ศาสนาและความเชื่อของไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 20
เล่มที่ ๒๐
เรื่องที่ ๑ ศาสนา และระบบความเชื่อในประเทศไทย
เรื่องที่ ๒ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ
เรื่องที่ ๓ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
เรื่องที่ ๔ เสียง และมลภาวะทางเสียง
เรื่องที่ ๕ เลเซอร์
เรื่องที่ ๖ เซลล์แสงอาทิตย์
เรื่องที่ ๗ อัญมณี
เรื่องที่ ๘ เวชศาสตร์การบิน
เรื่องที่ ๙ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์
เรื่องที่ ๑๐ การปลูกถ่ายอวัยวะ
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๐ / เรื่องที่ ๑ ศาสนา / ศาสนาและความเชื่อของไทย

 ศาสนาและความเชื่อของไทย
เครื่องสักการะบูชา
เครื่องสักการะบูชา

การทำขวัญนาค
การทำขวัญนาค
ศาสนาและความเชื่อของไทย

พุทธศาสนาเข้ามาในสังคมไทยก่อนสมัยสุโขทัยแล้ว ประวัติศาสตร์พูดถึงความเชื่อ พิธีกรรม และการปฏิบัติศาสนา ที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนา ความเชื่อแบบพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฝี ซึ่งจะสังเกตจากความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะในชนบท

ขวัญเป็นความเชื่อที่มาจากพราหมณ์ ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อให้คนมีสุขภาพดี มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น เมื่อพูดถึงวิญญาณ มักคิดถึงคนที่ตายไปยังมีวิญญาณเหลืออยู่ ในขณะที่ในทางพุทธศาสนา คำว่า วิญญาณเป็นเพียงการรับรู้

เทวดาเป็นสิ่งที่อยู่บนสวรรค์ และอาศัยอยู่ในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ป่าเขา ถ้าเป็นผี คนก็คิดถึงวิญญาณที่ไม่ดี หรือคนตายที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด ยังเร่ร่อนอยู่ ผีมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ คนเจ็บไข้ได้ป่วยอาจจะถูกผีทำ ต้องการไล่ผี หรือมีพิธี เพื่อให้ผีพอใจ มีการถวายหมูเห็ดเป็ดไก่เป็นเครื่องบูชา ผีมีอยู่ทั่วไป ทั้งผีดี และผีร้าย ผีปู่ย่า ผีปู่ตา ผีบ้าน ผีเรือน ผีไร่ ผีนา ผีป่า และผีร้ายอื่นๆ ตามวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง

ความเชื่อที่ผสมผสานอยู่ด้วยกัน ทั้งพุทธ พราหมณ์ และผี ดูมีความกลมกลืนในวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่มีความขัดแย้งกัน เป็นการเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า มีการจัดความสำคัญ และหน้าที่ของคน ในการปฏิบัติ มีหมอขวัญทำพิธีทางพราหมณ์ มีหมอธรรม หมอส่อง หมอลำผีฟ้าทำพิธีทางผี มีพระสงค์ทำพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

งานบุญประเพณีต่างๆ แสดงให้เห็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อทั้งสาม เช่น งานบุญบั้งไฟทางภาคอีสาน เป็นพิธีกรรมขอฝนจากแถน ซึ่งเชื่อว่า เป็นผู้สร้างโลก และสามารถดลบันดาลให้เกิดฝนได้ พิธีกรรมนี้เริ่มจากวัด มีการนำบั้งไฟไปไว้ที่วัด มีพิธี ซึ่งพระสงฆ์ พราหมณ์ และชาวบ้านทำร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว พระสงฆ์จะไม่ร่วมพิธีกรรมเกี่ยวกับผี แต่มีหลายหมู่บ้านที่มีเรือนผี และศาลพระภูมิในบริเวณวัด แต่อยู่นอกอุโบสถ ซึ่งถือว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดทางพุทธศาสนา

โดยปกติแล้ว ความเชื่อทั้งสามรูปแบบ จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ชาวบ้านไปทำบุญที่วัด ไปฟังเทศน์ฟังธรรม และร่วมพิธีกรรมทางศาสนา แต่เมื่อทำพิธีสู่ขวัญ ก็ไปหาพราหมณ์ ถ้าหากเจ็บไข้ได้ป่วย ก็หาหมอธรรม หมอส่อง หมอลำผีฟ้า ซึ่งทำหน้าที่สัมพันธ์กับผี
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป