สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 22
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๒ / เรื่องที่ ๑ ภาษาศาสตร์ / ประโยค
ประโยค
ประโยค
ในระดับประโยค
นักภาษาศาสตร์ศึกษาถึงโครงสร้างของวลีและประโยค
ซึ่งเกิดจากการที่นำคำมาเรียงต่อกันเป็นลำดับ จากซ้ายไปขวา
ถ้าเราพิจารณาประโยคต่อไปนี้ก็จะเห็นได้ว่า
การนำคำมาเรียงกันเป็นประโยคนั้นมีกฎเกณฑ์ กล่าวคือ
มิใช่คำใดจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ได้
และถ้าไม่เรียงตามกฎเกณฑ์ก็จะไม่เป็นประโยค เช่น
/ แจ๋วใส่เสื้อสีเขียวตัวนี้ทุกวันพุธ / ทุกวันพุธ แจ๋วใส่เสื้อสีเขียวตัวนี้
/ เสื้อสีเขียวตัวนี้ แจ๋วใส่ทุกวันพุธ
X แจ๋วตัวนี้ เสื้อทุกใส่สีเขียววันพุธ
X ทุกแจ๋ว เสื้อวันพุธใส่สีเขียวนี้ตัว
X วันพุธทุกสีเขียวใส่ตัวนี้เสื้อแจ๋ว
X เสื้อแจ๋วนี้ทุกวันพุธตัวสีเขียวใส่
ถ้าวิเคราะห์รายละเอียดต่อไปอีกก็จะเห็นว่า
ถ้าไม่เรียงคำตามกฎเกณฑ์ จะได้สิ่งที่ไม่เป็นประโยค ไม่สื่อความ
มากกว่าสิ่งที่เป็นประโยค และสื่อความได้
และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลประโยคที่ถูกต้อง นักภาษาศาสตร์ก็ตั้งสมมติฐานว่า
คำในภาษานั้น แตกต่างกัน แยกได้เป็นประเภทต่างๆ (นาม สรรพนาม กริยา...)
แต่ละประเภทมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกัน
และคำที่อยู่ในประโยคเดียวกันมีความสัมพันธ์มากน้อยไม่เท่ากัน
เป็นต้นว่า "สีเขียว" สัมพันธ์ใกล้ชิดกับ "เสื้อ" มากกว่าสัมพันธ์กับคำว่า "ใส่" "ทุก" สัมพันธ์กับ "วันพุธ" มากกว่าคำอื่นๆ
ในประโยค ซึ่งแสดงว่าคำในประโยคเดียวกันเกาะกันเป็นกลุ่มๆ ตามความสัมพันธ์หรือที่เรียกกันว่า "วลี"
และกลุ่มคำเหล่านี้ก็แยกเป็นประเภทต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคำ (นามวลี
กริยาวลี บุพบทวลี...) ในแง่ของความสัมพันธ์ของคำและกลุ่มคำในประโยค
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด
จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้มิได้อยู่ในระดับเดียวกัน (จากซ้ายขวา)
ทั้งหมด แต่สูงต่ำลดหลั่นกัน ดังเช่น
นักภาษาศาสตร์ใช้วิธีแยกแยะคำในประโยคออกมาเป็นกลุ่มในลักษณะนี้
เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มคำ และระดับของความสัมพันธ์ว่า
อยู่ระดับเดียวกันหรือไม่
แง่ของการเรียงคำ
นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาประโยคในภาษาต่างๆ และสรุปว่า
การเรียงคำในประโยคของภาษาต่างๆ ในโลก มี ๒ แบบใหญ่ๆ คือ
การวางคำกริยาไว้หน้ากรรม และการวางคำกริยาไว้หลังกรรม หรือ กริยา+กรรม
และ กรรม+กริยา ตัวอย่างเช่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภาษาอังกฤษ
โดยทั่วไปวางคำกริยาไว้หน้ากรรม ส่วนภาษาพม่า ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฮินดี
โดยทั่วไปวางกรรมไว้หน้ากริยาหรือกริยาไว้ท้ายประโยค เช่น ภาษาพม่า
เรียงคำดังนี้ "อูถิ่น-ซองจดหมาย-ซื้อ" "เขา-ตลาด-ไป"
และการเรียงคำ ๒ แบบนี้ผูกพันกับการเรียงคำอื่นๆ ด้วย เป็นต้นว่า
คำวิเศษณ์อยู่หน้าหรือหลังคำนาม คำบุพบทอยู่หน้าหรือหลังคำนาม
คำเปรียบเทียบอยู่หน้าหรือหลังคำเปรียบ เช่น
ภาษาไทยวางคำเปรียบเทียบไว้หลังคำวิเศษณ์ เช่น ใหญ่กว่า ดีกว่า
แต่ภาษาพม่าเรียงคำเป็น กว่าใหญ่กว่าดี
หรือภาษาอังกฤษเรียงคำขยายไว้หน้าคำนาม เช่น ใหญ่ บ้าน ดีเด็ก
แต่ภาษาไทยเรียงแบบตรงข้าม เช่น บ้านใหญ่ เด็กดี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษาทุกภาษาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
และสภาพแวดล้อมประกอบกับผู้พูดภาษาต่างกัน
มีโอกาสได้หยิบยืมภาษาของกันและกันด้วย จึงทำให้ภาษาโดยทั่วไปมีลักษณะผสม
คือ ภาษาหนึ่งอาจวางกรรมไว้หน้ากริยา แต่อาจวางคำขยายไว้หลังคำนามก็ได้
เช่น ภาษาไทยอาจเรียงประโยคแบบ "ประธาน-กรรม-กริยา" คือ มันน่ะ ข้าวกินแล้ว
|
|