สมเด็จพระนเรศวรมหาราช - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 2
เล่มที่ ๒
เรื่องที่ ๑ การจำแนกและการจัดหมวดหมู่ของสัตว์
เรื่องที่ ๒ เวลา
เรื่องที่ ๓ บรรยากาศ
เรื่องที่ ๔ การตรวจอากาศ
เรื่องที่ ๕ อุตสาหกรรม
เรื่องที่ ๖ อุปกรณ์ขยายขอบเขตของสัมผัส
เรื่องที่ ๗ มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย
เรื่องที่ ๘ การศึกษา
เรื่องที่ ๙ กรุงเทพมหานคร
เรื่องที่ ๑๐ ตราไปรษณียากรไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒ / เรื่องที่ ๗ มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย / สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมัยราชอาณาจักรศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกู้ชาติไทยให้กลับมีอิสรภาพพ้นจากอำนาจพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ (ซึ่งเดิมลงมติกันแล้วว่า ตรงกับวันที่ ๒๕มกราคม) นับว่าเป็นชัยชนะอันเยี่ยมยอดในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผลแห่งชัยชนะที่ทรงมอบให้แก่ชาติไทยครั้งนี้ ทำให้พม่าไม่กล้ายกมาย่ำยีประเทศไทยอีกเป็นเวลานาน สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงใช้เวลาต่อมาจากนั้น ยกทัพไปปราบถึงพม่า จนเป็นที่เกรงขามทั่วไป ทรงปราบปรามเขมร ซึ่งมักประพฤติตนเป็นศึกสองหน้า แทรกแซงอยุธยาขณะมีศึกพม่าอยู่บ่อยๆ

ภาพเขียนภาพเขียนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเล่นชนไก่กับมังสามเกียด (จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดสุวรรณดาราราม เขียนโดยพระยาอนุศาสตร์จิตรกร)

ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมีพระชันษาเพียง ๙ ปี ประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระบิดานั้น พระเจ้าบุเรงนองแห่งประเทศพม่า ได้ยกทัพมาตีราชอาณาจักรศรีอยุธยา ยึดได้เมืองพิษณุโลก บีบบังคับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชไว้ในอำนาจ และขอองค์สมเด็จพระนเรศวรไปไว้ที่กรุงหงสาวดี โดยอ้างว่า จะเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรม ทั้งที่โดยแท้จริงคือ ยึดพระองค์ไว้ในฐานะตัวประกัน แต่การก็กลับเป็นประโยชน์แก่สมเด็จพระนเรศวร ที่ได้ทรงศึกษาถึงนิสัยใจคอภาษา และการทหารของชาวพม่าและมอญ จนได้ทรงใช้เป็นประโยชน์ ในการกู้บ้านเมืองในเวลาต่อมา

ครั้นกรุงศรีอยุธยาตกอยู่ใต้อำนาจพม่า และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทยแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงทูลขอสมเด็จพระนเรศวร กลับมาช่วยปกครองกรุงศรีอยุธยา นับแต่นั้นมา สมเด็จพระนเรศวรก็ได้ทรงแสดงพระบารมี และพระปรีชาสามารถในการทหาร ให้ปรากฏแก่ชาวไทย มอญ พม่า และเขมร หลายครั้งหลายครา เช่น ทรงต่อต้านกองทหารเขมร ซึ่งพระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมรเป็นผู้นำเข้ามารบกวนพระราชอาณาเขตไทย และทรงขับไล่ออกไปพ้นจากพระราชอาณาเขตได้ เป็นต้น

เมื่อกรุงหงสาวดีผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี สิ้นพระชนม์ พระเจ้านันทบุเรง ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา ทางพม่าได้แจ้งข่าวเปลี่ยนรัชกาลไปยังประเทศราชทั้งปวง ให้ผู้ครองประเทศราชไปเข้าเฝ้าตามพระราชประเพณี สมเด็จพระมหาธรรม ราชาธิราช ได้โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงเมืองแครง บังเอิญได้ทรงทราบถึงแผนการของพม่า ซึ่งคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากบุคคลสำคัญทางมอญหลายคนที่สนิทสนมคุ้นเคย ลอบมาทูลก่อนจะถึงเมืองพม่า สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงถือโอกาสประกาศอิสรภาพ เมืองแครง ใน พ.ศ. ๒๑๒๗ แยกราชอาณาจักรศรีอยุธยาออกเป็นอิสระจากอำนาจพม่า และเมื่อทางการพม่าจัดทัพใหญ่ให้พระมหาอุปราชา พระรัชทายาทเสด็จนำเข้ามาปราบปรามไทย สมเด็จพระนเรศวรซึ่งเสด็จขึ้นครองราชบังลังก์ใหม่ๆ ได้เสด็จนำทัพออกไปจากกรุงศรีอยุธยา รับทัพข้าศึก แขวงเมืองสุพรรณบุรี ทรงทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนได้ชัยชนะ

ภาพเขียนภาพเขียนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงคาบพระแสงดาบนำทหารเข้าตีค่ายพม่า
(จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดสุวรรณดาราราม เขียนโดยพระยาอนุศาสตร์จิตรกร)

ด้วยเหตุนี้ พระเกียรติยศแห่งสมเด็จพระนเรศวร และชาติไทยยุคนั้น จึงเป็นที่เลื่องลือ ยังความเคารพยำเกรงให้เกิดแก่บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้รู้จัก ทั้งภายใน และภายนอกพระราชอาณาจักร สมเด็จพระนเรศวรจึงได้รับการถวายพระราชสมัญญา เป็น มหาราช

ภาพเขียน
ภาพเขียนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ(จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดสุวรรณดาราราม)

พระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน ยังคงมีปรากฏอยู่ ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นสมรภูมิครั้งนั้นสืบต่อมา
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป