อุดมคติ
กึ่งสมจริงที่ปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย
การแสดงออกของช่างเขียนโบราณประกอบจากปัจจัยสำคัญหลายอย่าง
ที่ทำให้จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีคุณค่า
แตกต่างไปจากจิตรกรรมแนวตะวันตกเรื่องราวเนื่องในพุทธศาสนา เช่น
พุทธประวัติ หรือชาดก ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาพ
สืบทอดความนิยมกันมาช้านานและแม้จะเป็นเรื่องราวที่ซ้ำซาก
แต่ก็มีความแตกต่างกันของแต่ละยุคสมัย ตามทัศนคติของสังคม
ที่แปรเปลี่ยนอันเป็นผลต่อการแสดงออกของช่างเขียนด้วย
คัมภีร์เล่มเดียวกันหรือเนื้อเรื่องเดียวกัน
เมื่อช่างนำมาเขียนเป็นภาพเล่าเรื่อง ก็มีความแตกต่างกันด้วย
ขึ้นอยู่กับช่างหรือสังคมนั้น
ให้ความสำคัญต่อประเด็นความเชื่อในเนื้อหาตอนใด เช่น
ภาพเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ที่เขียนขึ้นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
บางแห่งให้ความสำคัญแก่จำนวนอันมากมาย
จนนับไม่ได้ของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เสด็จมาตรัสรู้บนโลกนี้ ก่อนพระพุทธเจ้าของเรา (พระศรีศากยมุนี)
ดังกล่าวนี้มีระบุไว้ในคัมภีร์ของพุทธศาสนา
โดยมิได้ระบุรายพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติเหล่านั้น
ช่างเขียนนำมาแสดงเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงรายเป็นแถว
แต่ละแถวเรียงซ้อนกันจนเต็มผนัง
ส่วนจิตรกรรมบางแห่งก็เขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงกันเพียงจำนวน ๒๔
หรือ ๒๘ พระองค์ อันเป็นจำนวนอดีตพระพุทธเจ้า
ที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ ซึ่งคัมภีร์เล่มเดียวกัน
ได้ระบุพระนามของแต่ละพระองค์ไว้
การเลือกให้ความสำคัญตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์
คงสะท้อนศรัทธาความเชื่อที่ผิดแผกกันไปบ้าง
เรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติได้รับความนิยมน้อยลง
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพที่มีอยู่กลับเป็นภาพเล่าเรื่องมีหลายตอนต่อเนื่องกัน
แตกต่างจากเรื่องเดียวกัน ที่เขียนขึ้น เมื่อกว่า ๔๐๐ ปี ที่ผ่านมา |
พระพุทธเจ้าในอดีต
จิตรกรรมฝาผนังกรุปรางค์ วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา
สมัยอยุธยาตอนต้น
|
แนวความนิยมในการแสดงเรื่อง
และลักษณะของภาพที่แตกต่างกันแต่ละสมัย
ช่วยให้ทราบกำหนดอายุก่อนหรือหลังของภาพจิตรกรรม
ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี
และทำให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านแนวความคิด
ที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนไปด้วย
ภาพเล่าเรื่องนิทานชาดกที่เขียนกันในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องด้วยฉากเหตุการณ์เดียว
มีภาพบอกเรื่องราวอยู่อย่างจำกัด
เพียงเพื่อให้ทราบเรื่องราวเฉพาะตอนสำคัญเพียงตอนเดียว ตัวอย่างเช่น
นิทานชาดกเรื่องมหาชนก
ที่ช่างเลือกเขียนเพียงฉากเรือของพระมหาชนกที่อับปางอยู่กลางทะเล
มีภาพนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกให้รอดพ้นจากการจมน้ำ
แต่เรื่องเดียวกันนี้ ที่เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
นิทานชาดกเรื่องดังกล่าวมีฉากเหตุการณ์อื่นเพิ่มขึ้น
รายละเอียดที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังมากขึ้น
