สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 24
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๔ / เรื่องที่ ๙ แผนพัฒนาประเทศ / ความเป็นมาของการวางแผนพัฒนาในประเทศไทย
ความเป็นมาของการวางแผนพัฒนาในประเทศไทย
ความเป็นมาของการวางแผนพัฒนาในประเทศไทย
แนวคิดในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สืบเนื่องจากคณะราษฎร
ซึ่งเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศหลัก ๖
ประการ ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับการรักษาเอกภาพทางเศรษฐกิจ
และการสร้างความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
โดยจะจัดให้มีการวางเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ต่อมา
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)
ได้ดำเนินการยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้น
โดยได้มีการระบุถึงการกำหนดให้มีการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
พร้อมทั้งได้ยกร่างพระราช-บัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ
ซึ่งเสนอให้มีสภา (หน่วยงาน) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำแผน
เศรษฐกิจแห่งชาติด้วย อย่างไรก็ตาม
ปรากฏว่าสถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวย
ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา
และอเมริกาใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ ๒ ใน ๓ ของประชากรโลก
ประสบปัญหาความยากจนและความล้าหลังทางเศรษฐกิจ
ประกอบกับเกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง
ระหว่างค่ายเสรีนิยมกับค่ายสังคมนิยม ประเทศต่างๆ เกิดความตื่นตัว
ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
ประเทศไทยเอง ก็ตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว
จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การศึกษา
ฯลฯ มากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น
เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ
และเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน การคลัง
และทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทำผังเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นก้าวแรก ที่จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ธนาคารโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ที่จะช่วยทำการฟื้นฟู
และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้จัดส่งคณะสำรวจเศรษฐกิจ
เข้ามาช่วยศึกษาข้อมูล และศึกษาวิจัยเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยคำเชิญของรัฐบาลไทยในขณะนั้น
คณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทางคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้จัดทำรายงาน A Public
Development Program for Thailand ต่อมามีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยชื่อว่า
โครงการพัฒนาของรัฐบาลสำหรับประเทศไทย
โดยได้มีการเสนอข้อมูลวิเคราะห์ถึงสภาพ
ปัญหาและแนวทางในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเห็นว่า
ควรเน้นการแข่งขันเสรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒
รัฐบาลได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
และตั้งสำนักงานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น
เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.
๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ -๒๕๐๙) เป็นฉบับแรก และได้ดำเนินการวางแผนเรื่อยมา
จนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่
๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) โดยในแต่ละแผน มีลักษณะ และสาระสำคัญแตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น ปรากฏว่า
การพัฒนาของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา
มีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จและส่วนที่ยังเป็นปัญหา
ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป |
|