สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๕) - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 24
เล่มที่ ๒๔
เรื่องที่ ๑ วรรณคดีมรดก
เรื่องที่ ๒ ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๒)
เรื่องที่ ๓ เมืองหลวงเก่าของไทย
เรื่องที่ ๔ การผลิตรถยนต์
เรื่องที่ ๕ การผลิตรถจักรยานยนต์
เรื่องที่ ๖ การผลิตปูนซีเมนต์
เรื่องที่ ๗ ปิโตรเลียมและการผลิต
เรื่องที่ ๘ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ
เรื่องที่ ๙ แผนพัฒนาประเทศ
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๔ / เรื่องที่ ๑ วรรณคดีมรดก / สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๕)

 สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๕)
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง

ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ตอนที่ ๓
ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ตอนที่ ๓
สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๕)

วรรณกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ประวัติวรรณคดี และประวัติภาษาไทยคือ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง และไตรภูมิพระร่วง

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง

รูปแบบการแต่งเป็นร้อยแก้ว เขียนลงบนแท่งหินสี่เหลี่ยมทั้งสี่ด้าน ใช้ตัวอักษรไทย และภาษาไทย ตามแบบอย่างการใช้ภาษา สมัยสุโขทัย เนื้อเรื่องแบ่งเป็น ๓ ตอน

ตอนที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑ - ๑๘ เป็นอัตชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์สุโขทัยราชวงศ์พระร่วง

คำอ่านปัจจุบัน "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง..." และอีกตอนหนึ่ง "...ตนกูพุ่งช้างขุนสามชน ตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชน พ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน..."

ข้อความตัวอย่าง กล่าวถึงพระราชประวัต ิและความเก่งกล้าสามารถ จนได้รับพระราชทานพระนาม "พระรามคำแหง"

ตอนที่ ๒ เล่าเรื่อง เหตุการณ์ และธรรมเนียมนิยมของคนสุโขทัย การดำเนินชีวิต การนับถือพุทธศาสนา การนับถือผี และการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย

ตอนที่ ๓ เป็นคำสรรเสริญ และยอพระเกียรติ พ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตของเมืองสุโขทัย

จะเห็นได้ว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง มีคุณสมบัติเด่น ในแง่ประวัติศาสตร์ ประวัติวรรณคดี และประวัติภาษาไทย

ไตรภูมิพระร่วง

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ โดยได้ทรงรวบรวมเรื่องราวทางศาสนาจากคัมภีร์โบราณต่างๆ ถึง ๓๐ คัมภีร์ กล่าวถึงไตรภูมิซึ่งแปลว่า แดน ๓ แดน คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ สัตว์โลกทั้งหลายย่อมวนเวียนเกิดและตายอยู่ใน ๓ ภูมินี้ การพรรณนาถึงแต่ละภูมิสร้างภาพอย่างชัดเจน อ่านแล้วได้รับความเพลิดเพลิน อีกทั้งมีการสั่งสอนให้ประพฤติดีและกลัวบาป ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ในการแต่งคือ เพื่อเทศนาถวายพระราชมารดา และเพื่อเป็นธรรมทานแก่บุคคลทั่วไป ตัวอย่างเช่น การพรรณนาถึงนรกตอนหนึ่ง ดังนี้

"คนฝูงใดอันเจรจาซื้อสิ่งสินท่าน...แลตนใส่กลเอาสินท่านด้วยตาชั่งก็ดี...ครั้นว่ามันตายได้ไปเกิดในนรกนั้น ฝูงยมพะบาลเอาคีมคาบลิ้นเขาชักออกมา แล้วเอาเบ็ดเหล็กเกี่ยวลิ้นเขา ลำเบ็ดนั้นใหญ่เท่าลำตาล เทียรย่อมเหล็กแดงลุกบ่มิเหือดสักเมื่อ..."

ความตอนนี้กล่าวถึงคนขายของที่โกงตาชั่ง เมื่อตายแล้ว จะตกนรก ยมบาลเอาคีมหนีบลิ้นดึงออกมา แล้วเกี่ยวด้วยเบ็ดเหล็กที่ลุกเป็นไฟไม่มีวันดับ จะเห็นสำนวนการเขียนที่เรียบง่าย เป็นที่เข้าใจได้ดี สำหรับคนในสมัยนั้น เหมาะกับการเทศน์สั่งสอนบุคคลทั่วไป

นอกจากไตรภูมิพระร่วงจะมีคุณค่าทางศาสนาแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อคนไทยในอาณาจักรไทยอื่นๆ ในสมัยเดียวกันต่อลงมา จนถึงสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน วรรณคดีมรดกไทยเรื่องนี้ ปลูกฝังให้คนไทยนิยมยกย่องคนมีบุญที่มีจิตใจเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป