สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 20
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๐ / เรื่องที่ ๓ จิตรกรรมไทย แบบประเพณี / ความเป็นอุดมคติกึ่งสมจริง
ความเป็นอุดมคติกึ่งสมจริง
ความเป็น
อุดมคติกึ่งสมจริง
การเขียนภาพเล่าเรื่องนิทานในพุทธศาสนา
โดยย้อนเวลาขึ้นไปถึงเรื่องสมัยพุทธกาล
หรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป นานจนนับไม่ได้
นับเป็นเรื่องอุดมคติทางศาสนาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
ที่กำหนดลักษณะของจิตรกรรมไทยโบราณ ให้เป็นรูปลักษณ์อย่างอุดมคติด้วย
โดยสอดคล้องกับเรื่องเล่า เช่น นิทานพุทธประวัติ
ชาดกหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับนรก สวรรค์ จักรวาล (ไตรภูมิ)
แต่เรื่องราวเหล่านี้ ก็อิงความสมจริงอยู่ด้วย
ทั้งนี้เพื่อการสื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องราว
นับเป็นการสั่งสอนด้วยภาพ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
จึงมีลักษณะที่เรียกว่า
อุดมคติกึ่งสมจริงซึ่งแตกต่างจากภาพเหมือนจริงของชาวตะวันตก |
เส้นสินเทา (หยักฟันปลา)
เหนือปราสาทราชมณเฑียร
จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กรุงเทพฯสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
|
การ
จัดวางภาพในงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี
ที่เป็นไป เพื่อความเข้าใจของผู้ดูนั้น
ช่างเขียนโบราณของไทยมีวิธีการโดยเฉพาะ คือ เรียงภาพเหตุการณ์ก่อน -
หลังตามเนื้อเรื่อง และเพื่อไม่ให้ฉากเหตุการณ์เหล่านั้นสับสนปนกัน
ก็คั่นแต่ละฉากแต่ละตอน ด้วยภาพทิวทัศน์ เช่น ต้นไม้ หรือบ้านเรือน
ช่างเขียนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ยังประดิษฐ์กรอบรูปสามเหลี่ยม ที่ขอบหยักคล้ายฟันปลา
เรียกตามภาษาช่างว่า
"สินเทา"
เพื่อแบ่งฉากเหตุการณ์หนึ่งให้แยกออกจากฉากอีกเหตุการณ์หนึ่ง
วิธีการนี้ยังได้ผลดีในการเน้นฉากเหตุการณ์ให้เด่นชัด
นับเป็นงานออกแบบที่งดงาม และแนบเนียน สอดคล้องกับลักษณะแสดงออก
ที่เป็นอุดมคติ ซึ่งแตกต่างจากจิตรกรรมเล่าเรื่องจริง
อันเป็นแนวสัจนิยม
ที่เข้ามาแพร่หลายเป็นที่นิยม พร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตก
ภาพเขียนเช่นนี้จะไม่มีลักษณะอุดมคติเข้าปะปน |
|