ชนิดของการละเล่นพื้นเมืองของไทย
การละเล่นพื้นเมืองของไทยทั้ง ๓ ประเภท
ดังกล่าวข้างต้น มีรายละเอียดดังนี้
กลองเส็ง, กลองสองหน้า
การละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือบางจังหวัด
ได้แก่ บุรีรัมย์ หนองคาย เลย และเพชรบูรณ์ บางแห่งเรียกว่า "แข่งกลอง"
ซึ่งเป็นการแข่งขันตีกลองคู่ด้วยไม้ค้อนสองมือ กลองลูกหนึ่งๆ จะหนักมาก
ใช้คนหาม ๒ คน สนามแข่งขันส่วนใหญ่อยู่ภายในวัด
ตัดสินโดยฟังเสียงกังวานที่ดังก้องสลับกัน ประกอบกับท่าตีที่สวยงาม
เจ้าของกลองมักจะเป็นวัดในแต่ละหมู่บ้านที่สร้างกลองชนิดนี้ไว้
นิยมเล่นในเทศกาลเดือนหกจนถึงเข้าพรรษา
กระโดดสาก
การละเล่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ใช้สากไม้แก่น ยาวประมาณ
๔-๖ ศอก ศูนย์กลาง ๓ นิ้ว ๒ คู่ วางไขว้กัน
ผู้เล่นจับปลายสากหัวท้ายข้างละอัน ตีให้กระทบกันตามจังหวะเพลง มีตะโพน
และปี่บรรเลง ประกอบจังหวะ หนุ่มสาวรำเข้าจังหวะที่สากกระทบ
และกระโดดข้ามกลับไปกลับมาตามลีลาเพลงและท่ารำ เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน
มักเล่นในเทศกาลตรุษสารท
กระบี่กระบอง
เป็นการละเล่นที่นำเอาอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ของนักรบไทยสมัยโบราณมาใช้
มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น
ชาวบ้านต้องเผชิญกับภัยสงครามอย่างโชกโชนถึงกับเสียบ้านเมือง
ซึ่งอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ประหัตประหารกัน ได้แก่ ดาบ หอก ทวน แหลน หลาว
และเครื่องป้องกัน ๒ อย่าง คือ กระบี่ กระบอง
ในยามสงบทหารจะฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับข้าศึกในยามสงคราม ปัจจุบัน
กระบี่กระบองไม่ได้เป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้แล้ว
แต่ยังฝึกซ้อมไว้สำหรับแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติด้านศิลปะป้องกันตัว
นิยมฝึกหัดและเล่นกันในสถานศึกษา ชมรม และค่ายป้องกันตัว
เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตตามประวัติศาสตร์ชาติไทย
การเล่นจะมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะได้แก่ กลองแขก ฉิ่ง ฉาบ
เพื่อให้เกิดความเร้าใจและความฮึกเหิมในบทบาทของการต่อสู้
กันตรึม
เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทย เชื้อสายเขมร ในเขตอีสานใต้
ซึ่งเป็นชุมชน ที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์
และศรีสะเกษ ตามประวัติแต่โบราณ ใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง
รำคู่ และรำหมู่ ต่อมามีวิวัฒนาการของการเล่นคล้ายกับการเล่นเพลงปฏิพากย์
ในภาคกลาง มีกลองที่เรียกว่า "กลองกันตรึม" เป็นหลัก
เมื่อตีเสียงจะออกเป็นเสียง กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม
การเล่นจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม
ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน
เล่นได้ทุกโอกาส ไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคล หรืออวมงคล วงดนตรีประกอบด้วย กลอง
ซอ ปี่อ้อ ขลุ่ย ฉิ่ง กรับ ฉาบ กล่าวกันว่า ท่วงทำนองของเพลงกันตรึมมีกว่า
๑๐๐ ทำนอง บทเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม
ชมธรรมชาติ แข่งขันปฏิภาณ สู่ขวัญ เล่าเรื่อง ฯลฯ การแต่งกาย
แต่งตามประเพณีของท้องถิ่น ผู้หญิงนุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก
ผ้าสไบเฉียงห่มทับ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น
ผ้าไหมคาดเอวและพาดไหล่ |
การเล่นเข้าผี
|
การเล่นเข้าผี
การเล่นเข้าผีนิยมเล่นในเทศกาลตรุษ
สงกรานต์ของทุกภาค แต่จะแพร่หลายมาก ในภาคกลาง ภาคเหนือ เรียกว่า ฟ้อนผี
ซึ่งจะมีผีหลายชนิด ภาคใต้ เรียกว่า การเล่นเชื้อ
อุปกรณ์การเล่นขึ้นอยู่กับการเลือกเล่นเข้าผีชนิดใด เช่น ผีสุ่ม ก็ใช้สุ่ม
ผีกะลา ก็ใช้กะลา มีเครื่องประกอบ การเล่น เช่น ธูป เทียน สำหรับจุดเชิญ
และ ผ้าผูกตา เป็นต้น ส่วนที่สำคัญคือ คนรับอาสา ให้ผีเข้า
มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย มัก เล่นในเวลาเย็นหรือย่ำค่ำ
ผีที่นิยมเล่นคือ
ผีคน ได้แก่ เล่นแม่ศรี ผีเจ๊ก ผีนางกวัก
ผีสัตว์ ได้แก่ ผีลิงลม ผีควาย ผีช้าง
ผีหงส์ ผีมดแดง ผีอึ่งอ่าง ผีปลา ฯลฯ
ผีที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ ได้แก่ ผีกระด้ง
ผีสุ่ม ผีกะลา ผีจวัก
วิธีเล่น
เมื่อจุดธูปเชิญผีแล้ว ก็ผูกผ้าปิดตาผู้อาสาเชิญผีเข้า
ต่อมาจึงร้องเพลงเชิญผี เชิญผีชนิดใด ก็ร้องเพลงของผีชนิดนั้นๆ
เนื้อความของเพลงที่ร้อง จะร้องกันมาแต่โบราณ ร้องซ้ำๆ กัน หลายๆ ครั้ง
จนผู้อาสาให้ผีเข้าเริ่มโงนเงนแสดงว่า ผีมาแล้ว
ผู้ร่วมเล่นจะร้องเพลงเชิญชวนให้ ร่ายรำกระโดดโลดเต้น และวิ่งไปมา หรือไล่
จับกันไปตามอิริยาบถของลักษณะผีเมื่อเล่นเป็น
ที่พอใจแล้วประสงค์จะให้ผีออก ก็ร้องตะโกนที่หู
หรือผลักให้ล้มกระโดดข้ามตัวผู้อาสาเชิญไปมา ๓ เที่ยว
ผู้อาสาเชิญผีเข้าก็จะรู้สึกตัวเป็นปกติ
|
กาหลอ
กาหลอเป็นการละเล่นของภาคใต้ คือ การประโคมดนตรี สมัยโบราณจะเล่นในงานบวชนาค
งานขึ้นเบญจาฉลองพระ งานสงกรานต์ และงานศพ ปัจจุบันใช้เล่นเฉพาะงานศพเป็นส่วนใหญ่
วงกาหลอใช้เครื่องดนตรี ๓ ชนิด คือ ปี่ห้อ
หรือปี่กาหลอ กลองโทน ๒ ลูก (กลอง
๒ หน้า) และฆ้อง ๒ ใบ ปี่ทำหน้าที่ประดุจคนขับร้อง อธิบายภาษา และความหมายของเรื่อง ด้วยสัญลักษณ์ของเพลง ตั้งแต่เริ่มงานจน
สิ้นสุดงาน งานหนึ่งๆ จะใช้เพลงระหว่าง ๗
เพลง ถึง ๒๒ เพลง ตัวอย่างเพลงที่นำมาใช้
เช่น เหยี่ยวเล่นลม ทอมท่อม ยั่วยวน สุริยน
ทองศรี พลายแก้วพลายทอง พระพาย
นกเปล้า การจัดแสดงแต่ละครั้งจะเคร่งครัดใน
พิธีกรรมไหว้ครูมาก
|
พิณ กลองไห ใช้ในการเล่นครกมอง | ครกมอง
เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวอีสาน ที่แสดงวิธีการตำข้าวที่มีมาแต่โบราณ เป็นการรำหมู่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ไห โหวด
โปงลาง แคน ฉาบ พิณ จังหวะที่ใช้เป็นทำนองอีสาน เช่น ใช้ "ลายเพลงเกี้ยวสาว"
หรือ "ลายสุดสะแนนออกลายน้อย"
คำตัก
คำตักคือ
คำตักเตือน เป็นการละเล่นของปักษ์ใต้ เหมือนกับการทำขวัญกล่อมนาค
ของภาคกลาง เป็นบทร้อยกรองที่เป็นคติสอนใจ ขับกล่อมเมื่อทำขวัญนาค
และแห่นาค แม่เพลงจะว่าเป็นกลอนสดคล้ายๆ กับเพลงบอก
โดยลูกคู่ไม่จำกัดจำนวน จะร้องรับ และปรบมือ หรือตีฉิ่งให้จังหวะ
อาจมีเครื่องดนตรีอื่นๆ คือ ฉาบ ซอ ปี่ ขลุ่ย ทับยาว ตีเข้าจังหวะด้วย
|
คำบอก หรือเพลงบอก
คำบอกเป็นการละเล่นของปักษ์ใต้ สมัยก่อนนิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ เป็นการป่าวร้องให้ชาวบ้านทุกคนในละแวกได้ทราบว่า
ถึงวันขึ้นปีใหม่แล้ว ปัจจุบันเล่นประชันกันในงานบุญ งานวัด งานนักขัตฤกษ์ หรืองานมงคลของชาวบ้านทั่วไป ตั้งเป็นคณะ เพลงบอกคณะ
หนึ่งประกอบด้วยแม่เพลงและลูกคู่ ๓-๔ คน
คุณสมบัติของแม่เพลงต้องเฉียบแหลม เก่งใน
ทางกลอน
ชนวัว
เป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคใต้
แข่งเพื่อความ สนุกสนาน จะทำเป็นสนามชนวัว โดยใช้ลานดินกว้าง ล้อมคอกไว้
เมื่อเจ้าของปล่อยวัวพ้นคอก วัวทั้งสองจะตรงรี่เข้าปะทะ
และใช้เขาเสยเกยเขา ขาทั้งสี่ยืนหยัดสู้อย่างไม่ยอมถอย
ส่วนคนดูรายล้อมกันแน่นขนัด วัวจะเป็นวัวกระทิง รูปร่างบึกบึนกำยำ เขา หัว
ตัว และขาหน้า ต้องแข็งแรง เมื่อวิ่งเข้าปะทะหัวชนหัว เสียง สนั่น
ต่างไม่ยอมถอย ชนกันจนกว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะหมดแรง ปัจจุบันมักจะเล่นเป็น
การพนัน
เซิ้ง
การละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการร่ายรำหมู่ ทั้งหมู่หญิงล้วน ชายล้วน และผสมทั้งหญิงชาย เซิ้งเป็นคู่
ตั้งแต่ ๓-๕ คู่ เครื่องดนตรีประกอบการเล่น
ได้แก่ แกร๊ป โหม่ง กลองแตะ และกลองยาว
ลีลาของการเซิ้งต้องกระฉับกระเฉง แคล่วคล่อง
ว่องไว ทั้งนี้เพื่อมุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลิน
และผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจาก
การตรากตรำทำงาน กระบวนการเล่นเซิ้งจะนำ
สภาพการดำรงชีวิตมาดัดแปลง "เซิ้งสวิง"
เป็นลีลาท่ารำ เช่น นำลักษณะการจับปลา
โดยใช้สวิงมาประดิษฐ์เป็นลีลาการเล่น นำเอาอากัปกิริยาของหญิงสาวชาวบ้าน
ที่นำอาหารใส่กระติบข้าวไปส่งสามีและญาติ ที่กลางไร่กลางนามาประดิษฐ์เป็น
ลีลาท่า "เซิ้งกระติบข้าว" หรือนำการออกไปตีรังมดบนต้นไม้ เพื่อนำมาประกอบอาหาร มาประดิษฐ์เป็น "เซิ้งแหย่ไข่มดแดง"
ปัจจุบันเซิ้งได้วิวัฒนาการตามยุคสมัย
มีการคิดท่าเซิ้งใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก เรียกชื่อแตกต่างกัน
ตามลักษณะของการเลียนแบบสภาพวัฒนธรรม ที่มีอยู่ในพื้นเมืองนั้นเป็นหลัก
เช่น เซิ้งโปง เซิ้งกระหยัง เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสุ่ม ฯลฯ
และไม่ว่าจะคิดท่าเซิ้งใดๆ ขึ้น
ลักษณะของเซิ้งก็จะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ไว้ในลีลาการเต้น
ท่าเดิมไม่แตกต่างไปเลย
เดินไม้สูง
การละเล่นของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า เดินขาโกกเกก มักใช้ไม้ไผ่เป็นไม้ค้ำ มีง่ามสองอัน สำหรับยืนเหยียบ
เพื่อใช้เดินต่างเท้า เวลาเดินมีเสียงดัง ก้าวจะยาว มักใช้แข่งเรื่องความเร็ว
|
การำกลองยาว | เถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว
ประเพณีการเล่นเถิดเทิง หรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว สันนิษฐานว่า เป็นของพม่า
เล่นมาก่อน ตั้งแต่ครั้งทำสงครามสมัยกรุงธนบุรี
เครื่องประกอบการเล่นคือ กลองยาว กรับ ฉาบ
และโหม่ง ผู้เล่นแต่งตัวเลียนแบบเครื่องแต่งกายพม่า หรือจะให้สวยงามตามความพอใจก็ได้ ใส่
เสื้อแขนกว้างและยาวถึงข้อมือ นุ่งโสร่งตา มีผ้า
โพกศีรษะ ผู้ตีกลองยาวบาทพวกตีหกหัวหกก้น
แลบลิ้นปลิ้นตา กลอกหน้า ยักคิ้วยักคอไปพลาง
ผู้ตีกลองจะต้องแสดงความสามารถในการตีกลอง
ด้วยท่าต่างๆ เช่น ถองหน้ากลองด้วยศอก
โขกด้วยคาง กระทุ้งด้วยเข่า โหม่งด้วยหัว และ
ด้วยลีลาท่าทางต่างๆ ที่จะทำให้กลองยาวดังขึ้น
ได้ บางครั้งจะขะมุกขะมอมไปทั้งตัว เป็นที่
สนุกสนานมาก คนดูที่นึกสนุกจะเข้าร่วมวงก็ได้
ที่เรียกว่า "เทิ้งบ้อง" นั้น คงจะมาจากเสียง
กลองยาว ที่เริ่มด้วยจังหวะ "เถิด-เทิง-บ้อง,
บ้องเทิงบ้อง ฯลฯ" เลยเรียกว่า เถิดเทิง หรือ
เทิ้งบ้องกลองยาว ควบกันไป เพื่อให้แตกต่าง
จากกลองอย่างอื่น เป็นประเพณีการเล่นในภาค
กลาง นิยมเล่นในเวลาตรุษสงกรานต์ หรืองาน
แห่แหน ซึ่งต้องเดินเคลื่อนขบวน พอถึงที่ใด
เห็นมีลานกว้างหรือเป็นที่เหมาะก็หยุดตั้งวงเล่น
และรำกันเสียพักหนึ่ง เคลื่อนไปหยุดเล่นไปสลับ
กัน
โปงลาง
เป็นเครื่องดนตรีของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์
วิวัฒนาการมาจากเกราะหรือขอลอ ตีเพื่อให้เกิดเสียงดัง โปง หมายถึง เสียงของโปง ลาง
หมายถึง สัญญาณบอกลางดี หรือลางแห่งความรื่นเริง โปงลาง จึงหมายถึง เครื่องดนตรีที่
มีเสียงแห่งลางดี ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เรียงร้อย
กัน ๑๒ ท่อน ใช้แขวนเวลาตี การบรรเลงใช้
คน ๒ คน ตีเข้าจังหวะเร็ว รุกเร้าด้วยความ
สนุกสนาน มักจะเล่นเข้าวงกัน
แปดบท
เป็นการละเล่นของภาคใต้ เป็นชื่อฉันทลักษณ์ร้อยกรองของคำกลอน สมัยก่อนนิยมเล่น
เพื่อแสดงความสามารถโต้ตอบกันในเชิงกลอน
ระหว่างชายและชายด้วยกัน หรือชายกับหญิง
ประฝีปาก หรือปฏิภาณโวหาร เพื่อความเป็นเลิศ
นักเลงที่เล่นแปดบท จะโต้ตอบกันทันที เมื่อได้พบปะกัน โดยไม่เลือกสถานที่ ผู้ขับแปดบทที่
จะให้คติเตือนใจในงานต่างๆ มักจะเขียนติดไว้ตาม
ศาลา ต้นไม้ บ่อนชนไก่ ฯลฯ เป็นเครื่อง
เตือนสติได้
|
เพลงนา
เพลงพื้นเมืองภาคใต้ เพลงนาเป็นการเล่นกลอนโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง มักเล่นในเวลาทำนา เช่นเดียวกับเพลงปฏิพากย์ในภาคกลาง
และในเทศกาลงานมงคลทั่วไป เป็นบทที่สื่อความรัก เกี้ยวพาราสี ต้นเสียงเรียกว่า "แม่เพลง" จะเป็นผู้ร้องนำ ซึ่งต้องมีปฏิภาณไหวพริบ
และคารมคมคาย กลุ่มเสริมเรียกว่า "ท้ายไฟ"
ทำหน้าที่คล้ายลูกคู่ ร้องไปพร้อมๆ กับแม่เพลง
เพื่อให้ท่วงทำนองน่าฟังยิ่งขึ้น แบบแผนการเล่น
เริ่มด้วยบทบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า เกริ่นหน้าบท
แล้วเข้าเรื่อง คือ ชมโฉม ขอผูกรัก เป็นต้น
เพลงเรือ
เพลงพื้นเมืองภาคใต้ ทำนองเป็นกลอน
เพลงสำหรับให้จังหวะในการพายเรือ นิยมเล่นกันในฤดูน้ำหลากอย่างเรือภาคกลาง เช่น ใน
พิธีชักพระ ปัจจุบันห่างหาย และหาดูได้ยาก |
ฟ้อนเล็บ
ฟ้อนของภาคเหนือ
ฟ้อนมองเชิง
การแสดงระบำชุด "กินนรร่อนรำ" ของวิทยาลัยนาฏศิลป จ.พัทลุง | ฟ้อน
ฟ้อนเป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองของชาวเมืองเหนือ จำแนกการฟ้อนตามลักษณะกิจกรรม คือ
ฟ้อนผี ฟ้อนเมือง ฟ้อนแบบไทยใหญ่ และฟ้อนม่าน
๑. ฟ้อนผี
ฟ้อนที่สืบเนื่องจากการนับถือ
ผี ได้แก่
ฟ้อนผีมด, ฟ้อนผีเมือง เพื่อเซ่นสังเวยผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า ผีประจำตระกูล จะ
ทำทุกๆ ๓ ปี โดยสร้างปะรำ ตั้งเครื่องเซ่นสังเวย
ที่ลานบ้าน ผู้ฟ้อนเป็นผู้หญิงในตระกูล นุ่งโสร่ง
ทับผ้าที่คล้องคอ และโพกศีรษะ ฟ้อนตามจังหวะของดนตรี ซึ่งเป็นดนตรีวงสะล้อซอซึง
ฟ้อนผีเจ้านาย มีลักษณะเหมือนฟ้อน
ผีมด
ฟ้อนผีนายด้ง เป็นการละเล่นที่เล่น
กันในงานสงกรานต์ เหมือนเล่นแม่ศรีของ
ภาคกลาง แต่เล่นในเวลากลางคืน โดยให้
ผู้หญิง ๔-๕ คน จับกระด้งที่ใช้ฝัดข้าว แล้วขับลำนำเพลง เพื่อให้ผีนางด้งมาเข้าฟ้อนรำจนเป็นที่พอใจ
๒. ฟ้อนเมือง
เป็นลีลาการฟ้อนของ
คนเมือง ได้แก่
ฟ้อนเล็บ เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ นิยมฟ้อนนำขบวนแห่ครัวทาน เรียกกันว่า "ฟ้อนเมือง" "ฟ้อนแห่ครัวทาน"
ใช้ผู้ฟ้อนเป็นชุด ตั้งแต่ ๖ คน ๘ คน ๑๒ คน (จนถึง ๑๐๐-๒๐๐ คน ก็ได้ เช่น
ในงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ) การแต่งกาย
จะสวมเสื้อแขนกระบอกผ่าอกติดกระดุม ห่มผ้าสไบทับเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง
ป้ายข้างยาวกรอมเท้า ไม่สวม รองเท้า สวมเล็บทำด้วยโลหะทองเหลืองลักษณะ
ปลายเรียวแหลมยาวประมาณ ๓ นิ้ว ผมทรง เกล้ามวยใช้ดอกเอื้องประดับมวย
เครื่องดนตรีที่ ใช้บรรเลงประกอบคือ วงกลองตึ่งนง ซึ่ง
ประกอบด้วยเพลงตึ่งนง (กลองแอว) กลอง ตะโล้ดโป๊ด แนหลวง แนน้อย ฆ้องโหม่ง
ฆ้องหุ่ย และสว่า (ฉาบ)
ฟ้อนเทียน มีท่วงท่าลีลาการฟ้อน
การแต่งกาย และเครื่องดนตรี เหมือนกับฟ้อนเล็บทุกประการ เพียงแต่เปลี่ยนจากการสวมเล็บ
มาถือเทียนแทน เป็นการฟ้อนจัดร่วมนำขบวน
แห่ขันโตก เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "ฟ้อน
เชิญโตก"
ความงดงามของศิลปะการฟ้อนเล็บ และฟ้อนเทียนจะอยู่ที่ลีลาการบิดข้อมือ
และการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ นุ่มนวลสอดคล้องกับทำนองเพลง
ฟ้อนอย่างมีระเบียบ และพร้อมเพรียงกัน
ฟ้อนเจิงเซิง เป็นการฟ้อนของช่างฟ้อนผู้ชาย ฟ้อนเป็นชุดต่อเนื่องกัน เริ่มด้วย
ฟ้อนเจิง คำว่า "เจิง" หมายถึง "ชั้นเชิง"
เป็นการแสดงชั้นเชิงของลีลาท่าทางร่ายรำต่างๆ
ซึ่งแสดงออกในท่วงท่าของนักรบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่า โดยเคลื่อนไหวร่างกาย และแยกแขน
ยกขา ทำท่วงท่าทีต่างๆ ซึ่งช่างฟ้อนจะแสดงชั้นเชิงแตกต่างกันไป ตามการคิดประดิษฐ์ท่าทางของแต่ละคน
ตบมะผาบ เป็นการละเล่นของภาคเหนือ คือ การใช้มือเปล่าตบไปตามส่วนต่างๆ
ของร่างกาย พร้อมกับกล่าวคาถาอาคม ลูบตามแขนขา ทั่วร่างกาย ตามความเชื่อทางไสยศาสตร์
เพื่อให้เกิดความคงกระพันชาตรี มีการยกเท้า
งอเข่า งอศอก บิดตัวไปมา หลอกล่อคู่ต่อสู้ไป
ด้วย โดยลีลาของฟ้อนเจิงและตบมะผาบจะ
ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กันตามจังหวะของดนตรี
ทั้งจังหวะช้าๆ และรวดเร็ว มีการกระโดดด้วย
ท่าทางผาดโผนต่างๆ อย่างน่าดูยิ่ง
ฟ้อนดาบ
เป็นการแสดงที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับชั้นเชิงต่อสู้ป้องกันตัว
ผสมผสานกับลีลาท่าฟ้อน ที่สง่างาม การฟ้อนดาบของล้านนา หรือภาคเหนือมี ๒
แบบ คือ
- เชิงดาบแสนหวี เป็นเชิงการฟ้อน
ดาบของไทยใหญ่
- เชิงดาบเชียงแสน เป็นเชิงการ
ฟ้อนดาบของคนเมือง
ฟ้อนสาวไหม
ท่าฟ้อนสาวไหมแต่ดั้งเดิมเป็นท่าแม่บทท่าหนึ่ง ในการฟ้อนเจิง
ช่างฟ้อนเป็นหญิงแต่งกายพื้นเมืองแบบเดียวกับฟ้อนเล็บ
ท่าฟ้อนมีลีลาอ่อนช้อยมาก เป็นท่าฟ้อนที่เลียนแบบกิริยาอาการสาวไหม
เครื่องดนตรีที่ใช้ ประกอบคือ วงสะล้อ-ซึง บรรเลงทำนองเพลง แบบ "ซอปั่นฝ้าย"
๓. ฟ้อนแบบไทยใหญ่
มีศิลปะการฟ้อนของชาวไทยในภาคเหนือปรากฏอยู่เป็นเอกลักษณ์
ฟ้อนกิ่งกระหร่า กำเบ้อดง และเล่นโต
"กิ่งกระหร่า" หมายถึง กินนรา กำเบ้อดง "กำเบ้อ" หมายถึง ผีเสื้อ "ดง"
หมายถึง ชื่อแม่น้ำสาละวิน "โต"
เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ชนิดหนึ่ง รูปร่างลักษณะเป็นสัตว์สี่เท้า
นิยมแสดงในงานเทศกาลออกพรรษา ตามตำนานที่เล่า
สัตว์เหล่านี้มาแสดงความรื่นเริง ต้อนรับพระพุทธองค์
เมื่อครั้งเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากโปรดพระพุทธมารดา
ผู้แสดงเป็นกิ่งกระหร่า
แต่งกายด้วยเสื้อผ้า สีดำ หรือสีอื่นๆ ก็ได้ สวมกางเกง
มีปีกหางทำด้วยโครงไม้ไผ่ที่บุด้วยผ้าแพร หรือผ้ามีสี ปักดิ้นเงินดิ้นทอง
ตกแต่งเป็นลวดลายสวยงาม มีเชือกผูกติดปีกหาง โยงมายังมือผู้ฟ้อน
เพื่อให้เคลื่อนไหวได้ สวมมงกุฎ สังวาล และเครื่อง ประดับต่างๆ ให้ดูงดงาม
สวมหน้ากากรูปหน้า คนทาสีขาว ผู้แสดงมีทั้งหญิงและชาย ท่าการ
ฟ้อนเลียนแบบธรรมชาติของนก ซึ่งบางแห่ง เรียกว่า "ฟ้อนนางนก" สำหรับกำเบ้อดงจะประดิษฐ์ปีกเป็นแบบผีเสื้อ ลักษณะคล้ายคลึงกับกิ่งกระหร่า
ฟ้อนมองเชิง คำว่า "มองเชิง" ใน
ภาษาไทยใหญ่แปลว่า "ฆ้องชุด"
วงมองเชิงคือ วงดนตรี นิยมใช้ในกระบวนแห่
และบรรเลงในงานทั่วไปของชาวไทยใหญ่ และมีอิทธิพลให้คนเมืองบางท้องถิ่น
รับอิทธิพลลักษณะการเล่นประสมวงมาด้วย บางทีก็เรียกว่า "ฟ้อนไต"
ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนเงี้ยวเป็นที่รู้จักกันในภาคเหนือปัจจุบัน
เป็นการประดิษฐ์ท่ารำ โดยช่างฟ้อนในวังของพระราชายาเจ้าดารารัศมี
ซึ่งเลียนแบบท่วงท่าของการฟ้อนแบบชาวไทยใหญ่ ผสมกับลีลานาฎศิลป์ภาคกลาง
จึงเกิดเป็นการฟ้อนชนิดนี้ขึ้น
๔. ฟ้อนแบบม่าน
คำว่า "ม่าน"
ใน ภาษาล้านนาหมายถึง พม่า ด้วยเหตุที่บริเวณภาคเหนืออยู่ติดกับประเทศพม่า
จึงมีการรับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมต่างๆ ของพม่าหลายด้าน
สำหรับด้านนาฏศิลป์ ฟ้อนม่านมุยเชียงตา เป็นฟ้อนที่พระราชชายา
เจ้าดารารัศมี ทรงริเริ่ม ขึ้น โดยมีช่างฟ้อนในคุ้มและในวังร่วมกับครูช่าง
ฟ้อนของพม่า ช่างฟ้อนเป็นหญิง ๘-๑๖ คน แต่งกายแบบพม่า
สวมเสื้อเอวลอยรัดรูป นุ่ง ซิ่น มีผ้าสไบคล้องคอ เกล้าผมสูงปล่อยชายผม
ลงด้านหนึ่ง ท่วงท่าฟ้อนรำมีทั้งช้าและเร็ว ใช้
วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบทำนองเพลง
ปัจจุบันการฟ้อนได้วิวัฒนาการไปสู่ภาคอื่นๆ
โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง
ได้มีการคิดท่าฟ้อนประกอบสัญลักษณ์ของการทำงาน
หรือจัดเป็นชุดรำในนิทานพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเก็บขิด ฟ้อนมโนห์ราเล่นน้ำ
ของวิทยาลัยนาฏศิลป์ จังหวัดร้อยเอ็ด ฟ้อนลื้อล่องน่านของจังหวัดน่าน
เป็นต้น
มหาชาติทรงเครื่อง
เป็นการละเล่นของภาคใต้
ลักษณะการแสดงคล้ายลิเกพื้นเมือง เล่นสลับกับการสวดเทศน์มหาชาติ
เมื่อจบแต่ละกัณฑ์ เหมือนการเล่นแหล่เครื่องเล่นมหาชาติ ในภาคกลาง
เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศผู้ฟัง ให้มีความบันเทิงครึกครื้น
ควบคู่กับการฟังเทศน์มหาชาติ การเล่นจะด้นกลอนสด
การดำเนินเรื่องจะแทรกบทตลก
รองเง็ง
รองเง็งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทย
มุสลิมใน ๔ จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี
นราธิวาส และสตูล เป็นการละเล่นที่วิวัฒนาการ
มาจากการเล่นมะโย่ง รองเง็งจะเป็นการเต้นเข้า
จังหวะ ที่มีกลองเป็นเครื่องให้จังหวะที่รุกเร้า
รวดเร็ว และสนุกสนาน
|
ระบำนักรบไทย | ระบำ
การฟ้อนรำของไทยมีวิวัฒนาการมาจากท่าทางที่แสดงออก
ด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจ
และได้ปรับปรุงจัดระเบียบท่าทางการเต้นให้งดงามประณีตยิ่งขึ้น
เพื่อให้การเล่น และการดู เป็นไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน
การเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ เช่น มือ แขน ขา ใบหน้า ลำตัว
ต้องให้อยู่ในท่าอ่อนช้อยงดงาม เรียกว่า "รำ" มีทั้ง รำเดี่ยว รำคู่ และรำหมู่ เฉพาะการรำหมู่เรียกว่า "ระบำ"
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำ "ระบำ"
ว่า การฟ้อนรำเป็นชุดเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่ง ระบำ คือ
การฟ้อนรำที่มุ่งหมาย เพื่อความงดงามของศิลปะการรำ
และความรื่นเริงบันเทิงใจ ไม่มีการดำเนินเป็นเรื่องราว ระบำมี ๒ ประเภท
คือ ระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่มีลักษณะการแต่งกาย ยืนเครื่องพระนาง
ตลอดจนท่ารำ เพลงร้อง และดนตรี มีกำหนดไว้เป็นแบบแผน และอีก
ประเภทหนึ่งคือ ระบำเบ็ดเตล็ด
ระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่แต่งกายตามรูปแบบลักษณะของการแสดงนั้นๆ
โดยนำมาประกอบการแสดงโขนหรือละครบ้าง
ประดิษฐ์เป็นชุดต่างๆ บ้าง เช่น ระบำโบราณคดี
ระบำชุมนุมเผ่าไทย ระบำดอกบัว ฯลฯ นอก
จากนั้นยังประดิษฐ์โดยเลียนแบบอิริยาบถของสัตว์
รวมทั้งการฟื้นฟูนาฏศิลป์พื้นบ้านอันเป็นเป็นการแสดง
ที่เป็นศิลปะเฉพาะท้องถิ่น เช่น ฟ้อน หรือเซิ้ง
ต่างก็อนุโลมอยู่ในการละเล่นประเภทระบำ
ศิลปะการละเล่นพื้นเมืองของภาคต่างๆ
กรมศิลปากรได้นำมาประยุกต์ท่าขึ้นใหม่ ให้มีความงดงาม
จัดเป็นชุดระบำอีกหลายชุด มีลีลาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาค เครื่องดนตรี
และการแต่งกายยังคงรักษาเอกลักษณ์ของศิลปะพื้นเมืองเดิมไว้อย่างครบถ้วน
