การดูแลและรักษา - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 19
เล่มที่ ๑๙
เรื่องที่ ๑ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ ๒ พืชน้ำมัน
เรื่องที่ ๓ การถนอมผลิตผลการเกษตร
เรื่องที่ ๔ ม้า
เรื่องที่ ๕ แมลง
เรื่องที่ ๖ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
เรื่องที่ ๗ ศิลปการนับเบื้องต้น
เรื่องที่ ๘ ภูมิปัญญาชาวบ้าน
เรื่องที่ ๙ สารกึ่งตัวนำ
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๙ / เรื่องที่ ๔ ม้า / การดูแลและรักษา

 การดูแลและรักษา
การแปรงขนม้า
การแปรงขนม้า

การเช็ดตัวม้า
การเช็ดตัวม้า

การตัดแต่งแผงคอม้า
การตัดแต่งแผงคอม้า

การตัดแต่งกีบม้า
การตัดแต่งกีบม้า

การให้อาหารม้า
การให้อาหารม้า
การดูแลและรักษา

การทำความสะอาดม้า

การทำความสะอาดม้านี้ต้องทำเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับคนที่ต้องทำความสะอาดตัวเอง การทำความสะอาดม้าอาจแบ่งได้ดังนี้

๑. การกราดม้า


มีประโยชน์ทำให้ร่างกายม้าสะอาด ป้องกันโรคผิวหนัง และทำให้หนังมีความสมบูรณ์ การกราดนั้นต้องใช้กราดเหล็ก กราดตามคอ ตามตัว เพื่อให้ขี้รังแคออกให้หมด การใช้กราดต้องคอยระมัดระวัง อย่าให้ผิวหนังม้าถลอก เพราะฟันของกราดเป็นเหล็ก ม้าเป็นสัตว์ที่มีผิวหนังบาง ดังนั้นส่วนที่คอและท้องของม้า ไม่ควรกราดด้วยกราดเหล็ก

๒. การแปรง

จับแปรงด้วยมือขวา และถือกราดเหล็กด้วยมือซ้าย เอาแปรงขนย้อนขนไปมา จนขี้รังแคติดที่แปรง แล้วนำแปรงมาถูกับกราด (การแปรงนี้กระทำภายหลังจากกราดแล้ว) ทำเช่นนี้ไปจนทั่วตัวม้า การยืนทำความสะอาด ผู้ที่ทำความสะอาด ควรยืนเหนือลม หันหน้าม้าไปทางทิศทวนลม (ถ้าทำได้)

๓. การเช็ดตัวม้า


ภายหลังจากกราดและแปรงจนทั่วตัวม้าเรียบร้อยแล้ว ก็ทำความสะอาดเช็ดตัวม้า ด้วยผ้าสะอาด ที่บริเวณตา จมูก ปาก หู ตาม ใบหน้า และทั่วๆ ไปอีกครั้งหนึ่ง

การทำความสะอาดม้าที่ออกกำลังมาใหม่ๆ ควรใช้ฟางหรือหญ้าถูตามตัวให้ทั่ว เพื่อให้เหงื่อที่จับตามตัวแห้งสนิท และเพื่อให้เลือดใต้ผิวหนังกระจายไป

๔. การนวดม้า

เป็นการนวดตามกล้ามเนื้อ และตามข้อต่างๆ ที่เคลื่อนที่ไปมา โดยการนวดด้วยน้ำมัน ใช้สันมือถูนวดแรงๆ (ระวังอย่าใช้น้ำมันที่ร้อนเกินไป ถูนวดบริเวณผิวหนังที่บาง) การนวดนี้ควรนวดให้ทั่ว

๕. การอาบน้ำม้า


การอาบน้ำม้านี้ ถ้าทำได้ควรอาบน้ำม้าสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เพื่อจะได้ทำความสะอาดม้า ล้างฝุ่น และโคลนที่ติดตามตัวกราดแปรงไม่ออก ในการอาบน้ำม้านี้ จะอาบด้วยน้ำเย็น หรือน้ำอุ่นก็ได้ แต่มีข้อระวังในการอาบน้ำม้า คือ

(๕.๑) ถ้าลงอาบน้ำในบ่อ สระ แม่น้ำ ลำคลอง ควรจะหาที่ให้ม้าลงอาบน้ำได้สะดวกเป็นที่ๆ ตลิ่งไม่ชัน และไกลจากสิ่งโสโครก

(๕.๒) ที่อาบน้ำม้าไม่ควรไกลจากโรงม้ามากเกินไป เพราะการเดินไปมา อาจทำให้ม้าร้อนมาก และเป็นหวัดได้

(๕.๓) ในเวลาแดดร้อนจัดไม่ควรอาบน้ำม้า

(๕.๔) ม้าเป็นหวัด เป็นไข้ ไม่ควรอาบน้ำ

(๕.๕) เมื่ออาบน้ำแล้วควรเช็ดตัวให้แห้ง ระวังอย่าให้ถูกลมจัดเกินไป

๖. การตัดขนม้า


มีประโยชน์สำหรับกราดและแปรงได้สะดวกขึ้น และดูสวยงาม การตัดขนนี้ โดยทั่วไปมักตัดกันเมื่อขนยาว แต่ทางที่ดีแล้ว การตัดขนม้านั้น ควรตัดในฤดูหนาว เพราะว่าในฤดูหนาวเมื่อม้าออกกำลังแล้ว เหงื่อม้าจะไม่ซึมออกมาข้างนอก เป็นรังแคง่าย ทำให้การทำความสะอาดม้าเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะขนม้ายาว การตัดขนนี้ต้องตัดทั่วตัวม้า ถ้าหากทำได้แล้ว ควรตัดขนม้าปีละ ๑ ครั้ง ในการตัดขนทุกครั้งควรตัดนอกโรงม้าเพราะขนม้าอาจปลิวไป เมื่อม้าตัวอื่นๆ หายใจเข้าไป จะทำให้อวัยวะหายใจของม้าพิการได้

๗. การตัดแผงคอ ผมหน้า และซอยหาง

(๗.๑) การตัดแผงคอของม้านั้น โดยทั่วไปดูว่า ม้าตัวนั้นมีแผงคอสวยหรือไม่ เจ้าของม้าบางคนไม่นิยมไว้แผงคอม้า อาจตัดออกก็ได้

(๗.๒) การตัดผมหน้า โดยธรรมดาทั่วไป ผมหน้านั้นป้องกันแดดส่องกระหม่อมและตา แต่ถ้าหากว่าผมหน้ายาวและหนาเกินไป ก็อาจตัดและซอยออกได้บ้าง เพื่อความสวยงาม และไม่ให้ผมหน้าเข้าตาม้าตลอดเวลา ซึ่งมักทำให้ตาม้าเจ็บ หรืออักเสบได้เสมอๆ

(๗.๓) การซอยหาง ขนหางม้ามีไว้สำหรับไล่แมลง แต่ถ้าหากว่ายาวเกินไปและหนา ก็อาจตัดและซอยออก เพื่อความสวยงามก็ได้ แต่ไม่ควรให้สั้นกว่าข้อน่องแหลม นอกจากนี้แล้วขนที่ควรตัด ได้แก่ เคราใต้คางม้าควรตัดให้หมด ขนที่ใต้ข้อน่องแหลม ไรกีบ ควรตกแต่งให้สวยงาม

๘. การตอกกีบ

เกือกม้าสำหรับม้าแข่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะแข่งทางราบ หรือแข่งกระโดด คล้ายๆ กับนักวิ่งที่ใส่รองเท้าตะปูกับนักวิ่งเท้าเปล่า รองเท้าจะทำให้การเกาะจับพื้นดินดีขึ้น ไม่ลื่น ในการตอกเกือกม้านี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ก่อนตอกดูการเดิน หลังการตอกก็ต้องดูการเดินของม้า ดูแนวตะปูเกือกสนิทหรือไม่ เอียงหรือตะแคงหรือไม่ ความสูงเท่ากันหรือไม่ นอกจากนี้แล้วจะต้องดูให้ปลายตะปูพับเรียบร้อยแนวเดียวกัน

๙. การบำรุงกีบม้า

การบำรุงกีบม้าเป็นสิ่งสำคัญมาก ถึงแม้ว่าม้าบางตัวกีบจะแข็ง แต่ผู้เลี้ยงบำรุงมักจะไม่เข้าใจเรื่องการบำรุงรักษากีบ ฉะนั้น กีบม้าจึงเสียบ่อยๆ วิธีบำรุงกีบม้าให้ปฏิบัติ ดังนี้คือ

(๙.๑) เมื่อกลับจากซ้อมหรือแข่งแล้ว ต้องแคะเอาดิน โคลน เศษหิน ฯลฯ ที่ติดอยู่ในกีบออกให้หมด

(๙.๒) การล้างกีบ ถ้าใช้น้ำอุ่นได้ยิ่งดี ถ้าใช้น้ำเย็น ไม่ควรล้าง เวลาที่ม้ากลับจากซ้อมหรือแข่งใหม่ๆ ควรรอให้ม้าพักประมาณ ๕ นาทีก่อน จึงล้างกีบ

(๙.๓) การที่จะให้ม้ากีบอ่อนเหนียว ต้องให้ม้าได้ออกกำลังกายทุกวัน และวิ่งในที่นุ่มๆ

(๙.๔) ห้ามขี่ม้าในที่แข็ง เช่น บนถนน ไม่ควรวิ่งเร็วเกินไป และไม่ควรผ่านพื้นที่ ที่มีก้อนหินโตๆ

(๙.๕) ห้ามใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ตะไบ กระดาษทราย ขัดถูที่ประทุน กีบ หรือพื้นกีบม้า เพราะจะทำกีบเสีย และทำให้กีบแห้งแตกร้าว แต่การใส่เกือกก็ตัดแต่งได้เล็กน้อย

(๙.๖) ม้าไม่ควรยืนบนพื้นแข็ง เช่น กระดานพื้นซีเมนต์นานๆ โดยไม่มีสิ่งปูรอง เช่น ฟางหรือหญ้า

(๙.๗) ถ้าม้ากีบแห้ง ควรทำให้กีบม้าอ่อน โดยใช้ดินเหนียวพอก หรือเอาผ้าชุบน้ำพัน หรือให้ม้ายืนในที่แฉะ เช่น ในโคลนที่ไม่สกปรก

(๙.๘) ไม่ควรเอาน้ำมันอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นพิษร้อน หรือยางไม้ทา

(๙.๙) ต้องคอยระวังเปลี่ยนเกือกม้าให้เรียบร้อยตามกำหนดของเกือก หรือถ้าตะปูหลุด หลวม หรือคลอน ก็จัดการแก้ไขทันที

(๙.๑๐) ถ้าม้าไม่ได้สวมเกือกนานๆ ควรได้ตัดแต่งกีบบ้าง เพื่อให้กีบมีรูปร่างถูกต้องเสมอ

คอกม้า


คอกม้าที่ขนาดเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงม้า ๑ ตัว ต้องมีขนาดกว้าง ๑๐ ฟุต และยาว ๑๐ ฟุต ซึ่งเป็นขนาดที่เพียงพอให้ความสะดวกสบายในการนอน ลุกขึ้นยืน และต้องมีที่สำหรับให้อาหารด้วย นอกจากนี้จำเป็นต้องทำความสะอาดคอกม้าเป็นประจำ

การให้อาหาร


ปริมาณและชนิดของอาหารที่จะให้แต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของม้า การใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม นอกจากจะให้อาหารหยาบจำพวกหญ้าสดหญ้าแห้งแล้ว ยังจำเป็นต้องให้อาหารเสริมชนิดอาหารผสมเป็นพิเศษอีกด้วย อาจให้ในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่อาจให้บ่อยครั้งในแต่ละวัน น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีให้ม้าดื่มกินได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการให้ม้ากินน้ำก่อนกินอาหารผสม
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป