สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 24
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๔ / เรื่องที่ ๖ การผลิตปูนซีเมนต์ / ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
 พีระมิดในประเทศอียิปต์
 โรงละครครึ่งวงกลม (Colosseum) ในประเทศอิตาลี
|
ประวัติความเป็นมา
คำว่า ซีเมนต์ (Cement) มาจากภาษาละติน ซึ่งแปลว่า "ตัด" โดยใช้เรียกหินปูน ที่ตัดเป็นชิ้นๆ เพื่อจะนำมาเผาเป็นปูนขาว (Lime)
ในปัจจุบัน
ซีเมนต์ หมายถึง ตัวประสานวัสดุสองชนิด หรือหลายๆ ชนิดให้ติดแน่น
ในสมัยโบราณ
ชาวอียิปต์ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุเชื่อมประสานในการสร้างพีระมิด
โดยได้มาจากการเผาดินและยิปซัม ส่วนชาวกรีก และชาวโรมัน ใช้เถ้าภูเขาไฟ
บดรวมกับปูนขาว ทราย และน้ำ เรียกว่า ปอซโซลานิกซีเมนต์ (Pozzolanic
Cement) ซึ่งทำปฏิกิริยาทางเคมี และแข็งตัวได้ในน้ำ ตัวอย่าง
สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างโดยชาวโรมัน อาทิเช่น มหาวิหารทรงกลมในกรุงโรม
(Roman Pantheon) และโรงละครครึ่งวงกลม (Colosseum) เป็นต้น
คอนกรีต คือ วัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยส่วนผสม ๒ ส่วนคือ วัสดุประสาน ซึ่งได้แก่ ปูนซีเมนต์กับน้ำ ผสมกับ วัสดุผสม
ซึ่งได้แก่ ทราย หิน หรือกรวด เมื่อนำมาผสมกัน
จะคงสภาพเหลวอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งนานพอ ที่จะนำไปเทลงในแบบหล่อ
ที่มีรูปร่างตามต้องการ เมื่อคอนกรีตแข็งตัวเต็มที่แล้ว จะมีความแข็งแรง
และสามารถรับน้ำหนักได้มาก ทั้งนี้จะแปรไปตามอายุของคอนกรีตที่เพิ่มขึ้น
ซีเมนต์ และคอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้าง
ที่ใช้กันมาเป็นเวลายาวนาน จากหลักฐานพบว่า ในยุคต้นๆ ตั้งแต่ ๗,๖๐๐
ปีที่ผ่านมา มีการใช้ซีเมนต์ในรูปของคอนกรีต
เพื่อทำพื้นกระท่อมของชาวประมงที่อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำดานูบ
และกระท่อมของพวกนักล่าสัตว์สมัยยุคหิน หลังจากนั้น ได้มีการพัฒนาซีเมนต์
และคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน |
|