์ในงานเทศน์มหาชาติ จะเริ่มด้วยเพลงโหมโรง
และกำหนดเพลงปี่พาทย์ประจำกัณฑ์ไว้ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ตามแบบหลวง
ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และถือเป็นเพลงชั้นสูงทั้งสิ้น เช่น กัณฑ์ทศพร
ใช้เพลงสาธุการ กัณฑ์หิมพานต์ ใช้เพลงตวงพระธาตุ เป็นต้น
การเทศน์มหาชาติในส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์
นอกจากจะรักษาขนบแบบราชสำนักที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์แล้ว
ยังแฝงด้วยความสนุกสนาน และการละเล่นแทรกอยู่ด้วย เช่น
พระที่เทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่างๆ อาจว่าแหล่ เพื่อให้ผู้ฟังได้รสยิ่งขึ้น
แหล่ต่างๆ ที่มีประจำกัณฑ์ที่เรียกว่า แหล่นอกนี้
จะแต่งเป็นพิเศษนอกเนื้อเรื่อง พระเวสสันดรก็ได้ หรือชาวบ้านในบางท้องที่
แถบภาคกลางจะมีการเล่นมหาชาติทรงเครื่อง เวลามีพิธีเทศน์มหาชาติ
ซึ่งชาวบ้านจะรับมาจาก วัดและไปเล่นกันเอง ต่อมาชาวบ้านกลับไปชวน
พระมาเล่นด้วยกัน จึงเป็นการเล่นระหว่างแม่
เพลงที่มีเสียงดีที่มักรับบทเป็นพระนางผุสดี หรือ พระนางมัทรี
กับพระที่มักจะรับบทพระเวสสันดร และชูชก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า
คติธรรมต่อการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะคติของการทำบุญให้ทาน
การกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์ คือ พระเวสสันดร ความเชื่อเรื่องบุญกรรม
อยู่ในสำนึกของชาวไทยทั้งสังคม ด้วยอิทธิพลของมหาชาติชาดก
ที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างบูรณาการทางศาสนาให้เกิดขึ้นต่อชาวไทยทุกภูมิภาค
มาเป็นเวลาช้านานแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่ง
ต่อกระบวนการเชื่อมต่อประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์
ทำให้เกิดความกลมกลืนในทางวัฒนธรรม
ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน
ท่ามกลางคติความเชื่อในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีหลวง
และประเพณีราษฎร์ที่เห็นจากประเพณีการเทศน์มหาชาติ
แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการพยายามเผยแพร่ประเพณีหลวงสู่ท้องถิ่นโดยตรง
อิทธิพลของประเพณีหลวง ที่ส่งต่อประเพณีราษฎร์
กระทำโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง
ในการให้การศึกษา และอบรมสั่งสอน สอดแทรกค่านิยมจากราชสำนัก ที่เน้นแบบแผน
ที่เป็นระเบียบ ให้คล้ายคลึงกัน แต่ความโน้มเอียงของประเพณีราษฎร์
ที่จะเลียนแบบประเพณีหลวง ตามธรรมชาติของการยกย่องแบบแผนจากราชสำนัก
เป็นพื้นเดิมของสังคมชาวนาอยู่แล้ว
ทำให้ประเพณีหลวงบางอย่างกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเอาอย่าง
โดยที่ราชสำนักเองไม่ได้มีเจตนา หรือต้องการจะมีอิทธิพลแต่ประการใด
ดังจะยกประเพณีการเผาศพมาเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นพอสังเขป
ประเพณีการเผาศพ
ในปัจจุบัน
ชาวบ้านจะนิยมเผาศพบนเมรุ เลียนแบบพิธีศพของเจ้านาย และขุนนางในอดีต
เห็นได้จากการพยายามสร้างเมรุเผาศพตามวัดต่างๆ
ทั้งในเขตเมืองและชนบททั่วประเทศ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ในอดีต
เมื่อชนชั้นสูง เช่น เจ้านาย ขุนนางเสียชีวิต จะได้รับพระราชทานโกศหรือหีบ
เพื่อบรรจุศพ และได้รับอนุญาตให้เผาศพบนเมรุ ที่รัฐบาลได้จัดขึ้น
ซึ่งเป็นเมรุที่จำลองจากของหลวง ปัจจุบันพิธีเผาศพจะได้รับการเผาบนเมรุ
ที่จัดทำ ที่วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
ซึ่งถือเป็นเมรุหลวงที่จำลองของหลวง แต่ย่อส่วนลงมา
ต่อมาจึงมีการเลียนแบบการสร้างเมรุแบบวัดเทพศิรินทราวาส ตามวัดต่างๆ
ทั่วกรุงเทพฯ และมีอิทธิพลไปถึงในเขตชนบท ตามที่กล่าวมาแล้ว
เพราะการเผาศพบนเมรุ ได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงฐานะ
และความมีหน้ามีตาของผู้ตาย และญาติของผู้ตายในปัจจุบัน
รวมทั้งเป็นเรื่องของความสะดวกด้วย
|
|