สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 19
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๙ / เรื่องที่ ๓ การถนอมผลิตผลการเกษตร / การถนอมอาหารโดยใช้รังสี
การถนอมอาหารโดยใช้รังสี
การถนอมอาหารโดยใช้รังสี
รังสี หมายถึง คลื่นแสง หรือคล้ายกับแสง ซึ่งมีความยาวคลื่น ทั้งสั้นและยาว
การแผ่รังสีของสารกัมมันตภาพมีลักษณะคล้ายสายน้ำของอนุภาคหรือคลื่น ซึ่งมาจากหน่วยเล็กที่สุดของสสาร
คือ ปรมาณู สารกัมมันตภาพที่พบในธรรมชาติประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๔๐
และได้มีการนำมาใช้ประโยชน์คือ ธาตุเรเดียม ซึ่งสามารถให้รังสีได้ทั้ง
แอลฟา บีตา และแกมมา รังสีที่รู้จักกันทั่วไปและใช้มากในวงการแพทย์คือ
รังสีเอกซ์ ส่วนรังสีที่ใช้ในการถนอมอาหารนั้นอาจใช้รังสีใดรังสีหนึ่ง
ดังนี้ ๑. รังสีแกมมา
เป็นรังสีที่นิยมใช้มากในการถนอมอาหาร สารที่เป็นต้นกำเนิดรังสีคือ โคบอลต์ ๖๐ หรือซีเซียม -๑๓๗
๒. รังสีเอกซ์
ได้จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่า หรือเท่ากับ ๕ ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
๓. รังสีอิเล็กตรอน
ได้จากเครื่องผลิตรังสีอิเล็กตรอน ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่า หรือเท่ากับ ๑๐ ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
ปริมาณรังสีที่ใช้ในการถนอมอาหาร
หน่วยของรังสี เรียกว่า เกรย์ อาหารใดก็ตามเมื่อผ่านการฉายรังสีแล้ว
รังสีได้คายหรือถ่ายพลังงานให้เท่ากับ ๑ จูล ต่ออาหารจำนวน ๑ กิโลกรัม
เรียกว่า ๑ เกรย์ เมื่อไม่นานมานี้หน่วยของรังสีวัดเป็นแรด ซึ่ง ๑๐๐
แรดเท่ากับ ๑ เกรย์ และ ๑,๐๐๐ เกรย์เท่ากับ ๑ กิโลเกรย์
องค์การอนามัยโลกและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ได้สรุปว่า
การฉายรังสีอาหารใดก็ตามด้วยระดับรังสีไม่เกิน ๑๐ กิโลเกรย์
จะมีความปลอดภัยในการบริโภคและไม่ทำให้คุณค่าทางโภชนาการเปลี่ยนแปลงไป
แต่อย่างไรก็ตามปริมาณของรังสีที่อาหารได้รับต้องเป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
หลักการถนอมอาหารด้วยรังสี
รังสีที่ฉายลงไปในอาหาร จะไปทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
หรือทำให้การเปลี่ยนแปลงทางเคมีลดลง
ซึ่งมีผลทำให้การเก็บรักษาอาหารนั้น มีอายุยืนนาน โดยไม่เน่าเสีย
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร และปริมาณรังสีที่อาหารได้รับ
และวัตถุประสงค์ เพื่อถนอมอาหารในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้
๑. ควบคุมการงอกของพืชผักในระหว่างการเก็บรักษา
ปริมาณรังสีที่ฉายบนอาหารจำพวกกระเทียม หอมใหญ่ มันฝรั่ง เป็นต้น ประมาณ
๐.๐๕-๐.๑๒ กิโลเกรย์
สามารถควบคุมการงอก และลดการสูญเสียน้ำหนัก ในระหว่างการเก็บในห้องเย็นได้นานกว่า
๖ เดือน
๒. ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลงในระหว่างการเก็บรักษา
ปริมาณรังสีที่ฉายบนอาหารประเภทนี้ประมาณ ๐.๒-๐.๗ กิโลเกรย์ เช่น ข้าว
ถั่ว เครื่องเทศ ปลาแห้ง เป็นต้น รังสีจะทำลายไข่แมลง
และควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลงและตัวหนอนในระหว่างการเก็บรักษา หรือระหว่างรอการจำหน่าย
แต่ผลิตผลเหล่านี้จะต้องบรรจุในภาชนะ หรือหีบห่อที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเข้าทำลายซ้ำของแมลงจากภายนอก
๓. ยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด
ผลไม้ อาหารทะเล และเนื้อสัตว์
โดยทั่วไปจะมีอายุการเก็บรักษาสั้น ทั้งนี้
เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ จะเจริญเติบโตได้เร็ว
ประกอบกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล มีปริมาณโปรตีนสูง
จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ทำให้อาหารเน่าเสีย การฉายด้วยรังสีประมาณ
๑-๓ กิโลเกรย์ จะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียลงได้มาก
ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น
แต่ทั้งนี้จะต้องบรรจุอาหารในภาชนะและเก็บในห้องเย็น
๔. ทำลายเชื้อโรคและพยาธิในอาหาร
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสัตว์อาจมีพยาธิหรือเชื้อโรคติดอยู่ได้ เช่น
พยาธิใบไม้ตับที่มีในปลาดิบ สามารถทำลายได้ด้วยรังสีต่ำประมาณ ๐.๑๕
กิโลเกรย์ แหนมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากหมูที่คนไทยนิยมรับประทานดิบๆ
ถ้าฉายรังสีในปริมาณ ๒-๓ กิโลเกรย์ จะเพียงพอที่จะทำลายเชื้อซาลโมเนลลา
ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดท้องร่วง
และทำลายพยาธิ ที่อาจจะติดมากับเนื้อหมูก่อนทำแหนมก็ได้
ความปลอดภัยในการบริโภค
ในปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารอาบรังสี
แต่จากการประกาศขององค์การอนามัยโลก และทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศว่า
ถ้าอาหารใดได้รับรังสีไม่เกิน ๑๐ กิโลเกรย์
จะไม่มีรังสีตกค้างในอาหาร และไม่ทำให้อาหารนั้น กลายเป็นสารกัมมันภาพ
และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ด้านความปลอดภัย ดังนั้น
อาหารอาบรังสีจึงเหมาะที่จะบริโภค
|
|