สำหรับเด็กระดับเล็ก - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 23
เล่มที่ ๒๓
เรื่องที่ ๑ ภูมิปัญญาไทย
เรื่องที่ ๒ วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)
เรื่องที่ ๓ การละเล่นพื้นเมือง
เรื่องที่ ๔ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
เรื่องที่ ๕ ชาติพันธุ์
เรื่องที่ ๖ เฟิร์นไทย
เรื่องที่ ๗ ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)
เรื่องที่ ๘ การทำงานใต้น้ำ
เรื่องที่ ๙ ระบบวิทยุ
เรื่องที่ ๑๐ การผลิตเบียร์
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๓ / เรื่องที่ ๓ การละเล่นพื้นเมือง / สำหรับเด็กระดับเล็ก

 สำหรับเด็กระดับเล็ก ฟังเสียงอ่าน => บันทึกเสียง
การละเล่นพื้นเมืองเป็นการละเล่นประจำท้องถิ่น มีทั้งของเด็ก และของผู้ใหญ่ ในทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ล้วนมีการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งสิ้น ความแตกต่างของการละเล่นแต่ละภาค ปรากฏจากท่าทางการร่ายรำ คำร้อง ดนตรี และการแต่งกาย

การละเล่นเกิดขึ้นพร้อมกับสังคมเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไทย ชาวบ้านมีความรักใคร่กลมเกลียวเอื้อเฟื้อเกื้อกูลร่วมช่วยเหลือกันในการทำงาน เช่น ช่วยกันดำนา เกี่ยวข้าว หรือนวดข้าว และจะผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ด้วยการสอดแทรกความสนุกสนานระหว่างทำงาน ด้วยการร้องรำทำเพลงโต้ตอบประคารมกัน เมื่อถึงเวลาตรุษสงกรานต์ ชาวบ้านออกมาทำบุญที่วัด มีการชุมนุมที่เป็นหมู่คณะ จะมีการละเล่นต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เล่นช่วง เล่นตีคลี เล่นแม่ศรี ลิงลม เล่นกลองยาว รำกระทบไม้ และฟันดาบ เป็นต้น
ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของชาวไทยผูกพันกับการทำบุญ เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ในครอบครัว ทั้งการเกิด การตาย การบวช การขึ้นบ้านใหม่ หรืองานพิธีทางศาสนาตามเทศกาล ชาวไทยมักนิยมให้มีการละเล่นเป็นการฉลอง และเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ความครึกครื้น ทั้งการประโคมดนตรี ปี่พาทย์ การแสดงมหรสพ สร้างความสามัคคีภายในหมู่บ้าน หรือบ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้มีความรักใคร่กัน มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างเหนียวแน่น การละเล่นพื้นเมืองของไทยจึงมีความหลากหลายมากมาย การละเล่นหลายอย่างได้สูญหายไปบ้างตามสิ่งแวดล้อมและกาลเวลา บางอย่างได้ปรับแต่งให้มีวิธีการเล่นที่เข้ากับความเจริญในเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันด้วย
หัวข้อถัดไป