สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 18
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๘ / เรื่องที่ ๓ การแต่งกายของคนไทย / สำหรับเด็กระดับกลาง
สำหรับเด็กระดับกลาง
การแต่งกายของคนไทยนั้น
โดยปกติเมื่ออยู่บ้านจะแต่งกายเรียบง่าย
เมื่อไปงานพิธี หรือไปปฏิบัติราชการ ก็แต่งกายอีกแบบ หนึ่ง
|
 |
เสื้อผ้าที่สวมอยู่กับบ้านเป็นผ้าฝ้ายธรรมดา
ในสมัยโบราณผู้ชายอาจนุ่งกางเกงมีผ้าคาดเอว หรือผ้าพาดไหล่
ไม่นิยมสวมเสื้อ เพราะอากาศร้อน ถ้าอากาศหนาวก็สวมเสื้อ หรือห่มผ้า
เมื่อออกไปทำไร่ไถนา ก็สวมเสื้อผ้าสีดำ หรือสีน้ำเงิน
นุ่งกางเกง สวมเสื้อแขนสั้น
ผู้หญิงเมื่ออยู่บ้านอาจใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน และสวมใส่สบายง่ายๆ
แต่ถ้าออกไปทำงานนอกบ้าน ก็ใช้เสื้อผ้าสีดำหรือน้ำเงิน
|

|
เมื่อไปงานพิธี เช่น ทำบุญตักบาตร ก็จะแต่งกายเรียบร้อยรัดกุม
ผู้ชายสวมเสื้อ นุ่งกางเกง ใช้ผ้าที่มีราคา หรือสวยงามมากขึ้น
ผู้หญิงก็ใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน มีเครื่องประดับตามฐานะ
ที่เป็นข้าราชการนั้น มีเสื้อผ้าชนิดดีตามตำแหน่ง
หรือตามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งผิดจากคนทั่วไป
เพราะเครื่องแต่งกายของข้าราชการนั้น
อาจบอกยศหรือตำแหน่งได้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระราชนิพนธ์อธิบายไว้ว่า "ธรรมเนียมลำดับยศฝ่ายสยามมีสังเกตอยู่
๓
อย่าง ด้วยหมวก เสื้อ และเครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่ง
ด้วยคำนำหน้าชื่ออย่างหนึ่ง
ด้วยศักดินาคือ อำนาจที่จะหวงที่ดินเป็นไร่นาของตัวอย่างหนึ่ง"
|
เสื้อและเครื่องนุ่งห่มของข้าราชการนั้น ไม่พบหลักฐานว่า
ในสมัยโบราณมีการกำหนดลำดับยศที่จะใช้เสื้อผ้าไว้เช่นใด
แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ ขุนนางข้าราชการจะนุ่งผ้าสมปัก
ในหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า |
 ผ้าสมปัก |
"ย่านท่าทรายมีร้านชำขายผ้าสมปักเชิงปูม
ผ้าไหม ผ้าลายกรุษราช ย่ำมะหวาด
สมปักเชิง สมปักล่องจวน สมปักริ้ว เมื่อข้าราชการทำหาย
ไม่ทันจะหามาเปลี่ยน ก็ต้องซื้อนุ่งเข้าเฝ้า" |
 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) |
แสดงว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาข้าราชการต้องนุ่งผ้าสมปักเข้าเฝ้า
มีเรื่องกล่าวกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
แต่ครั้งยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก
เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียว ไม่รู้จักเปลี่ยน
จนคุณพุ่ม กวีหญิงสมัยรัชกาลที่ ๓ - ๕
ได้แต่งเป็นทำนองคำอธิษฐานไว้ข้อหนึ่งว่า "ขออย่าเป็นสมปักของพระนายไวย" |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงอธิบายถึงผ้าสมปักไว้ในหนังสือ "บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ"
ตอนหนึ่งว่า "เป็นผ้าทอด้วยไหมเพลาะกลาง
พื้นผ้าเป็นสีเป็นลายต่างๆ
ใช้ตามยศตามเหล่า มีสมปักปูมเป็นสูงสุด และสมปักริ้วเป็นต่ำสุด" และอีกตอนหนึ่งว่า "ผ้าสมปักนั้นเป็นสองชนิด คือ
ผ้าสมปักลายสำหรับนุ่งเต็มยศชนิดหนึ่ง
กับผ้าสมปักไหวสำหรับนุ่งเข้าเฝ้าเวลาปกติชนิดหนึ่ง...อันผ้าสมปักไหมนั้น
เขาไม่นุ่งกันมาแต่บ้านมิได้ เขามานุ่งกันเอาในพระราชวัง
เวลาเตรียมตัวจะเข้าเฝ้า ออกจากเฝ้าแล้วก็ผลัด
เห็นจะเพื่อรักษาไม่ให้ทรุดโทรมไปเสียเร็ว เห็นจะเป็นของหายาก
ส่วนผ้าสมปักลายนั้น เห็นเรียกแต่ในหมาย
ดูที่เขานุ่งกันจริงเขาก็นุ่งผ้าชนิดที่เรียกว่า เกี้ยวลาย จนทำให้ เข้าใจไปว่า
ผ้าสมปักลายกับผ้าเกี้ยวลายเป็นผ้าชนิดเดียวกัน
จนกระทั่งเรียกของเก่าที่คลังในมาดู เผอิญมีผ้าลายติดออกมาด้วยผืนหนึ่ง
มีขนาดกว้างยาวเท่ากับสมปักไหมและเพลาะกลางเหมือนสมปักไหม
จึงได้เข้าใจว่า ผ้าสมปักลายนั้นต่างหาก
แต่นุ่งแล้วดูก็คงเหมือนกับเกี้ยวลาย เขาจึงนุ่งเกี้ยวลายแทน
สมปักลายจริงๆ
เห็นจะหานุ่งยาก...แต่สมปักลายจะถือลายเป็นชั้นยศอย่างไรหรือไม่
ฉันไม่ทราบ เกิดไม่ทันเวลาที่เขาใช้กัน แต่เชื่อว่า จะไม่มีกำหนด
เพราะเอาผ้าเกี้ยวใช้นุ่งแทน
ก็ไม่เห็นเลือกกันที่ว่าใครจะต้องนุ่งลายชนิดไร" |
 ผ้าไหมไทย
| ดังนี้ จะเห็นว่า
ชนิดของผ้ามีความสำคัญมากกว่ารูปแบบของเสื้อ ซึ่งคงจะมีรูปทรงคล้ายๆ กัน
และในสมัยโบราณนั้น เมื่อข้าราชการมีความดีความชอบ
ก็จะได้รับพระราชทานเสื้ออย่างดี หรือผ้านุ่งเป็นรางวัล
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อผลประโยชน์แผ่นดินไม่พอจ่าย
ไม่อาจจ่ายเบี้ยหวัดให้ข้าราชตามอัตราได้ ก็จ่ายผ้าให้แทน
อย่างในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเงินไม่พอจ่าย ก็ต้องเอาสินค้าที่มีอยู่ในพระคลัง
เช่น ผ้าลาย ออกพระราชทานเป็นเบี้ยหวัดก็มี สมัยรัชกาลที่ ๕
ก็ยังเคยปรากฏว่า ได้พระราชทานรางวัลพวกแสดงละครด้วยผ้าลาย คือ
ผ้านุ่งโจงกระเบน ซึ่งนิยมนุ่งกันอยู่ในสมัยนั้น
การแต่งกายของคนไทยในสมัยโบราณไม่มีแบบมากนัก
แต่จะกล่าวถึงเรื่องสีและชนิดของผ้ามากกว่า คนธรรมดาทั่วๆ
ไปก็ใช้ผ้าที่ทอใช้เอง ผู้ที่มีฐานะดี หรือเป็นข้าราชการ
มีผ้าที่มีราคาใช้ ผ้าอย่างดีจะมาจากต่างประเทศ |
|