ยาง
ยางเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มากอีกอย่างหนึ่ง
ยางธรรมชาติได้มาจากการกรีดผิวของต้นยางพารา (hevea brasiliensis)
ซึ่งมักจะเจริญงอกงามอยู่ตามบริเวณใกล้เขตเส้นศูนย์สูตร
ในที่ซึ่งมีอากาศร้อน ฝนตกชุก และดินดี
ยางสด
ยางสด
(latex) ที่กรีดได้จากผิวของต้นยางพารานั้นมีลักษณะข้นขาว
เมื่อสะสมยางสดไว้แล้วก็ชั่งหาน้ำหนัก
แล้วให้ยางสดผ่านตะแกรงเพื่อแยกเอาเศษผง หรือสิ่งสกปรกออก
จากนั้นก็เทลงถังใหญ่แล้วผสมกับกรดอะเซติก (acetic acid) หรือกรดฟอร์มิก
(formic acid) อย่างอ่อนเพื่อทำให้ยางสดจับตัวเป็นก้อน
จากนั้นนำไปรีดให้เป็นแผ่นบางๆ ด้วยลูกกลิ้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำจัดน้ำ
และน้ำกรดที่จะยังหลงเหลืออยู่ออกด้วย แผ่นยางนี้จะถูกนำไปรมควัน
และผึ่งแห้งประมาณ ๔-๕ วัน ที่อุณหภูมิ ๔๐-๕๐ องศาเซลเซียส
โดยใช้ควันจากไม้สดๆ ควันนี้จะทำให้แผ่นยางกลายเป็นสีน้ำตาล
ในขณะเดียวกัน ควันก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดราบนแผ่นยางได้
ยางที่ได้นี้เรียกว่า ยางดิบ (crepe rubber) หรือยางแผ่นรมควัน
ซึ่งจะถูกส่งไปสู่ผู้ผลิตสินค้าประเภทยางต่อไป ยางดิบอาจใช้ทำประโยชน์
เช่น ทำพื้นรองเท้า หรือถุงมือยางได้ แต่ส่วนมากไม่นิยมใช้ยางดิบทำ
เพราะยางดิบไม่คงคุณภาพที่อุณหภูมิสูง และอุณหภูมิต่ำ |

การเก็บน้ำยางสดจากต้นยางพารา | ยางดิบ
ยางดิบมักจะเยิ้มเป็นยางเหนียวในฤดูร้อน
และแข็งเปราะหักง่ายในฤดูหนาว เมื่ออุณหภูมิลดลง จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๓๘๒
นักประดิษฐ์ผู้หนึ่งชื่อ ชาลส์ กูดเยียร์ (Charles Goodyear, ค.ศ.
๑๘๐๐-๑๘๖๐ ชาวอเมริกัน) ผู้ซึ่งได้พยายามคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่
บังเอิญทำก้อนยางที่ผสมกับกำมะถันตกลงไปในเตา ขณะที่ทำการทดลองอยู่
ผลปรากฏว่า ยางก้อนนั้นเปลี่ยนคุณสมบัติเป็นยางที่ดี
ไม่อ่อนเสียรูปเวลาร้อน และไม่เปราะหักง่ายเวลาเย็น
วิธีการเปลี่ยนยางดิบให้มีคุณสมบัติดีขึ้นโดยผสมกับกำมะถันนี้ คือ
วิธีวัลคาไนเซชัน (vulcanization มาจากคำว่า vulcan
ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งไฟ ของชาวโรมันโบราณ)
ยางที่ได้รับการอบแบบวัลคาไนเซชันแล้วนี้ จะยังคงความยืดหยุ่นได้ดีอยู่เสมอ |
ยางเทียม
ความจำเป็นในการใช้ยางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่
๑ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของหลายประเทศต้องคิดค้นหายางเทียม (synthetic
rubber) ขึ้นใช้แทนยางธรรมชาติ ประเทศเยอรมันถูกตัดขาดจากแหล่งยางธรรมชาติ
เนื่องจาก การล้อมของฝ่ายสัมพันธมิตร จึงต้องดิ้นรนขวนขวายค้นคว้าประดิษฐ์ยางเทียมขึ้น
แต่ได้ยางเทียมที่ใช้ได้ไม่สู้ดีนัก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๒
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
ประเทศเยอรมันก็ประสบปัญหาขาดแคลนยางธรรมชาติอีก จึงได้คิดค้นทำยางเทียม ที่มีคุณภาพดีได้
๒ ชนิด คือ
๑. บูนาเอส (buna S) ทำมาจากก๊าซบูทาเดียน (butadiene) และสไตเรน
(styrene) ซึ่งเป็นของเหลว สกัดมาจากน้ำมันปิโตรเลียม
|

ผลิตภัณฑ์จากยาง |
๒.
บูนาเอ็น (buna N) ทำมาจากบูทาเดียน และอะไครโลนีไทรด์ (acrylonitride)
ซึ่งเป็นของเหลวที่ได้มาจากก๊าซอะเซทิลีน (acetylene) และกรดไฮโดรไซยานิก
(hydrocyanic acid)
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๕
กองทัพญี่ปุ่นได้ยึดเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราไว้ได้
ทำให้ยางธรรมชาติ ที่จะถูกส่งไปสหรัฐอเมริกา ถูกตัดขาดลง
จึงได้มีการผลิตยางเทียมกันเป็นการใหญ่จนปัจจุบันนี้ สหรัฐอเมริกา
เป็นผู้นำแนวหน้าของโลกในฐานะผู้ผลิตยางเทียม |