ทำให้การละเล่นพื้นเมือง ประเภทระบำขยายรูปแบบกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น
ระบำนกน้อยของจังหวัดกำแพงเพชร ระบำทอ ซิ่นตีนจกของจังหวัดสุโขทัย
ระบำซอของจังหวัด เชียงใหม่ ระบำนารีศรีนครของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ล้วนแสดงถึงลักษณะพื้นเมืองไว้อย่าง ชัดเจน
ระบำชุมนุมเผ่าไทย
ระบำชุมนุมเผ่าไทย
เป็นระบำอยู่ในชุดการแสดงละครประวัติศาสตร์เรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ
การแต่งกายเวลาร่ายรำเป็นแบบชนไทยเผ่าต่างๆ คือ ไทยล้านนา ไทยใหญ่ ไทย
ล้านช้าง สิบสองจุไทย และไทยอาหม
ระบำไตรภาคี
กรมศิลปากรได้นำการละเล่นของไทยทั้ง
๓ ภาค มาปรับปรุงประสานให้ติดต่อเป็นชุด
เดียวกัน เรียกว่า ระบำไตรภาคี คือ รำสีนวล
ของภาคกลาง รำลาวกระทบไม้ของภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือ และการเล่นกลองยาวหรือ
เถิดเทิง ดัดแปลงมาจากชาติเพื่อนบ้าน ทางภาคตะวันตก เพลงและท่ารำทั้ง ๓ ภาค มีสำเนียง
และจังหวะต่างกัน เริ่มจากช้าและจะทวีความเร็วขึ้น บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคนั้นๆ
ระบำตรีลีลา
ระบำตรีลีลา เป็นระบำอีกชุดหนึ่งที่กรม
ศิลปากรได้ปรับปรุงขึ้น โดยจัดเพลงและท่าฟ้อน
รำของไทยทั้ง ๓ แบบ มาประสานให้ติดต่อเป็นชุดเดียวกัน คือ
ฟ้อนเทียน ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองของท้องถิ่นพายัพ มีกลองยาวและปี่
ฟ้อนแพน ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองของท้องถิ่นพายัพ และภาคอีสาน นิยมใช้กับเดี่ยวจะเข้
ฟ้อนเงี้ยว ดัดแปลงมาจากไทยใหญ่หรือเงี้ยว ที่อยู่ชายเขตแดนไทย |
โหวด เครื่องดนตรีใช้ประกอบการเล่นลำเต้ย
การเป่าแคน |
รำลาวกระทบไม้
การรำลาวกระทบไม้
เป็นการละเล่นพื้นเมืองของหนุ่มสาวชาวไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยผู้เล่นทุกคน ร่วมกันร้อง
ร่วมกันรำ และจับกระบอกไม้ ให้กระทบกันตามจังหวะ เป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจ
ทำนองเพลงร้อง ได้รับความนิยมแพร่หลายเข้ามาในภาคกลาง
ทำให้เกิดบทร้องต่างๆ ขึ้น พร้อมทั้งได้ปรับปรุงทำนอง
และวิวัฒนาการตามสมัย แต่อาศัยสำเนียงจังหวะเดิมเป็นหลัก
ลำเต้ย, ลำเต้ยเกี้ยว
ลำเต้ย หรือลำเต้ยเกี้ยว เป็นการรำ (ร้อง)
เต้ยเป็นท่ารำเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี ผู้รำจะฟ้อนและออกลีลาประกอบการรำตามจังหวะเพลง
เล่นกันอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดชัยภูมิ ดนตรีที่ใช้ประกอบ ได้แก่ พิณ แคน
โปงลาง โหวด กลอง เพลงที่ร้องเป็นเพลง
พื้นเมือง การรำมีทั้งรำคู่และรำหมู่
ลิเกป่า
ลิเกป่าเป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้
ที่หาดูได้ยากแล้ว มีลักษณะการแสดงคล้ายกับโนรา แต่บทร้องคล้ายลำตัด
มีการออกแขกเป็นแขกขาว และแขกแดง ออกมาเต้นและร้อง แล้วจึงเริ่มแสดง
เรื่องที่แสดงจะนำมาจากวรรณกรรมเรื่องเก่า หรือนิทานพื้นเมือง ไม่กำหนดการ
แต่งกายอย่างเช่นโนรา เน้นเฉพาะพระเอกเท่านั้น
ที่จะต้องแต่งกายอย่างสวยงาม เนื่องจากเป็น การเล่นที่มิได้เป็นแบบแผนนัก
จึงหมดความ นิยมในเวลาต่อมา |