สำหรับเด็กระดับกลาง - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 23
เล่มที่ ๒๓
เรื่องที่ ๑ ภูมิปัญญาไทย
เรื่องที่ ๒ วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)
เรื่องที่ ๓ การละเล่นพื้นเมือง
เรื่องที่ ๔ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
เรื่องที่ ๕ ชาติพันธุ์
เรื่องที่ ๖ เฟิร์นไทย
เรื่องที่ ๗ ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)
เรื่องที่ ๘ การทำงานใต้น้ำ
เรื่องที่ ๙ ระบบวิทยุ
เรื่องที่ ๑๐ การผลิตเบียร์
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๓ / เรื่องที่ ๒ วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ) / สำหรับเด็กระดับกลาง

 สำหรับเด็กระดับกลาง
"อิ่มเอ๋ย อิ่มก่อน จะไปดูละครโขนหนัง" คำกลอนที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยชอบดูละคร โขน และการเชิดหนังใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดง ที่มีความงดงาม และสนุกสนาน
รำโนรา
รำโนรา
ละครมีหลายประเภท ได้แก่ ละครรำ ละครร้อง และละครพูด ละครรำยังแบ่งเป็น ๓ แบบ คือ ละครชาตรี ละครใน และละครนอก

ละครชาตรี หรือละครโนราชาตรีเป็นละครรำแบบดั้งเดิม มีผู้แสดงสำคัญ ๓ คน เช่น ถ้าเล่นเรื่องมโนห์รา ก็จะมีตัวละครสำคัญ คือ พระสุธน นางมโนห์รา และพรานบุญ เรื่องที่แสดงนำมาจากนิทานพื้นเมือง และชาดก ในระยะแรกใช้การท่องจำบท หรือการด้นกลอนสด ต่อมาจึงมีการประพันธ์บทกลอนให้ไพเราะขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบละครชาตรี ได้แก่ ปี่ใน กลอง โทน ฆ้องคู่ ฉิ่ง และกรับ

ละครในเป็นละครที่แสดงในวัง ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน มีท่ารำที่งดงาม และทำนองดนตรีที่ไพเราะยิ่งนัก ละครในจะแสดงเพียง ๓ เรื่องเท่านั้น คือ เรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา ละครในเป็นการแสดงในราชสำนัก จึงมีความงดงามวิจิตรตระการตา พร้อมทั้งมีดนตรีปี่พาทย์เครื่องใหญ่ประกอบละครในจึงถือเป็นนาฎศิลป์ชั้นสูง
พระนารายณ์ปราบนนทุก
พระนารายณ์ปราบนนทุก
ละครนอกเป็นละครที่แสดงให้ชาวบ้านชม ผู้แสดงมีทั้งชายและหญิง เรื่องที่นำมาแสดงมักจะเป็นนิทานพื้นเมือง และนิทานชาดก บทละครนอกที่สืบทอดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ เรื่องการะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริวงศ์ นางมโนห์รา โม่งป่า มณีพิไชย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ โสวัต ส่วนบทละครนอกพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้แก่ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง และมณีพิไชย
ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :นกยูงฟ้อนหาง
ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :นกยูงฟ้อนหาง
ศิลปะการแสดงละครรำประกอบด้วยบทขับร้อง ดุริยางคดนตรี และการร่ายรำ องค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนี้ มีความงดงามสอดคล้องกลมกลืนกันอย่างยิ่ง ผู้แสดงละครรำต้องได้รับการฝึกหัดให้มีวินัย และขยันฝึกซ้อม ท่ารำจึงจะงดงามตามบทร้อง และทำนองดนตรี เช่น ตัวอย่างท่ารำในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ตอนพระนารายณ์ปราบนนทุก ก็คัดท่ารำต่างๆ ในกลอนตำรารำไปแต่งเป็นบทนารายณ์รำ
ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :กวางเดินดง
ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :กวางเดินดง
ขณะที่ผู้ชมละครได้ชมท่ารำที่งดงามนั้น ก็จะคอยด้วยความระทึกใจว่า เมื่อใด นนทุกจะถูกหลอกล่อให้ใช้นิ้วกายสิทธิ์ชี้ลงที่ตัวเอง จนกระทั่งถึงท่ารำพญานาคม้วนหาง นนทุกก็สิ้นฤทธิ์ ดนตรีปี่พาทย์ ก็จะบรรเลงสร้างบรรยากาศ ให้ตื่นเต้นเร้าใจ
ท่ารำต่างๆ เป็นการสื่อความหมาย แสดงอารมณ์ และบอกอิริยาบถต่างๆ ท่ารำบางท่า เลียนแบบอากัปกิริยาของคนและสัตว์ แต่นำมาปรับปรุงให้ประณีตงดงามขึ้น เช่น ท่าสอดสร้อยมาลา แสดงท่ากรีดกรายร้อยดอกไม้ ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ เช่น นกยูงฟ้อนหาง กวางเดินดง หงส์ลินลา กินรินเลียบถ้ำ ท่ารำที่เลียนแบบธรรมชาติ เช่น จันทร์ทรงกลด บัวชูฝัก เป็นต้น ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :กระต่ายต้องแร้ว
ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :กระต่ายต้องแร้ว
แม้ละครนอก จะแสดงให้ชาวบ้านดู และเล่นเรื่องพื้นๆ ไม่โอ่อ่าหรูหรา แต่ก็มีท่ารำที่งดงาม การดำเนินเรื่องรวดเร็ว ดังตัวอย่าง พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องสังข์ทอง ตอนรจนาเสี่ยงพวงมาลัย ซึ่งแสดงท่ารำตามบทอย่างชัดเจน  ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :แขกเต้าเข้ารัง
ท่ารำที่เลียนแบบกิริยาของสัตว์ :แขกเต้าเข้ารัง
เงาะป่า
เงาะป่า
เพลงปี่พาทย์ที่บรรเลงมีทั้งจังหวะเร็ว และจังหวะช้า ตามท่วงท่าและอารมณ์ ของตัวละคร เช่น กิริยาเดิน นอน เตรียมยกทัพ รบต่อสู้ รัก โอ้โลม สนุกเบิกบาน แสดงฤทธิ์ใช้เพลงพระยาเดิน บาทสกุณี เสมอข้ามสมุทร เชิดฉาน เหาะ โคมเวียน กลม เข้าม่าน การต่อสู้ใช้เพลงเชิดกลอง เชิดฉิ่ง เชิดนอก การนอนใช้เพลงตระนอน เป็นต้น

เยาวชนควรสนใจศึกษาละครรำ ซึ่งเป็นแหล่งรวมศิลปะชั้นสูง ทั้งนาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และดุริยางคศิลป์ เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้ง นอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้ว ยังก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม สืบทอดเป็นมรดกอันล้ำค่าตลอดมา
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป