การถลุงโลหะ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 2
เล่มที่ ๒
เรื่องที่ ๑ การจำแนกและการจัดหมวดหมู่ของสัตว์
เรื่องที่ ๒ เวลา
เรื่องที่ ๓ บรรยากาศ
เรื่องที่ ๔ การตรวจอากาศ
เรื่องที่ ๕ อุตสาหกรรม
เรื่องที่ ๖ อุปกรณ์ขยายขอบเขตของสัมผัส
เรื่องที่ ๗ มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย
เรื่องที่ ๘ การศึกษา
เรื่องที่ ๙ กรุงเทพมหานคร
เรื่องที่ ๑๐ ตราไปรษณียากรไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒ / เรื่องที่ ๕ อุตสาหกรรม / การถลุงโลหะ

 การถลุงโลหะ
การถลุงโลหะ

คือ การนำแร่ไปผ่านกรรมวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้โลหะที่บริสุทธิ์ หรือเกือบบริสุทธิ์ตามต้องการ กรรมวิธีถลุงโลหะมีหลายขั้นตอน แต่สามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนหลัก ๓ ขั้นตอนคือ การเตรียมแร่ การถลุงแร่ และการทำโลหะที่ได้จากการถลุงให้บริสุทธิ์ หรือมีคุณสมบัติตามต้องการ

การเตรียมแร่ ประกอบด้วยการล้าง การบดแร่ ร่อนแร่ให้ได้ขนาดรวมถึงการแต่งแร่ (mineral dressing) คือ การทำให้แร่มีปริมาณแร่จริงๆ สูงขึ้น (แยกเอาส่วนที่ติดมากับแร่ เช่น หิน ดิน และสิ่งอื่นๆ ออกให้มากที่สุด) ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การทำให้ลอยตัว (flotation) การแยกด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic drum seperator) การแยกด้วยน้ำ (settling classifier) การใช้โต๊ะแยกแร่ (shaking table)

การถลุงโลหะคือ การทำโลหะซึ่งอยู่ในรูปของสารประกอบ (ในสินแร่) ให้กลายเป็นโลหะ การถลุงโลหะส่วนใหญ่ต้องใช้ความร้อนในการถลุง และมีวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในการถลุงโลหะส่วนใหญ่เป็นปฏิกิริยาลดออกซิเจน (reduction) ทั้งนี้ เนื่องจากสารประกอบโลหะในสินแร่ส่วนใหญ่รวมตัวเป็นสารประกอบที่เป็นออกไซด์ หรือคาร์บอเนต โลหะที่ได้จึงเป็นโลหะที่ยังไม่บริสุทธิ์

เมื่อได้โลหะที่ไม่บริสุทธิ์จากการถลุงแล้วจะต้องนำไปผ่านขั้นตอนทำให้บริสุทธิ์ หรือเปลี่ยนเป็นโลหะรูปอื่น การทำโลหะให้บริสุทธิ์ใช้ความร้อน และออกซิเจนเป็นตัวทำให้ส่วนที่ไม่บริสุทธิ์กลายเป็นออกไซด์ เช่น เหล็ก โลหะบางชนิดทำให้บริสุทธิ์โดยการแยกด้วยไฟฟ้า (electrolysis) เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น

หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป