สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 22
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๒ / เรื่องที่ ๙ ท่าอากาศยาน / องค์ประกอบในเขตการบิน
องค์ประกอบในเขตการบิน
 ทางวิ่ง
 ลานจอดอากาศยานประเภทอยู่ชิดอาคารผู้โดยสาร
โดยเครื่องบินจะจอดเทียบสะพานเทียบเครื่องบิน
 ทางออกขึ้นเครื่องบิน
| องค์ประกอบในเขตการบิน
ทางวิ่ง (RUNWAY)
คือ
พื้นที่สนามบินที่จัดเตรียมไว้ สำหรับการขึ้นลงของเครื่องบินโดยเฉพาะ
ทางวิ่งมีลักษณะเหมือนถนน แต่ต้องแข็งแรงทนทานกว่า
เนื่องจากต้องรองรับเครื่องบิน ซึ่งมีน้ำหนักพิกัดมาก พื้นผิวทางวิ่ง
อาจเป็นคอนกรีต หรือแอสฟัลต์ติคคอนกรีตก็ได้ แต่ที่สำคัญต้องมีผิวเรียบ
และมีความลาดเอียง ที่เหมาะสมกับการให้เครื่องบินขึ้นลงได้อย่างสะดวก
และปลอดภัย ความยาวของทางวิ่งขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ของท่าอากาศยาน
และความต้องการใช้ทางวิ่งของเครื่องบินแต่ละแบบ
ถ้าเครื่องบินมีน้ำหนักพิกัดมาก (น้ำหนักรวมเมื่อบรรทุกเต็ม)
ก็จะต้องใช้ทางวิ่งยาว
สำหรับจำนวนของทางวิ่งที่ท่าอากาศยานแต่ละแห่งนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่
ทิศทางลมและปริมาณการจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยานนั้นๆ
ท่าอากาศยานขนาดใหญ่มักมีทางวิ่งมากกว่าหนึ่งทางวิ่ง เช่น
ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีทางวิ่งสองทางวิ่ง แต่ละทางวิ่งมีความยาวประมาณ
๓,๗๐๐ เมตร และสามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกแบบ
เนื่องจากทางวิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของเครื่องบิน
ขณะขึ้นลง ดังนั้น จึงต้องมีเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์
ให้นักบินสังเกตเห็นทางวิ่งได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน คือ
เวลากลางวันจะสังเกตได้จากเครื่องหมาย ซึ่งอาจเป็นตัวเลข หรือตัวอักษร
ส่วนเวลากลางคืนจะมีไฟนำร่องเป็นเครื่องหมายนำร่อง
เพื่อนำเครื่องบินสู่ทางวิ่ง นอกจากนั้นยังต้องมีเครื่องช่วยเดินอากาศ
เพื่อใช้ในเวลาที่สภาพอากาศไม่ดีอีกด้วย
ทางขับ (TAXIWAY)
คือ
พื้นที่บนสนามบินที่จัดเตรียมไว้สำหรับให้เครื่องบินขับเคลื่อน
ระหว่างลานจอดอากาศยานกับทางวิ่ง หรือกล่าวได้ว่า ทางขับเป็นเส้นทาง
ที่เชื่อมระหว่างลานจอดอากาศยานกับทางวิ่ง คุณลักษณะของทางขับ
เหมือนกับทางวิ่ง คือ ต้องมีพื้นผิวเรียบ
และรองรับน้ำหนักเครื่องบินได้อย่างดี ทั้งยังต้องมีความกว้างที่เหมาะสม
และปลอดภัยต่อเครื่องบิน
ลานจอดอากาศยาน (APRON)
คือ
พื้นที่ที่จัดไว้สำหรับเป็นที่จอดเครื่องบิน ซึ่งต้องมีความกว้าง
และมีขนาดพอให้เครื่องบินจอด และเข้าออกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้น
ต้องมีพื้นที่เพียงพอ สำหรับรถบริการที่จะเข้าไปให้บริการด้านต่างๆ
ในลานจอดอากาศยาน ขณะที่เครื่องบินจอดอีกด้วย ลานจอดอากาศยาน
อาจอยู่ชิดกับตัวอาคารผู้โดยสาร
หรืออยู่ห่างออกไปจากตัวอาคารผู้โดยสารก็ได้
ขึ้นอยู่กับการให้บริการผู้โดยสารในการขึ้นลงเครื่องบิน
ลานจอดอากาศยานที่อยู่ชิดกับตัวอาคารจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าสะพานเทียบเครื่องบิน
ยื่นออกไปจากอาคารผู้โดยสาร
เพื่อให้เครื่องบินจอดเทียบกับสะพานเทียบเครื่องบิน
ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินเข้า-ออกเครื่องบินโดยผ่านสะพานนี้
ผู้โดยสารมักจะนิยมเรียกว่า "งวง"
เนื่องจากมีลักษณะเหมือนงวงช้าง
ส่วนลานจอดอากาศยานที่อยู่ห่างจากตัวอาคารผู้โดยสารจะต้องมีระบบขนส่งผู้โดยสารระหว่างตัวอาคารและเครื่องบิน
ทางออกขึ้นเครื่องบิน/ทางเข้าจากเครื่องบิน (GATE)
คือ
จุดที่ผู้โดยสารออกจากอาคารผู้โดยสาร เพื่อไปขึ้นเครื่องบิน
หรือจุดที่ผู้โดยสารเข้าสู่ตัวอาคาร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
เป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างตัวอาคารผู้โดยสารกับเครื่องบิน
สถานีดับเพลิงและกู้ภัย (FIRE FIGHTING STATION)
ความปลอดภัยของเครื่องบิน
และผู้โดยสาร นับว่า
เป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งของการให้บริการของท่าอากาศยาน
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
จึงได้กำหนดให้ท่าอากาศยานต้องมีการช่วยเหลือผู้โดยสาร
และกู้ภัยเครื่องบิน กรณีที่มีอุบัติเหตุขณะขึ้นลงที่ท่าอากาศยาน
ดังนั้นท่าอากาศยาน จึงต้องสร้างสถานีดับเพลิง และกู้ภัย
เพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไป ที่ตั้งของสถานีจะอยู่ในเขตการบิน
ในตำแหน่ง ที่สามารถให้ความช่วยเหลือเครื่องบิน
ที่ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย |
|