|
ภูมิประเทศ และดินฟ้าอากาศ ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การใช้เสื้อผ้าต่างกันไป
ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ซึ่งมีอากาศหนาว จำเป็นต้องใช้ผ้าหนา และเสื้อผ้าหลายชิ้น
ผู้อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ก็ใช้เสื้อผ้าบาง และน้อยชิ้น นอกจากนี้
คนต่างเผ่าก็มีความนิยมแตกต่างกัน ในด้านการแต่งกาย |
|
ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ มีข้อความกล่าวว่า
ในฤดูหนาว เจ้าทรงเสื้อสีชั้นเดียว คาดส่านบ้าง แพรสีบ้าง ขุนนางสวมเสื้อ
เข้มขาบอัตลัดแพรสี ๒ ชั้น ที่ได้รับพรระราชทาน
เสนาบดีคาดส่านในวันที่ไม่หนาว หรือในฤดูร้อน
ผู้ใดสวมเสื้อมาเข้าเฝ้าก็ไม่โปรด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า
"ข้าราชการมาจากบ้านมักเอาเสื้อคลุมมาด้วย
ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงฉลองพระองค์ ก็ต้องถอด หนาวแสนหนาวก็ต้องทนเอา
บางคราวกำลังเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกฉลองพระองค์มาสวมก็มี
จนเป็นที่สังเกตกันว่า เมื่อไรพระถันหด ข้าราชการก็ดีใจจะได้สวมเสื้อ" |
|
เนื่องจากความนิยมในแต่ละถิ่นไม่เหมือนกัน
ลักษณะของเครื่องแต่งกายของแต่ละถิ่น จึงมีแบบอย่างต่างกันไป
ทั้งในเรื่องรูปแบบ และสีสัน ตลอดจนลักษณะของผ้า
ซึ่งเป็นของที่ทำขึ้นใช้เองบ้าง
มีมาขายจากต่างบ้านต่างเมืองบ้าง อย่างไรก็ตาม รูปแบบของเสื้อผ้า
เครื่องแต่งกายของคนไทยทั่วๆ ไป คงเป็นแบบง่ายๆ เจ้านาย หรือขุนนาง
และผู้มีฐานะดี ใช้ผ้าดี มีราคา ผ้าบางชนิดก็ใช้ได้เฉพาะพวกขุนนางเท่านั้น
เช่น ผ้าสมปัก |
|
การแต่งกายได้เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย จึงไม่อาจกำหนดให้แน่นอนได้
แต่เข้าใจกันว่า ในสมัยสุโขทัย ผู้ชายนุ่งกางเกง และสวมเสื้อผ่าอกแขนสั้น
ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง และผ้าซิ่น ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ต่อมาในสมัยอยุธยา
ผู้ชายก็ยังคงนุ่งกางเกง และบางครั้งก็นุ่งผ้าพื้นอย่างที่เรียกกันว่า
นุ่งโจงกระเบน คือ ม้วนชายผ้านุ่งทั้งสองชายเข้าด้วยกันให้เรียว
คล้ายหางปลากระเบน แล้วเหน็บปลายผ้าที่ม้วนนี้ไว้ที่เอวด้านหลัง
(ซึ่งยังเรียกอวัยวะส่วนนั้นของร่างกายว่า กระเบนเหน็บมาจนทุกวันนี้)
จึงได้เรียกการนุ่งผ้าแบบนี้ว่า นุ่งโจงกระเบน
ส่วนเสื้ออาจมีรูปแบบมากขึ้น เช่น แขนเสื้อยาว และเป็นรูปทรงกระบอก
ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ความนิยมในการแต่งกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม
ในสมัยนี้มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น
|
|
การแต่งกายของเด็กอนุโลมตามแบบผู้ใหญ่
|