สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 20
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๐ / เรื่องที่ ๔ เสียงและ มลภาวะทางเสียง / การเคลื่อนที่แบบคลื่น
การเคลื่อนที่แบบคลื่น
 รูปคลื่นที่ผิวน้ำที่เกิดจากการโยนก้อนหินลงไปในสระ |
การเคลื่อนที่แบบคลื่น
คนเราส่วนมากมีประสบการณ์เกี่ยวกับคลื่นมาตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก
เช่น เมื่อเราโยนก้อนหินลงไปในสระน้ำ ก้อนหินลงไปรบกวนน้ำ
ทำให้เกิดเป็นระลอกคลื่นเคลื่อนที่ออกไป และในที่สุดก็ถึงขอบสระ
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นใบไม้ที่ลอยอยู่ใกล้ๆ
จุดที่น้ำถูกรบกวนจะกระเพื่อมขึ้นลงผ่านตำแหน่งเดิม
แต่ไม่มีการกระจัดออกไป หรือเคลื่อนเข้ามาหาตำแหน่งที่ถูกรบกวนเลย
มีแต่เพียงคลื่นเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
โดยที่น้ำไม่ได้ถูกนำพาไปด้วย
คลื่นน้ำเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของปรากฏการณ์ทางกายภาพ
ที่มีลักษณะทางคลื่น ในโลกเรานี้มีคลื่นเต็มไปหมด ได้แก่ คลื่นเสียง
คลื่นกล เช่น คลื่นในเส้นเชือก คลื่นแผ่นดินไหว
คลื่นกระแทกที่เกิดจากเครื่องบินไอพ่น ซึ่งมีความเร็วเหนือเสียง
และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น แสงที่เรามองเห็น คลื่นวิทยุ สัญญาณโทรทัศน์
และรังสีเอกซ์ เป็นต้น
สำหรับคลื่นน้ำ สิ่งที่เรามองเห็นก็คือ
การจัดพื้นผิวของน้ำใหม่ ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่มีคลื่น
เราสะบัดเส้นเชือกให้มีคลื่นวิ่งไป ถ้าไม่มีเส้นเชือก ก็จะไม่มีคลื่น
คลื่นเสียงเดินทางผ่านอากาศ ก็เพราะว่า มีการแปรผันความดัน
ที่จุดหนึ่งเดินไปยังอีกจุดหนึ่ง เราเรียกว่า
เป็นคลื่นในรูปแบบของการรบกวน ที่เกิดต่อตัวกลาง และเคลื่อนที่ไป
จึงพิจารณาได้ว่า คลื่นก็คือ การเคลื่อนที่ของการรบกวน
ซึ่งก็เป็นสถานะของตัวกลางนั่นเอง ไม่ใช่การเคลื่อนที่ของอนุภาค
|
|