การวัดความกดอากาศ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 2
เล่มที่ ๒
เรื่องที่ ๑ การจำแนกและการจัดหมวดหมู่ของสัตว์
เรื่องที่ ๒ เวลา
เรื่องที่ ๓ บรรยากาศ
เรื่องที่ ๔ การตรวจอากาศ
เรื่องที่ ๕ อุตสาหกรรม
เรื่องที่ ๖ อุปกรณ์ขยายขอบเขตของสัมผัส
เรื่องที่ ๗ มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย
เรื่องที่ ๘ การศึกษา
เรื่องที่ ๙ กรุงเทพมหานคร
เรื่องที่ ๑๐ ตราไปรษณียากรไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒ / เรื่องที่ ๔ การตรวจอากาศ / การวัดความกดอากาศ

 การวัดความกดอากาศ
การวัดความกดอากาศ

ในวิชาอุตุนิยมวิทยา การวัดความกดอากาศมีความสำคัญมาก เพราะในบริเวณความกดอากาศสูง (high pressure) หรือแอนติไซโคลน (anticyclone) มักจะมีอากาศดี และสงบ ส่วนบริเวณความกดอากาศต่ำ (low pressure) หรือไซโคลน (cyclone) มักจะมีอากาศไม่ดี เช่น พายุ หรือฝน

บารอมิเตอร์แบบฟอร์ติน บารอมิเตอร์แบบฟอร์ติน (Fortin barometer)
สำหรับวัดความกดอากาศ

นักอุตุนิยมวิทยาใช้เครื่องมือ "บารอมิเตอร์" อย่างละเอียด สำหรับวัดความกดอากาศ หน่วยที่ใช้วัดความกดของอากาศนั้น อาจจะเป็นความสูง ของปรอท เป็นนิ้ว หรือเซนติเมตร ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรก็ได้ แต่ในปัจจุบัน ส่วนมากนิยมใช้หน่วยเป็น มิลลิบาร์ (millibar) เพราะเป็นหน่วยที่สะดวกกว่า ซึ่งเราจะเปรียบเทียบกันได้ ตามหลักการคำนวณต่อไปนี้

ถ้าความสูงของปรอทเท่ากับ ๗๖ เซนติเมตร เราจะคำนวณความกดของอากาศได้ดังนี้

ความกด = ความสูงของปรอท x ความหนาแน่นของปรอท x อัตราเร่งของโลก
    = ๗๖ ซม. x ๑๓.๖ กรัม/ซม. x ๙๘๐.๔ ซม./วินาที
    = ๑,๐๑๓,๓๔๑ ไดน์/ซม.

จากมาตรา
    ๑ บาร์ (bar) = ๑,๐๐๐,๐๐๐ ไดน์ต่อตารางเซนติเมตร
    ๑ บาร์ = ๑,๐๐๐ มิลลิบาร์
    ๑ มิลลิบาร์ = ๑,๐๐๐ ไดน์ต่อตารางเซนติเมตร
  
ฉะนั้น ความกดสูง ๗๖ เซนติเมตรของปรอท
    = ความสูงของปรอท ๒๙.๙๒ นิ้ว
    = ๑,๐๑๓,๓๔๑ ไดน์ต่อ ๑ ตารางเซนติเมตร
    = ๑๔.๗ ปอนด์ต่อ ๑ ตารางนิ้ว
    = ๑,๐๑๓.๓ มิลลิบาร์

นอกจากบารอมิเตอร์ปรอทแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังใช้เครื่องวัดความกดอากาศอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "บารอมิเตอร์แบบแอนิรอยด์" (aneroid barometer) คำว่า "แอนิรอยด์" แปลว่า ไม่เปียก (คือ แห้ง) หลักของแอนิรอยด์บารอมิเตอร์ก็คือ การใช้กล่องโลหะ ซึ่งดูดอากาศออกเป็นบางส่วน เป็นเครื่องวัดความกดของอากาศ เมื่อความกดของอากาศเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้กล่องโลหะนั้นขยายหรือหดตัว เราสามารถ ใช้คานต่อจากกล่องโลหะไปที่หน้าปัด เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศได้
เครื่องบันทึกความกดอากาศ หรือบารอกราฟ
เครื่องบันทึกความกดอากาศ หรือบารอกราฟ
ถ้าเรามีความประสงค์จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงความกดของอากาศ ตลอดชั่วโมง ตลอดวัน หรือตลอดเดือน ก็สามารถทำได้ โดยใช้แขนปากกาต่อกับกล่องโลหะ ซึ่งถูกดูดอากาศออกเป็นบางส่วน แล้วใช้แผ่นบักทึกความกดม้วนรอบกระบอก ซึ่งหมุนด้วย ลานนาฬิกา เครื่องบันทึกความกดอากาศนี้เรียกว่า "บารอกราฟ" (barograph)
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป