วรรณคดีมรดกคือ หนังสือที่บรรพบุรุษของเราได้รจนาขึ้นอย่างประณีตงดงาม
ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง
แสดงความรู้สึกนึกคิดของท่านด้วยภาษาไทยที่มีศิลปะ
นับว่า เป็นมรดกวัฒนธรรมการใช้ภาษาของชาติ
สมควรที่ลูกหลานไทย จะรักและหวงแหนไว้ให้อยู่คู่กับประเทศชาติตลอดไป |
 |
ท่านผู้รู้แบ่งสมัยของวรรณคดีมรดกของไทย ออกเป็น ๔ สมัย คือ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๕)
ในสมัยนี้มีวรรณคดีมรดกที่สำคัญ เช่น ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง และไตรภูมิพระร่วง
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง เป็นร้อยแก้ว
จารึกลงบนแท่งศิลารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
บรรยายพระราชประวัติ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เรื่องธรรมเนียมนิยมของชาวสุโขทัย และอาณาเขตของกรุงสุโขทัย อาจกล่าวได้ว่า
ศิลาจารึกหลักนี้ เป็นหลักฐานอย่างแรกที่แสดงการนำอักษรไทยมาใช้เขียนภาษาไทย
ส่วน ไตรภูมิพระร่วง นั้น พญาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑
กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น
โดยทรงรวบรวมเรื่องราวทางศาสนาจากคัมภีร์โบราณถึง ๓๐ คัมภีร์
เล่าว่า สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ
รูปภูมิ และอรูปภูมิ มนุษย์ที่ทำกรรมดีอาจไปเกิดในแดนที่มีความสุขสบาย
แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะไปเกิดในแดนนรก ได้รับความทุกข์ทรมาน เช่น
คนขายของโกงตาชั่ง เมื่อตายแล้ว จะตกนรก ยมบาลเอาคีมหนีบลิ้นดึงออกมา
เกี่ยวด้วยเบ็ดเหล็กที่ลุกเป็นไฟไม่มีวันดับ
สมัยอยุธยา (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)
กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทยยาวนาน ประมาณ ๔๑๗ ปี
มีวรรณคดีมรดกหลายเรื่อง ที่ลูกหลานไทย สมควรรักษาไว้อย่างภาคภูมิใจ เช่น
ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงกำสรวล
และกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นต้น
ลิลิตยวนพ่าย
เป็นร้อยกรองประกอบด้วย ร่ายดั้น และโคลงดั้นบาทกุญชร มีชั้นเชิงการใช้ภาษาสูงมาก
กวีนิพนธ์เรื่องนี้ เป็นพงศาวดารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เมื่อครั้งทรงทำสงครามชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือ คืนจาก พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่
|
 | ส่วน ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดีท้องถิ่นไทยภาคเหนือ
กล่าวถึงความรัก ที่มีอุปสรรคของพระลอกับพระเพื่อนพระแพง ซึ่งทั้ง ๓
คนยึดมั่นในความรัก จนถึงกับยอมแลกด้วยชีวิต บทประพันธ์ใช้ภาษาที่เรียบง่าย
สะเทือนอารมณ์ การแต่งถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์
ถือเป็นตัวอย่างของโคลงสี่สุภาพที่มีการบังคับเสียงวรรณยุกต์ เอก ๗ โท ๔
เช่น
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ |
สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็น "ยอดแห่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์"
รูปแบบของการประพันธ์ประกอบด้วยฉันท์และกาพย์ วรรณคดีมรดกเรื่องนี้
มีผู้ประพันธ์ถึง ๓ ท่าน เริ่มต้นจาก พระมหาราชครูรับกระแสพระราชดำรัสจาก
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านแต่งได้เกือบจบตอนที่ ๒ ก็ถึงแก่อนิจกรรม
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อ แต่ก็ยังไม่จบ ทิ้งร้างไว้
จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงพระนิพนธ์ต่อจนจบ ครบทั้ง ๔ ตอน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒
สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยที่สนุกสนานตื่นเต้นของพระสมุทรโฆษ
และนางพินทุมดี ที่ได้พระขรรค์วิเศษพาเหาะไปเที่ยวยังที่ต่างๆ ได้ ต่อมา
พระขรรค์ถูกลักไป ทั้งสองต้องพลัดพรากจากกัน ต่างผจญภัยต่อไปอีก
จนกลับถึงพระนคร และได้ครองเมืองอย่างมีความสุข |
 การเห่เรือ ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค |
อนิรุทธคำฉันท์
เป็นบทประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของศรีปราชญ์
ผู้เป็นกวีเอกคนหนึ่ง ในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระอนิรุทธเป็นพระนัดดาของพระกฤษณะ ผู้ทรงเป็นนารายณ์อวตาร
วันหนึ่งพระอนิรุทธบรรทมหลับใต้ต้นไทร
พระไทรจึงอุ้มพระอนิรุทธไปสมกับนางอุษา ธิดาของพระยายักษ์พานาสูร
พระยายักษ์จับตัวพระอนิรุทธเอาไว้ได้ พระกฤษณะต้องยกกองทัพมาช่วยพระนัดดา
พระยายักษ์จึงไปขอให้พระศิวะช่วย เพราะสู้พระกฤษณะไม่ได้
และต้องยอมให้พระอนิรุทธ และนางอุษา ได้ครองรักกันอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ ยังมีวรรณคดีมรดกสมัยอยุธยาอีกหลายเรื่องที่มีคุณค่ามาก เช่น
โคลงกำสรวล ซึ่งกวีได้บรรยายอารมณ์เศร้าที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักได้อย่างซาบซึ้ง
กินใจยิ่งนัก ซึ่งกวีในสมัยหลังถือเป็นแบบฉบับ สำหรับการประพันธ์นิราศ เช่น พระยาตรัง
แต่งโคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย และนายนรินทรธิเบศ (อิน) แต่โคลงนิราศนรินทร์
บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
เป็นวรรณคดีมรดกสมัยอยุธยาที่ลูกหลานไทยภาคภูมิใจมากอีกเรื่องหนึ่ง
อันที่จริง เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองไว้หลายเรื่อง แต่ บทเห่เรือของพระองค์ได้รับการยกย่องว่า
เป็นบทพระนิพนธ์ที่ดีที่สุด เพราะมีรูปแบบแปลกใหม่ คือ
ทรงแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ แต่ละตอน นำด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท
แล้วแต่งกาพย์ขยายความ ลักษณะการประพันธ์เช่นนี้เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง
สมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)
แม้สมัยนี้จะมียะยะเวลาสั้นเพียง
๑๕ ปี แต่ก็มีวรรณคดีมรดกต่อเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยา
และสือเนื่องไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ลิลิตเพชรมงกุฎ ที่หลวงสรวิชิต
หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) รจนาไว้ |
 จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ จากพระระเบียงรอบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)
ระยะเวลากว่า
๒๐๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ที่ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ กวีได้รังสรรค์วรรณคดีมรดกไว้เป็นจำนวนมาก
เช่น พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องราวเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เพื่อใช้ในพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. ๒๓๒๘ - ๒๓๒๙) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์
เรื่องรามเกียรติ์นี้ มักใช้ประกอบการแสดงโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องอิเหนา ทรงนำพงศาวดารชวามาร้อยกรองเป็น
บทละครที่ไพเราะมาก เช่น บทกลอนตอนที่นางจินตะหราตัดพ้ออิเหนา
เมื่ออิเหนาลาจากไปทำศึกช่วยกรุงดาหา ซึ่งเป็นเมืองของนางบุษบา ดังนี้
"แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์"
|
 |
นอกจากนี้ เรายังมี บทเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน บทเสภาเป็นกลอนชนิดหนึ่งที่ใช้ขับ เพื่อความบันเทิง นักเลงกลอนตั้งแต่สมัยอยุธยานิยมกันมาก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. ๒๓๓๓ -
๒๓๙๖) ทรงพระนิพนธ์ ลิลิตตะเลงพ่าย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย
นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่
เป็นวรรณคดีมรดกอีกเรื่องหนึ่ง ที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลาย
คำกลอนของสุนทรภู่นั้น มีความไพเราะ เพราะมีทั้งสัมผัสนอก และสัมผัสใน
ทำให้ฟังรื่นหู นอกจากนี้ยังแทรกคติคำสอนเตือนใจ เช่น
กลอนในตอนที่พระฤาษีสอนสุดสาคร หลังจากที่สุดสาครถูกชีเปลือยหลอกพาไปผลัก
ตกเหว ดังนี้
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน" |
 |
วรรณคดีมรดกที่เป็นร้อยแก้วนั้น ทั้ง สามก๊ก และ พระราชพิธีสิบสองเดือน
ล้วนเป็นความเรียงที่สมบูรณ์ ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน
วรรณคดีมรดกไทยเป็นสมบัติล้ำค่าประจำชาติ
มีคุณประโยชน์ด้านการสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด สติปัญญา
และแสดงถึงวัฒนธรรมการใช้ภาษาอย่างงดงาม และมีศิลปะ ที่ลูกหลานไทยควรรักษา
และหวงแหนเอาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป |