สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 19
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๙ / เรื่องที่ ๓ การถนอมผลิตผลการเกษตร / การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น
การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น
การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น
การใช้ความเย็น เพื่อเก็บรักษาอาหาร สามารถทำได้หลายวิธี แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการเก็บรักษา ควรจะรู้จักความหมายของคำต่อไปนี้ก่อนคือ
การให้ความเย็น
หมายถึง
กรรมวิธีการกำจัดความร้อนออกจากสิ่งของ หรือพื้นที่ที่ต้องการทำให้เย็น
หรือต้องการให้มีอุณหภูมิลดลง ซึ่งการทำให้เย็นลงนี้ แบ่งออกเป็น ๒
ลักษณะคือ :-
๑. การแช่เย็น
หมายถึง
การทำให้อุณหภูมิของสิ่งของนั้นลดลง แต่อยู่เหนือจุดเยือกแข็งของสิ่งนั้น
โดยของสิ่งนั้นยังคงสภาพเดิมอยู่ ความเย็นจะไม่สามารถทำลายจุลินทรีย์
แต่จะช่วยชะลอการเจริญของจุลินทรีย์ ที่จะทำให้อาหารเน่าเสีย
และจะช่วยลดปฏิกิริยาของเอนไซม์
ที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหาร
ดังนั้นการแช่เย็นอาหาร
จึงเป็นการช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
๒. การแช่แข็ง
หมายถึง
การทำให้อุณหภูมิของสิ่งของนั้นลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของสิ่งนั้น
การแช่แข็งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพในองค์ประกอบของสิ่งของที่ถูกทำให้เย็นลง
เช่น ในกรณีที่เป็นอาหาร ความเย็นจัด จะทำให้น้ำในเนื้อเยื่อของอาหาร
แปรสภาพเป็นน้ำแข็ง ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหาร ไม่สามารถนำไปใช้ได้
แต่ความเย็นจัดไม่ได้ทำลายจุลินทรีย์ให้ตาย
ดังนั้น การแช่แข็งจึงไม่สามารถถนอมอาหารได้สมบูรณ์ แต่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น และนานกว่าการแช่เย็น
 เครื่องแช่แข็งแบบสไปรัล เบลท์ กรรมวิธีการถนอมอาหารด้วยความเย็น
๑. การใช้น้ำแข็ง
ความเย็นของน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหาร
จะทำให้อุณหภูมิของอาหารลดลงได้เร็ว และถ้ามีปริมาณเพียงพอ
จะทำให้อาหารนั้นเย็นลง จนมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับ ๐ องศาซ.
เหมาะสำหรับการเก็บรักษาสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาสด
ซึ่งจะสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ ๑ สัปดาห์
๒. การใช้สารผสมแช่แข็ง
การใช้น้ำแข็งผสมเกลือแกง
หรือเกลืออนินทรีย์อื่นๆ จะทำให้สารผสมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๐ องศาซ.
ทั้งนี้เพราะจุดเยือกแข็งของน้ำบริสุทธิ์ที่ ๑ บรรยากาศ มีค่าเท่ากับ ๐
องศาซ. แต่ถ้ามีการเติมสารที่แตกตัวได้ เช่น เกลือแกง
จะทำให้จุดเยือกแข็งลดลง เช่น ถ้าเติมเกลือแกงลงไปในน้ำแข็งในอัตราส่วน ๑
: ๓ จะทำให้อุณหภูมิของน้ำแข็งนั้นลดลงถึง -๑๘ องศาซ.
ซึ่งในสมัยก่อนใช้วิธีนี้มาก ในการปั่นไอศกรีม โดยใช้มือหมุนถัง
ทำให้ส่วนผสมของไอศกรีมแข็งตัวเร็วขึ้น
ปัจจุบันใช้วิธีนี้ในการเก็บรักษาปลาสด
และการรักษาความเย็นของอาหารแช่แข็ง ที่บรรจุในภาชนะสำหรับการขนส่ง
๓. การใช้น้ำแข็งแห้ง
น้ำแข็งแห้ง
คือ คาร์บอนไดออกไซด์ที่เย็นจนแข็ง มีอุณหภูมิประมาณ -๘๐ องศาซ.
ใช้ในการเก็บรักษาอาหาร ที่ผ่านการแช่แข็งมาแล้ว
เหมาะสำหรับการขนส่งในระยะเวลา ๒-๓ วัน แต่ไม่เหมาะสำหรับการให้ความเย็น
โดยให้น้ำแข็งแห้งสัมผัสกับอาหารโดยตรง
เนื่องจากมีความแตกต่างกันมากระหว่างอุณหภูมิของอาหารกับน้ำแข็งแห้ง
อาจทำให้ผิวสัมผัสของอาหารเสียหายได้
๔. การใช้ไนโตรเจนเหลว
ไนโตรเจนเหลวที่ความดันปกติ
จะระเหยกลายเป็นไอที่อุณหภูมิ -๑๙๖ องศากซ. อุณหภูมินี้เป็นอุณหภูมิต่ำสุด
ที่สามารถจะทำให้อาหารเย็นลงได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่เป็นอันตรายกับอาหาร และผู้บริโภค
จึงนิยมนำมาใช้กับอาหารแช่แข็ง โดยเฉพาะในปัจจุบัน
แต่ไม่นิยมแช่อาหารสดในไนโตรเจนเหลว
ส่วนมากจะใช้ร่วมกับเครื่องทำความเย็นแบบสายพาน
จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องทำความเย็น
เหมาะสำหรับการแช่แข็งอาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปแทบทุกชนิด
๕. การใช้เครื่องทำความเย็น
เครื่องทำความเย็นที่ใช้กันโดยทั่วไปโดยเฉพาะตามบ้านเรือนคือ
ตู้เย็น ปัจจุบันตู้เย็นมีช่องทำความเย็นแยกส่วนกัน บางชนิดมี ๒ ช่อง คือ
ช่องเก็บอาหารทั่วไป อุณหภูมิประมาณ ๔ องศาซ. กับช่องแช่แข็ง
อุณหภูมิประมาณ -๑๐ องศาซ. ตู้เย็นบางชนิดแยกเป็นหลายส่วน
โดยมีช่องเก็บอาหารพิเศษบางประเภทเพิ่มขึ้น เช่น ที่เก็บผักสด
๖. การใช้เครื่องทำความเย็นในระบบอุตสาหกรรม
การทำอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง
จำเป็นต้องใช้เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง
จึงจะทำให้คุณภาพของอาหารแช่แข็งมากที่สุด
ขณะนี้อาหารแช่แข็งที่ทำเป็นอุตสาหกรรม และส่งขายต่างประเทศ ในแต่ละปี
ซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้าเป็นจำนวนมาก คือ กุ้งเยือกแข็ง
และไก่สดเยือกแข็ง
|
|