ข้อความ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 22
เล่มที่ ๒๒
เรื่องที่ ๑ ภาษาศาสตร์
เรื่องที่ ๒ เครื่องถ้วยไทย
เรื่องที่ ๓ เครื่องจักสาน
เรื่องที่ ๔ ไม้ดอกหอมของไทย
เรื่องที่ ๕ เครื่องมือทุ่นแรง และเครื่องจักรกลเกษตร
เรื่องที่ ๖ อาชีวอนามัย
เรื่องที่ ๗ ครอบครัวไทย
เรื่องที่ ๘ สัตว์ทะเลหน้าดิน
เรื่องที่ ๙ ท่าอากาศยาน
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๒ / เรื่องที่ ๑ ภาษาศาสตร์ / ข้อความ

 ข้อความ
“เรื่องราวก็มีอยู่ว่า.....”
"เรื่องราวก็มีอยู่ว่า....."

โรงเรียน นักเรียน อาจารย์ - กลุ่มคำเดียวกัน
โรงเรียน นักเรียน อาจารย์ - กลุ่มคำเดียวกัน
ข้อความ

ในระดับข้อความ นักภาษาศาสตร์ศึกษาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างประโยค เพื่อพิจารณาว่า อะไรเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่า ประโยคต่างๆ นั้นสื่อความเรื่องเดียวกันอยู่ เมื่อพิจารณากลุ่มประโยค ๒ กลุ่มต่อไปนี้ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันในแง่ของความเป็น "เรื่อง" หรือ "ข้อความ"

๑. สมศรีเป็นนักเรียนตัวอย่างของโรงเรียนนี้ เธอเป็นเด็กฉลาด และมีความขยันหมั่นเพียร เธอมาโรงเรียนแต่เช้าทุกวัน เมื่อมาถึง เธอจะนั่งอ่านหนังสือ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว หรือไม่ เธอก็อ่านล่วงหน้าไปก่อนที่อาจารย์จะสอน

๒. สมศรีเป็นนักเรียนตัวอย่างของโรงเรียนนี้ สุนัขสองตัววิ่งไล่กันในสนาม ประตูเปิดเวลาแปดนาฬิกา ถ้าฝนตกรถจะติด ที่นี่อาหารราคาไม่แพง มีคนมาสมัครเป็นจำนวนมาก ผู้หญิงคนนั้นสอนภาษาไทย เด็กๆ มาแต่เช้า

ประโยคในกลุ่มที่ ๑ มีความสัมพันธ์กัน สื่อความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน

ประโยคในกลุ่มที่ ๒ ไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ถึงแม้จะมีหลายประโยค ก็ไม่ได้สื่อความเป็นเรื่อง หรือเป็นข้อความ

นักภาษาศาสตร์กล่าวว่า สิ่งที่บอกให้รู้ว่าประโยคต่างๆ มีความสัมพันธ์กัน และสื่อข้อความเป็นเรื่องเดียวกัน ประการหนึ่งคือ การอ้างอิงถึงกันและกัน ซึ่งส่วนมากแล้ว ประโยคที่ตามหลัง มักจะอ้างอิงถึงประโยคที่นำมาก่อน ดังในประโยคกลุ่มที่ ๑ คำว่า "เธอ" ในประโยคที่ตามมาล้วนอ้างอิงถึง "สมศรี" ในประโยคแรกทั้งสิ้น "เธอ" ทำให้ผู้อ่าน (ผู้รับสาร) ทราบได้ว่า ข้อความในประโยคต่างๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "สมศรี" คำว่า "โรงเรียน" ก็มีใช้ ๒ ครั้ง เป็นการย้ำบอกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "โรงเรียน" นอกจากนี้คำว่า "นักเรียน" "โรงเรียน" "หนังสือ" "อาจารย์" "อ่าน" "สอน" ก็ล้วนเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่า เป็นกลุ่มคำ ที่มักใช้ในบริบทของการเรียนการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญมีคำเชื่อมความ "และ" "หรือไม่" บอกให้รู้ว่า ข้อความในประโยคต่างๆ เหล่านี้เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน

ส่วนประโยคในกลุ่มที่ ๒ ไม่มีคำสรรพนามที่จะใช้อ้างอิงถึงคำนามในประโยคที่นำมา และไม่มีคำเชื่อมความระหว่างประโยค ทั้งคำศัพท์ที่ใช้ ก็ไม่มีความสัมพันธ์กัน ประโยคทั้งหมด จึงไม่มีข้อความที่เกี่ยวเนื่องกัน และไม่สามารถสื่อความเป็นเรื่องได้
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป