สำหรับเด็กระดับเล็ก - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 19
เล่มที่ ๑๙
เรื่องที่ ๑ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ ๒ พืชน้ำมัน
เรื่องที่ ๓ การถนอมผลิตผลการเกษตร
เรื่องที่ ๔ ม้า
เรื่องที่ ๕ แมลง
เรื่องที่ ๖ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
เรื่องที่ ๗ ศิลปการนับเบื้องต้น
เรื่องที่ ๘ ภูมิปัญญาชาวบ้าน
เรื่องที่ ๙ สารกึ่งตัวนำ
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๙ / เรื่องที่ ๓ การถนอมผลิตผลการเกษตร / สำหรับเด็กระดับเล็ก

 สำหรับเด็กระดับเล็ก
เด็กๆ รู้จักและเคยรับประทานอาหารหรือไม่ อาหารเหล่านั้น ใครเป็นผู้ผลิต และผลิตมาจากอะไร

ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีอาชีพในการทำสวน ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ มีผลิตผลการเกษตรหลายชนิดที่ผลิตแล้ว รับประทานไม่หมด จึงจำเป็นต้องถนอมรักษาเก็บไว้รับประทานให้ได้นานที่สุด เช่น
ปลาช่อนแล่แล้วตากแดดเป็นปลาช่อนแห้ง

หมู เนื้อ แล่เป็นชิ้นบาง ๆ หมักเกลือแล้วตากแดดให้แห้ง หรือนำไปรมควัน ที่เกิดจากการเผาชานอ้อย หรือกากมะพร้าว

ไข่เป็ด นำไปทำเป็นไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า
ผักสด เช่น ผักกาด ผักเสี้ยน แตงกวา หอม กระเทียม ขิงสด นำไปดองในน้ำเกลือ ที่ผสมน้ำส้มเล็กน้อย จะเติมน้ำตาลลงไปด้วยก็ได้
ผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วง ฝรั่ง มะนาว นำไปดองในน้ำเกลือเป็นผลไม้ดอง ส่วนทุเรียน กล้วย ขนุน สับปะรด กวนกับน้ำตาล ทำเป็นผลไม้กวน ผลบางชนิดนำไปแช่อิ่มในน้ำเชื่อมที่เข้มข้น เช่น มะละกอ ฟัก ผลบางชนิดนำไปเชื่อมในน้ำตาล หรือนำไปทอด แล้วฉาบน้ำตาลที่เข้มข้น เช่น กล้วย เผือก มัน ผลบางชนิดนำไปคั่วกับทราย หรือทอดในน้ำมัน เช่น เกาลัด มะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสง เป็นต้น
อาหารที่เด็กควรรับประทาน ถ้าเป็นอาหารจำพวกเนื้อ หรือผักบางชนิดควรทำให้สุกเสียก่อน ส่วนผลไม้นั้นควรรับประทานผลไม้สด
อาหารที่แปรรูปแล้ว เช่น ไส้กรอก ข้าวเกรียบกุ้ง-ปลา ผลไม้กวน นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ไอศกรีมนั้น เด็กรับประทานได้โดยไม่มีอันตราย
สิ่งที่ควรระวัง และไม่ควรรับประทานก็คือ อาหารและขนมที่ใส่สีสวยงาม เช่น น้ำหวาน ลูกกวาด ขนมชั้น วุ้น เยลลี่ และอื่นๆ เพราะถ้าผู้ผลิตไม่ใช้สีผสมอาหารจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
หัวข้อถัดไป