เปิดโอกาสทำให้เราสามารถศึกษาแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ สังคม
ขนบประเพณี ที่แฝงอยู่ในภาพมากขึ้นด้วย จึงเท่ากับว่า
จิตรกรรมไทยแบบประเพณีเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ได้อย่างหนึ่ง |
นางมณีเมขลาช่วยพระมหาชนกพ้นจากเรือ
อับปางกลางทะเล จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
|
จิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติก็เช่นกัน
ตอนต่างๆ ในพุทธประวัติ ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพอย่างจำกัด ที่เรียกว่า
เหตุการณ์ตอนเดียว ระยะหลังจึงมีรายละเอียดประกอบฉากมากขึ้นทุกที
โดยแบ่งเป็นฉากย่อยๆ เพิ่มขึ้น
ซึ่งเป็นพัฒนาการเช่นเดียวกับภาพเล่าเรื่องพระพุทธเจ้า ในอดีตชาติ
และเรื่องชาดกที่กล่าวมาแล้ว
การคลี่คลายของลักษณะของจิตรกรรม
นอกจากช่วยให้เราสามารถสังเกตความแตกต่างของภาพ
และแนวความคิดในการแสดงออกที่แตกต่างกันไป ตามยุคสมัยแล้ว
ยังสะท้อนแนวความคิดวิธีการของช่างเขียน ที่แตกต่างไปตามยุคสมัยด้วย
กล่าวคือ
การแสดงเรื่องเล่าด้วยภาพเหตุการณ์ตอนเดียวของช่างสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
มีลักษณะในเชิงสัญลักษณ์ เพราะด้วยฉากเหตุการณ์ตอนเดียว
ก็สื่อให้ผู้ดูนึกถึงเรื่องราวได้ตลอดทั้งเรื่อง
ช่างเขียนเลือกเหตุการณ์ในท้องเรื่องมาเขียนเป็นภาพ ย่อมเลือกเหตุการณ์
ที่เด่นเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของเรื่องราวทั้งหมด |

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งทรงผนวช
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมัยรัชกาลที่ ๕
|
เมื่อ
การเขียนภาพเชิงสัญลักษณ์คลี่คลายไปในระยะหลัง
โดยสร้างฉากเหตุการณ์เพิ่มขึ้น
การแสดงออกของช่างจึงสื่อความทางด้านรายละเอียดมากกว่าก่อน
เป็นช่องทางที่ช่างได้แสดงศิลปะของตน
โดยสร้างฉากเหตุการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
รายละเอียดต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
ต้องการความสามารถในการออกแบบควบคุมทุกสิ่ง ที่ปรากฏเป็นภาพ
ให้มีความสอดคล้องแนบเนียน
ทำให้ผู้ดูภาพเกิดความเพลิดเพลินกับฉากเหตุการณ์ ที่ต่อเนื่องกัน
จิตรกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลักษณะเช่นนี้ เป็นภาพเล่าเรื่องอย่างแท้จริง
ยิ่งไปกว่าจิตรกรรมที่แสดงฉากสัญลักษณ์
ซึ่งแสดงถึงภาพเหตุการณ์ตอนเดียว
ความแตกต่างดังกล่าว ต่างก็มีคุณค่า และมีความหมายโดยเฉพาะ กล่าวคือ
ช่างเขียนสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
แสดงความสามารถในการสื่อเรื่องราวเชิงสัญลักษณ์ แสดงถึงภูมิปัญญา
ในการคัดเลือกความเด่นชัดของเรื่องออกเป็นภาพ เพียงเหตุการณ์ตอนเดียว
ก็สามารถสื่อความได้ทั้งเรื่อง ส่วนช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
หรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ใช้ภูมิปัญญาเชิงช่างของตน
เพื่อควบคุมเรื่องราวที่เขียนเป็นฉากเหตุการณ์หลายฉาก
มีความหลากหลายของส่วนประกอบฉาก ให้รวมกันอย่างเป็นเอกภาพ
จิตรกรรมของไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก
นับตั้งแต่เรื่องราวที่นำมาเขียนภาพที่เป็นเรื่องจริง เช่น
พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตอลดจนลักษณะของจิตรกรรม ก็เปลี่ยนมาแสดงความเหมือนจริง
ตามแนวการเขียนภาพแบบตะวันตกด้วย |