สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 24
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๔ / เรื่องที่ ๖ การผลิตปูนซีเมนต์ / กรรมวิธีการผลิตปูนซีเมนต์
กรรมวิธีการผลิตปูนซีเมนต์
กรรมวิธีการผลิตปูนซีเมนต์
สามารถแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ
๑. แบบเปียก (Wet Process)
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิต คือ ดินขาว (Marl)
และดินเหนียว (Clay) สำหรับดินขาว มีอยู่ในระดับพื้นดิน หรือใต้ดิน
ตามธรรมชาติ โดยปกติจะมีความชื้นสูง
การผลิตเริ่มจากนำวัตถุดิบทั้งสองชนิดมาผสมกับน้ำในบ่อตีดิน (Wash Mill)
กวนให้เข้ากัน นำไปบดให้ละเอียดในหม้อบดดิน (Slury Mill) จนได้น้ำดิน
(Slurry) แล้วกรองเอาเศษหินและส่วนที่ไม่ละลายน้ำออก
เหลือแต่น้ำดินที่ละลายเข้ากันดี จากนั้นนำไปเก็บพักไว้ในยุ้งเก็บ (Silo)
เพื่อตรวจสอบคุณภาพและปรับแต่งส่วนผสมให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดน้ำดินที่มีส่วนผสมที่ถูกต้องแล้ว
จะถูกนำไปรวมกันที่บ่อกวนดิน (Slury Basin) เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ
และกวนให้ส่วนผสมรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนที่จะนำไปเผาในหม้อเผาแบบหมุน (Rotary Kiln)
ความร้อนในหม้อเผาจะทำให้น้ำระเหยออกสู่บรรยากาศ
เหลือแต่เม็ดดินซึ่งเมื่อให้ความร้อนต่อไปจนถึงอุณหภูมิหนึ่ง
จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกลายเป็นปูนเม็ด (Clinker)
ขั้นตอนการบดปูนเม็ดให้กลายเป็นปูนซีเมนต์ ทำโดยนำปูนเม็ดมาผสมกับยิปซัม
(Gypsum) แล้วบดให้ละเอียดเป็นผงในหม้อบดซีเมนต์ (Cement Mill)
ความละเอียดในการบดและอัตราส่วนระหว่างปูนเม็ดกับยิปซัมต้องเลือกอย่างเหมาะสม
เพื่อให้ได้ปูนซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ
จากนั้นจะลำเลียงปูนซีเมนต์ไปเก็บไว้ในยุ้งเก็บปูนซีเมนต์ผง (Cement Silo)
เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
กรรมวิธีการผลิตปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์แบบเปียกนี้ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
เนื่องจากต้องใช้เชื้อเพลิงปริมาณมาก ในการผลิตปูนเม็ด
และยังมีอัตราการผลิตต่ำ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูง
๒. แบบแห้ง (Dry Process)
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตคือ หินปูน (Limestone)
ซึ่งได้จากการระเบิดหินจากภูเขาหินปูน แต่หินปูนที่ได้ยังมีขนาดใหญ่
จึงต้องนำมาลดขนาดโดยเครื่องย่อย (Crusher)
เพื่อให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตขั้นต่อไป วัตถุดิบอื่นคือ ดินดาน (Shale)
และวัตถุดิบปรับแต่งคุณสมบัติ (Corrective Materials) ซึ่งใช้เฉพาะบางตัว
เพื่อให้ได้ส่วนประกอบทางเคมีตามค่ามาตรฐานที่กำหนด
วัตถุดิบอื่นเหล่านี้ก็ต้องผ่านเครื่องย่อยเพื่อลดขนาดให้เหมาะสมเช่นกัน
วัตถุดิบที่ผ่านการย่อยแล้วจะถูกนำมาเก็บไว้ที่กองเก็บวัตถุดิบ (Storage
Yard) จากนั้นก็จะลำเลียงไปยังหม้อบดวัตถุดิน (Raw Mill) ต่อไป
การผลิตปูนซีเมนต์แบบแห้ง (Dry Process) หม้อบดวัตถุดิบ (Raw Mill) มีหน้าที่บดหินปูน ดินดาน
และวัตถุดิบ ปรับแต่งคุณสมบัติให้เป็นผงละเอียด ซึ่งเรียกว่า
วัตถุดิบสำเร็จ (Raw Meal) การควบคุมอัตราส่วนของวัตถุดิบ
ที่ป้อนเข้าสู่หม้อบดวัตถุดิบมีความสำคัญ
เนื่องจากอัตราส่วนของวัตถุดิบที่เหมาะสม จะทำให้วัตถุดิบสำเร็จ
มีคุณสมบัติทางเคมีที่เหมาะสมกับการเผา
หลังจากผ่านกระบวนการบดแล้ว
จึงส่งวัตถุดิบสำเร็จไปยังยุ้งผสมวัตถุดิบสำเร็จ (Raw Meal Homogenizing
Silo) เพื่อเก็บและผสมวัตถุดิบสำเร็จให้เป็นเนื้อเดียวกัน
ก่อนส่งไปเผาในหม้อเผาแบบหมุน (Rotary Kiln) กระบวนการเผาช่วงแรก
เป็นชุดเพิ่มความร้อน (Preheater) จะค่อยๆ
เพิ่มความร้อนให้แก่วัตถุดิบสำเร็จ แล้วส่งวัตถุดิบสำเร็จไปเผาในหม้อเผา
ซึ่งมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนถึงประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ องศาเซลเซียส
จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีตามลำดับ จนในที่สุดกลายเป็นปูนเม็ด (Clinker)
จากนั้นทำให้ปูนเม็ดเย็นลง แล้วจึงลำเลียงปูนเม็ดไปเก็บไว้ที่ยุ้งเก็บ
เพื่อรอการบดปูนเม็ดต่อไป สำหรับการบดปูนเม็ดให้กลายเป็นปูนซีเมนต์นั้น
มีขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้วในการผลิตแบบเปียก
การผลิตปูนซีเมนต์แบบแห้ง ไม่ต้องใช้น้ำในการผสมวัตถุดิบ
ดังนั้น จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิต โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิง
และเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน |
|