อากาศเป็นส่วนผสมของก๊าซหลายชนิด
อากาศ
หรือบรรยากาศ เป็นส่วนผสมของก๊าซต่างๆ
รวมทั้งไอน้ำซึ่งระเหยมาจากพื้นน้ำในแหล่งต่างๆ ด้วย
อากาศที่ไม่มีไอน้ำอยู่ด้วย เราเรียกว่า "อากาศแห้ง"
ส่วนอากาศที่มีไอน้ำปนอยู่ด้วย เราเรียกว่า "อากาศชื้น"
ไอน้ำในบรรยากาศมีอยู่ระหว่างร้อยละ ๐ ถึง ๔ ของอากาศทั้งหมด
แต่ไอน้ำเป็นส่วนผสมสำคัญยิ่งของอากาศ เพราะไอน้ำเป็นต้นเหตุของการเกิดฝน
ลม พายุ ฟ้าแลบ และฟ้าร้อง |

ไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเกาะอยู่ข้างแก้ว |
อากาศแห้ง
มีส่วนผสมของก๊าซโดยประมาณดังนี้
ไนโตรเจน
ร้อยละ ๗๘
ออกซิเจน ร้อยละ
๒๑
อาร์กอน ร้อยละ
๐.๙๓
ก๊าซอื่นๆ ร้อยละ
๐.๐๗
ตามธรรมดาแล้วจะไม่มีอากาศแห้งแท้ๆ
อากาศทั่วไปจะเป็นอากาศชื้น คือ มีไอน้ำปนอยู่ด้วยตั้งแต่ร้อยละ ๐ ถึง ๔
ซึ่งหมายความว่า ถ้าอากาศชื้น มีน้ำหนัก ๑ กิโลกรัม
จะมีไอน้ำอยู่อย่างมากได้เพียง ๔๐ กรัม เมื่ออากาศมีไอน้ำปนอยู่ด้วย
จำนวนส่วนผสมของก๊าซอื่นก็จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย
ถ้าใส่น้ำแข็งสัก
๔ หรือ ๕ ก้อนลงไปในถ้วยแก้วซึ่งมีน้ำอยู่ในถ้วยแล้วรออยู่สักครู่หนึ่ง
เราจะเห็นว่ามีหยดน้ำเกาะอยู่รอบๆ ภายนอกถ้วยแก้ว ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า
ไอน้ำมีอยู่ในอากาศ
และเมื่ออากาศเย็นจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเกาะติดอยู่ที่ถ้วยแก้ว
ซึ่งเรามองเห็นได้ง่าย |

องค์ประกอบของบรรยากาศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความสูง |
หน้าที่บางอย่างของบรรยากาศ
อากาศที่มีอยู่รอบโลกของเรานี้
มีอยู่ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปจนถึงระดับสูงๆ ในท้องฟ้า
ที่บริเวณใกล้พื้นดินอากาศจะมีความแน่นมาก ส่วนที่ระดับสูงๆ
จากพื้นดินขึ้นไปอากาศจะบางลง หรือเจือจางลง เช่น ที่ระดับสูงประมาณ ๖
กิโลเมตรจากพื้นดิน จะมีอากาศจางลง
และเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของอากาศที่ผิวพื้นดิน ที่ระดับสูง ๖
กิโลเมตรนี้
มนุษย์ต้องใช้หน้ากากออกซิเจนช่วยในการหายใจ จึงจะมีชีวิตอยู่ได้
|
นอกจากอากาศ
หรือบรรยากาศจะมีความจำเป็นในการหายใจสำหรับชีวิตของมนุษย์ และสัตว์แล้ว บรรยากาศยังมีหน้าที่ช่วยปกป้องโลกอีกหลายอย่าง เช่น
ก.
บรรยากาศทำหน้าที่คล้ายเครื่องบังคับอุณหภูมิไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
บรรยากาศทำหน้าที่คล้ายร่มบังแสงจากดวงอาทิตย์
ทำให้พื้นโลกไม่ร้อนเกินไป
และบรรยากาศยังสกัดกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีอันตรายจากดวงอาทิตย์
ไม่ให้ผ่านลงมาถึงพื้นโลกมากเกินไปด้วย โดยบรรยากาศที่ระดับสูงๆ
จากพื้นดินทำหน้าที่กรอง หรือดูดรังสีอัลตราไวโอเลต
หรือแสงเหนือม่วงเอาไว้ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือแสงเหนือม่วง
มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ สัตว์ และพืช เพราะฉะนั้น
รังสีที่ผ่านมาถึงพื้นโลกจึงมีแต่รังสีแสงซึ่งช่วยให้เรามองเห็น
และรังสีความร้อนเป็นส่วนใหญ่
ข.
บรรยากาศทำหน้าที่เป็นเกราะกั้นลูกอุกกาบาต
ในวันหนึ่งๆ
จะมีลูกอุกกาบาตขนาดเล็กๆ ตกจากภายนอกโลก เข้ามายังโลกวันละหลายล้านลูก
ลูกอุกกาบาตเหล่านี้วิ่งสู่โลกด้วยความเร็วสูง
และเมื่อเข้ามาถูกบรรยากาศของโลกจะเกิดการเสียดสีกับบรรยากาศ
ทำให้เกิดความร้อนสูง และเผาไหม้ลูกอุกกาบาตเป็นผงไป
มิฉะนั้นแล้วมนุษย์ที่ผิวโลกจะได้รับอันตรายจากการตกของลูกอุกกาบาตมากขึ้น
ค.
บรรยากาศทำหน้าที่คล้ายผ้าห่ม
บรรยากาศยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นคลื่นสั้น
ผ่านเข้ามายังพื้นโลก เมื่อพื้นโลกรับรังสีจากดวงอาทิตย์แล้ว
จะส่งรังสีออกไปอีกแต่เป็นรังสีคลื่นยาว
รังสีคลื่นยาวที่ส่งออกมาจากพื้นโลกนี้ จะถูกบรรยากาศ
และไอน้ำดูดไว้เป็นส่วนมาก โดยเหตุนี้โลกจึงมีความอบอุ่นอยู่เสมอ
มิฉะนั้นแล้วที่พื้นโลก จะร้อนเกินไปในเวลากลางวัน
และจะหนาวเย็นเกินไปในเวลากลางคืน |

บรรยากาศยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ผ่านเข้ามายังพื้นโลก
แต่บรรยากาศดูดรับรังสีจากพื้นโลกไว้ โลกจึงไม่หนาวเย็นมาก |
ในลักษณะเช่นนี้ บรรยากาศทำหน้าที่คล้ายเรือนกระจกสำหรับเพาะปลูกต้นไม้เมืองร้อนให้เติบโตได้ในเขตหนาว
เรือนกระจกยอมให้รังสีคลื่นสั้นของดวงอาทิตย์ผ่านเข้ามาได้ แต่ไม่ยอมให้รังสีคลื่นยาวภายในเรือนกระจกผ่านออกไป
ฉะนั้นภายในเรือนกระจกจึงอบอุ่นอยู่เสมอ |

เรือนกระจก ซึ่งยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ผ่านเข้าไป
แต่กระจกป้องกันไม่ให้คลื่นยาวจากภายในผ่านออกไปภายนอกเรือนกระจก
ฉะนั้นภายในจึงมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ด้นไม้จึงเติบโตได้ |
นอกจากหน้าที่สำคัญดังกล่าวของบรรยากาศแล้ว
ลมฟ้าอากาศยังมีความสำคัญต่อการเพาะปลูก หรือการเกษตรกรรมของประเทศอีกด้วย
ชาวนาต้องมีความรู้ในเรื่องลมฟ้าอากาศบ้าง
มิฉะนั้นเขาก็จะไม่ทราบว่าควรทำนาเมื่อไร ส่วนงานด้านอื่น เช่น
ด้านการบินจำต้องอาศัยความรู้เกี่ยวข้องกับอากาศ
เพราะนักบินจะต้องทราบล่วงหน้าว่าเมื่อเขาบินไปลงสนามบินอีกแห่งหนึ่งนั้น
ลักษณะอากาศในระหว่างเส้นทางบิน และที่สนามบินปลายทางจะต้องอยู่ในสภาพดี
เพราะถ้ามีสภาพอากาศเลวร้ายมากขณะเดินทาง
หรือเมื่อเครื่องบินไปถึงอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
โดยที่บรรยากาศมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เราดังกล่าวมานี้
เราจึงควรศึกษาเรื่องของบรรยากาศ
ซึ่งเป็นการศึกษาวิชาอุตุนิยมวิทยานั่นเอง
|