สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 22
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๒ / เรื่องที่ ๗ ครอบครัวไทย / วัฎจักรของครอบครัวไทย
วัฎจักรของครอบครัวไทย
 ครอบครัวขยาย ที่ประกอบด้วยคน ๓ รุ่น คือ ตายายพ่อแม่ ลูก
| วัฎจักรของครอบครัวไทย
เมื่อการย้ายที่อยู่หลังการแต่งงานเป็นไปในลักษณะดังกล่าว
จึงมีผลโดยตรงกับวัฎจักรของครอบครัว หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ
การเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก
กับการเป็นครอบครัวขยาย ซึ่งในที่นี้ขอใช้ในความหมายกว้าง ซึ่งหมายถึง
ลักษณะของครอบครัวที่ประกอบด้วยคน ๓ รุ่น คือ ตายาย พ่อแม่
และลูกสาวลูกเขย ขึ้นอยู่กับขั้นตอนแต่งงานของลูกสาว
ซึ่งทำให้เกิดวัฎจักรการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยาย ไปสู่ครอบครัวเดี่ยว
และจากครอบครัวเดี่ยวไปสู่ครอบครัวขยาย ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑
ครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกชาย ลูกสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน
ขั้นตอนที่ ๒
เมื่อลูกชายลูกสาวถึงวัยแต่งงาน
ลูกชายแต่งงานแล้ว ออกไปอยู่กับบ้านฝ่ายหญิง ลูกสาวคนโตแต่งงาน
และพาสามีเข้ามาอยู่ในบ้าน เมื่อลูกสาวมีลูก
ทำให้เกิดสภาพเป็นครอบครัวขยาย
เมื่อลูกสาวคนเล็กแต่งงาน ลูกสาวคนโต และสามี ย้ายออก
ลูกสาวคนเล็ก และสามี มีลูก และทั้งคู่อยู่ดูแลพ่อแม่
ช่วงที่ครอบครัวของลูกสาวอยู่ในบ้านของพ่อแม่ และผลัดกันย้ายออก
นับเป็นช่วงของครอบครัวขยายที่กินเวลายาวนาน
และจะเป็นช่วงของวัฎจักรของครอบครัว ที่เป็นครอบครัวขยาย
ตราบเท่าที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
การเป็นครอบครัวขยายในขั้นตอนที่ ๒ นี้
นักมานุษยวิทยาเรียกว่าเป็น stem family
ซึ่งหมายถึงการที่ตายายและพ่อแม่อยู่เป็นหลัก
และลูกผลัดกันอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และย้ายออกไปในลักษณะที่กล่าวมาแล้วว่า
เมื่อลูกคนรองแต่งงานพาสามีเข้ามา
ลูกคนโตและสามีก็แยกครอบครัวออกไปตั้งบ้านเรือนใหม่
ซึ่งแตกต่างจากครอบครัวจีน ซึ่งเป็นครอบครัวขยาย ในลักษณะที่
ไม่ว่าลูกชายคนใดจะแต่งงาน จะพาสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน
ในบ้านจึงมีทั้งครอบครัวของพี่ชายคนโต คนรอง และน้องคนเล็ก
แต่ถ้าเป็นครอบครัวไทย ลูกที่แต่งงานแล้ว จะอยู่กับพ่อแม่ชั่วคราว
จนกระทั่งมีลูกของตัวเอง หรือเมื่อน้องคนต่อไปแต่งงาน หรือเมื่อพร้อม
ก็จะย้ายออกไปตั้งครอบครัวใหม่
ขั้นตอนที่ ๓
พ่อแม่เสียชีวิต
วัฎจักรของครอบครัวกลับกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง
ลูกสาวคนเล็กกับสามีกลายเป็นเจ้าของบ้าน โดยลูกสาวคนเล็ก
เป็นผู้ได้รับมรดกจากพ่อแม่
ดังนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่า
ครอบครัวไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือเป็นครอบครัวขยาย
ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือครอบครัวขยาย
ขึ้นอยู่กับว่า ครอบครัวนั้นๆ อยู่ในช่วงใดในวัฎจักรของครอบครัว
โดยปกติเมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาหมู่บ้านในภาคต่างๆ ของไทย
จะพบทั้งหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว
และครอบครัวขยายเพราะในหมู่บ้านหนึ่งๆ
ย่อมประกอบด้วยบ้านซึ่งอาจจะอยู่ในสถานะของครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย
แต่ถ้านักมานุษยวิทยาคนเดียวกันกลับไปที่หมู่บ้านเดิมที่เคยเข้าไปศึกษาเมื่อสิบปีต่อมา
จำนวนของครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายในหมู่บ้านนั้น
ก็จะต่างไปจากจำนวนที่ได้บันทึกไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่
การเป็นครอบครัวขยายนั้น
มีความโน้มเอียงที่เป็นครอบครัวขยายที่มีองค์ประกอบ ที่ค่อนมาทางฝ่ายหญิง
และครอบครัวของฝ่ายหญิง |
|